เอเอฟพี/รอยเตอร์ - โอเปกในวันศุกร์(22มิ.ย.) เห็นพ้องเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันเล็กน้อยเริ่มตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป หลังจากซาอุดีอาระเบีย ผู้นำโดยพฤตินัย สามารถโน้มน้าวให้คู่อริอย่างอิหร่านหันมาร่วมมือได้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของชาติผู้บริโภคหลักๆที่อยากให้ช่วยฉุดราคาน้ำมันลงและหลีกเลี่ยงภาวะอุปทานขาดแคลน
ความเคลื่อนไหวที่มีขึ้นหลังจากสหรัฐฯ, จีนและอินเดีย เรียกร้องให้โอเปกปล่อยน้ำมันออกมามากขึ้นเพื่อป้องกันภาวะอุปทานขาดแคลนซึ่งอาจกัดเซาะการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
เหล่ารัฐมนตรีพลังงานของโอเปกระบุว่าพวกเขาเห็นพ้องกันว่าจะเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป "ผมคิดว่ามันจะช่วยเพิ่มอุปทานให้เทียบเท่าอุปสงค์ที่จะเพิ่มเติมเข้ามาในช่วงไตรมาส 2" คาลิด อัล-ฟาลิห์ รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบียบอกกับผู้สื่อข่าว หลังการประชุมโอเปกอันเคร่งเครียดในกรุงเวียนนา
การประชุมของโอเปกครั้งนี้มีแก่นกลางในประเด็นที่ว่าจะปรับแก้ข้อตกลงลดกำลังผลิต 18 เดือนระหว่างโอเปกกับพันธมิตรผู้ผลิตอื่นๆหรือไม่ หลังจากข้อตกลงดังกล่าวที่บังคับใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2017 ช่วยขจัดอุปทานส่วนเกินและดันราคาน้ำมันพุ่งสูง
ซาอุดีอาระเบีย ภายใต้การสนับสนุนของรัสเซีย ชาตินอกโอเปก แสดงจุดยืนอยากเห็นทางกลุ่มเพิ่มกำลังผลิต หลังเผชิญเสียงคร่ำครวญหนักหน่วงขึ้นจากเหล่าชาติผู้บริโภครายใหญ่อย่าง สหรัฐฯ, อินเดียและจีน ต่อภาวะน้ำมันราคาแพง
แต่ อิหร่าน คัดค้านการเปลี่ยนแปลงใดๆในข้อตกลงลดกำลังผลิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมน้ำมันของพกเขากำลังเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรใหม่จากสหรัฐฯ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจถอนอเมริกาพ้นจากข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยนิวเคลียร์อิหร่าน อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายก็สามารถหาข้อสรุปที่สามารถรักษาหน้ากันและกัน
ข้อตกลงลดกำลังผลิตในปัจจุบันได้เรียกร้องผู้เข้าร่วมในข้อตกลงลดกำลังผลิตลงรวม 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ข้อมูลของโอเปกพบว่าปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์และข้อจำกัดด้านการผลิต ส่งผลให้หลายชาติมีกำลังผลิตลดลงเกินโควตา และตัดทอนอุปทานน้ำมันพ้นจากตลาดไปกว่า 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ด้วยที่ประชุมเห็นชอบเพิ่มกำลังผลิตรวม 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหล่าชาติสมาชิกโอเปกก็สามารถดำเนินการอย่างง่ายๆด้วยการปฏิบัติตามข้อตกลงลดกำลังผลิตที่เห็นพ้องต้องกันเมื่อช่วงปลายปี 2016 อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามในแถลงการณ์สุดท้ายของโอเปกไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายเพิ่มการผลิตของพวกเขานั้นอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ข้อตกลงดังกล่าวยังต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะมนตรีของประเทศผู้ผลิตนอกโอเปก 10 ชาติ ในนั้นรวมถึงรัสเซีย ที่มีกำหนดหารือกันในกรุงเวียนนาในเสาร์นี้(23มิ.ย.)
รัสเซียยืนอยู่ข้างซาอุดีอาระเบียในข้อขัดแย้งนี้ แม้ว่ามอสโกจะถูกกดดันจากเหล่าบริษัทน้ำมันภายในประเทศ ที่หวังทำเงินจากราคาน้ำมันอันสูงลิ่ว "มันสำคัญมากที่ต้องมีปล่อยให้ตลาดน้ำมันร้อนแรงเกินไป" อเล็กซานเดอร์ โนวัค รัฐมนตรีพลังงานของรัสเซียระบุในวันพฤหัสบดี(21มิ.ย.)