รอยเตอร์ – หนึ่งในสามมหาสมุทรของโลกมีการทำประมงเกินขีดจำกัดและการบริโภคปลากำลังอยู่ในอัตราสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของแหล่งโปรตีนสำคัญสำหรับคนหลายล้านคนทั่วโลก องค์การสหประชาชาติ เตือนในรายงานวันนี้ (9)
การทำประมงเกินขีดจำกัดเป็นปัญหาอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาบางส่วนที่คนจำนวนมากมีความต้องการอาหารทางโภชนาการไว้บริโภคในปริมาณที่เพียงพอ รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุ
“มีแรงกดดันต่อทรัพยากรทางทะเลมากเกินไปและเราจำเป็นต้องให้รัฐบาลต่างๆ รับผิดชอบมากกว่านี้ในการปรับปรุงสถานะการประมงของพวกเขา” มานูเอล บารันเก ผู้อำนวยการฝ่ายการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเอฟเอโอ ระบุ
“เราคาดการณ์ว่า แอฟริกาอาจจะต้องนำเข้าปลาในอนาคต” เขาบอกกับมูลนิธิ ทอมสัน รอยเตอร์ พร้อมเสริมว่า การขาดแคลนนี้อาจนำไปสู่ราคาที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อคนยากจนอย่างไม่สมส่วน
บารันเก กล่าวว่า แอฟริกามีศักยภาพอย่างมากในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนในด้านการเงิน อาหารสัตว์ และพันธุ์ปลา
การเลี้ยงปลาหรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ภาคการเกษตรที่เติบโตเร็วที่สุดในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีส่วนช่วยอย่างมากในการทำให้มีปลาเพียงพอต่อการบริโภค รายงาน ระบุ
ในขณะที่การจับปลาจากทะเลเปิดค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประเทศต่างๆ เริ่มกันมาอาศัยการเลี้ยงปลากันมากขึ้น ในแอลจีเรีย รัฐบาลกำลังกระตุ้นให้เกษตรกรในทะเลทราบซาฮาราเลี้ยงปลาเพื่อเพิ่มรายได้และเพิ่มปริมาณปลาในตลาด
นักวิจารณ์ ระบุว่า การเลี้ยงปลาอาจสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและนำเชื้อโรคและสายพันธุ์ต่างด้าวเข้าสู่ธรรมชาติ บารันเก กล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาคือการมี “กฎระเบียบ กฎหมาย การเฝ้าติดตาม และการควบคุมที่เหมาะสม”
ประเทศที่ทำการประมงมาแต่ดั้งเดิมต่างๆ ก็กำลังส่งเสริมการเลี้ยงปลาเช่นกันเพื่อสร้างเสริมโภชนาการและยุติความอดอยาก
เปอร์เซ็นต์ของสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงแบบไม่ยั่งยืนทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 33.1 ในปี 2015 จาก 31.4 ในปี 2013 และ 10 ในปี 1974
การบริโภคปลาทะยานถึง 20.2 กิโลกรัมต่อคน มากที่สุดในประวัติศาสตร์ จาก 9 กิโลกรัมต่อคนในปี 1961 รายงานระบุ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากผู้รักสุขภาพหันมาบริโภคปลากันมากขึ้น ปัจจุบัน คน 3,200 ล้านคนบริโภคปลาเป็นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของโปรตีนที่ได้รับจากเนื้อสัตว์
Shakuntala Thilsted หัวหน้าโครงการวิจัยที่กลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรนานาชาติ WorldFish กล่าวว่า การลดของเหลือทิ้งจะนำไปสู่การปะมงที่ยั่งยืน “หัวปลา ก้างปลา เป็นส่วนที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สุด ทำไมเราถึงไม่ใช้นวัตกรรมเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ให้กลายเป็นอาหารที่มีประโยชน์และถูกปากล่ะ” เธอกล่าว