xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อ กม.บังคับ “ทำหมัน” จี้ รบ.ญี่ปุ่นขออภัย-จ่ายค่าชดเชย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทนายความและกลุ่มผู้สนับสนุนเหยื่อกฎหมายสุพันธุศาสตร์ (eugenics) ถือป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ที่ศาลแขวงกรุงโตเกียว วันนี้ (17 พ.ค.)
เอเอฟพี - ชาวญี่ปุ่น 3 รายซึ่งถูกบังคับให้ทำหมันภายใต้กฎหมายสุพันธุศาสตร์ (eugenics) ที่เลิกใช้ไปแล้ว เรียกร้องวันนี้ (17 พ.ค.) ให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาขออภัยและจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

ผู้เสียหายหลายรายได้ยื่นคำร้องต่อศาลทั้งในกรุงโตเกียวและเมืองอื่นๆ หลังจากมีเหยื่อรายแรกออกมาเรียกร้องค่าชดเชยเมื่อต้นปีนี้

โจทก์วัย 75 ปีซึ่งยื่นฟ้องศาลในกรุงโตเกียว ระบุว่า “ผมตัดสินใจฟ้องศาล โดยหวังเหยื่ออีกหลายคนที่ทุกข์ทรมานเหมือนผมมาหลายสิบปีจะได้กล้าออกมาพูดและต่อสู้ร่วมกัน”

“ผมต้องการให้รัฐบาลยอมรับความจริง และเอาชีวิตของผมกลับคืนมา” ผู้เสียหายซึ่งใช้นามแฝงว่า ซาบุโระ คิตะ กล่าว

คิตะ เล่าว่า ตนถูกบังคับทำหมันตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และหลังแต่งงานก็ไม่กล้าบอกความจริงกับภรรยา เพิ่งจะมารับสารภาพก่อนที่เธอจะตายจากไปเมื่อปี 2013

นาโอโตะ เซกิยะ ทนายความของ คิตะ แถลงว่า ลูกความของตนเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาลเป็นเงิน 30 ล้านเยน

“รัฐสภาไม่เพียงไม่มีมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังบังคับใช้นโยบายที่เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนด้วย” เซกิยะ ให้สัมภาษณ์

นอกจาก คิตะ แล้ว ยังมีเหยื่ออีก 2 รายไปยื่นฟ้องศาลที่เมืองเซนได และที่เกาะฮอกไกโดในวันนี้ (17)

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นยอมรับว่า มีประชากรราว 16,500 คนถูกบังคับทำหมันตามกฎหมายสุพันธุศาสตร์ที่บังคับใช้ระหว่างปี 1948-1996

กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้แพทย์สามารถบังคับทำหมันบุคคลที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญาซึ่งอาจถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน “เพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรรุ่นหลังเกิดมาอย่างด้อยคุณภาพ”

ทางการญี่ปุ่นยืนยันว่า ประชากรราว 8,500 คนยอมทำหมันโดยสมัครใจ แต่ทนายชี้ว่าแม้แต่กรณีเหล่านั้นก็อาจจะเป็นการ “ถูกบังคับกลายๆ”

รัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะขอโทษหรือจ่ายค่าชดเชยให้แก่เหยื่อบังคับทำหมันมาโดยตลอด โดยอ้างว่าเป็นกระบวนการที่ “ถูกต้องตามกฎหมาย” ณ เวลานั้น

เมื่อเดือน ม.ค. หญิงชาวญี่ปุ่นวัย 60 ปีเศษคนหนึ่งเป็นผู้เสียหายรายแรกที่ตัดสินใจยื่นฟ้องศาล และเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงิน 11 ล้านเยนเป็นค่าชดเชยที่เธอถูกบังคับทำหมันตั้งแต่อายุ 15

ต่อมาในเดือน มี.ค. สมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่นรับปากจะพิจารณาจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฎหมายสุพันธุศาสตร์ โดยจะมีการออกกฎหมายรองรับภายในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม เหยื่อและผู้สนับสนุนวิจารณ์ว่าขั้นตอนการเยียวยาล่าช้าเกินไป

เยอรมนีและสวีเดนก็เคยบังคับใช้กฎหมายสุพันธุศาสตร์เช่นกัน ซึ่งรัฐบาลทั้งสองชาติได้ขออภัยและจ่ายค่าชดเชยแก่เหยื่อแล้ว

สำหรับกรณีของญี่ปุ่น ผู้ป่วยโรคเรื้อนบางรายถูกบังคับให้ทำแท้งเนื่องจากฎหมายสุพันธุศาสตร์ห้ามคนเหล่านี้มีบุตร

ศาลญี่ปุ่นมีคำพิพากษาเมื่อปี 2005 ให้รัฐจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อนรายหนึ่งที่ถูกบังคับทำแท้งเพราะกฎหมายฉบับนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น