เอเอฟพี/มาร์เก็ตวอตช์ - ราคาน้ำมันสหรัฐฯดิ่งลงแรงในวันศุกร์ (1 มิ.ย.) จากข้อมูลที่บ่งชี้ถึงกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นของอเมริกา ส่วนวอลล์สตรีททะยานและทองคำปิดลบ หลังสหรัฐฯเผยแพร่ข้อมูลการจ้างงานที่เติบโตแข็งแกร่งเกินคาดหมาย
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือ ไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคมลดลง 1.23 ดอลลาร์ ปิดที่ 65.81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 77 เซนต์ ปิดที่ 76.79 ดอลลาร์
รายงานประจำเดือนของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (31 พ.ค.) พบว่า กำลังผลิตของอเมริกาในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2.1 เปอร์เซ็นต์ เป็น 10.474 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะเดียวกันมันยังเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมปี 2017 ถึง 14.6 เปอร์เซ็นต์
ในวันศุกร์ (1 มิ.ย.) เบเกอร์ ฮิวจ์ส ผู้ให้บริการทางพลังงานรายใหญ่ เผยแพร่รายงานระบุว่า มีแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของกิจกรรมการผลิต เดินเครื่องเพิ่มเติมอีก 2 แท่น เป็น 861 แท่นในสัปดาห์นี้ หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว มีการเดินเครื่องเพิ่มเติมถึง 15 แท่น
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันศุกร์ (1 มิ.ย.) พุ่งแรง หลังการจ้างงานในอเมริกาแข็งแกร่งเกินคาดหมาย ซึ่งช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของนักลงทุนไปจากความกังวลต่อสงครามการค้าโลก
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 291.37 จุด (0.90 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 24,635.21 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 29.35 จุด (1.08 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,734.62 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 112.22 จุด (1.51 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 7,554.33 จุด
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯเมื่อวันพฤหัสบดี (31 พ.ค.) ตัดสินใจกำหนดมาตรการรีดภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากยุโรป, เม็กซิโก และ แคนาดา โดยไม่สนใจเสียงเตือนว่ามันเสี่ยงก่อกัดเซาะเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนมองข้ามสงครามการค้า และให้ความสำคัญกับข้อมูลภาคแรงงานอันแข็งแกร่งของสหรัฐฯ
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้นมากกว่าคาดในเดือนพฤษภาคม โดยเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 188,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 ปี และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 3.9 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้แล้ว ตลาดยังได้แรงหนุนจากข้อมูลการผลิต หลังผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของ ISM พุ่งขึ้นสู่ระดับ 58.7 ในเดือนพฤษภาคม จากระดับ 57.3 ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะขยายตัวของภาคการผลิต และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 21
ข้อมูลการจ้างงานรายเดือนอันแข็งแกร่งดันดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำในวันศุกร์ (1 มิ.ย.) ปิดลบ โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ ลดลง 5.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,299.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์