เอเอฟพี/มาร์เกตวอตช์ - ราคาน้ำมันพุ่งแรงในวันศุกร์ (4 พ.ค.) กังวลเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาและความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะกลับมาคว่ำบาตรอิหร่าน ส่วนวอลล์สตรีททะยานและทองคำปิดลบ จากข้อมุลการต้างงานและคลายกังวลต่อตัวเลขเงินเฟ้อ
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 1.29 ดอลลาร์ ปิดที่ 69.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 1.25 ดอลลาร์ ปิดที่ 74.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเวเนซุเอลา และอิหร่าน ซึ่งต่างเป็นสมาชิกของโอเปกกระพือความกังวลทางอุปทาน โดยผลสำรวจกำลังผลิตของโอเปกซึ่งจัดทำโดยเอสแอนด์พี โกลบัล แพลตต์ส ที่เผยแพร่ในวันศุกร์(4พ.ค.) พบว่ากำลังผลิตของทางกลุ่มในเดือนเมษายน ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน แตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี
ผลสำรวจพบว่ากำลังผลิตของโอเปกอยู่ที่ 32 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเดือนที่แล้ว ลดลงจากเดือนมีนาคม 140,000 บาร์เรล โดยปัจจัยหลักเลยก็คือกำลังผลิตที่ลดลงของเวเนซุเอลา
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯในวันศุกร์ (4 พ.ค.) พุ่งแรง รายงานภาคแรงงานที่ผสมผสานของอเมริกา ช่วยคลายกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ขณะที่หุ้นของแอปเปิ้ลทะยาน หลังมหาเศรษฐีวอร์เรน บัฟเฟตต์ เพิ่มการถือครองหุ้นในบริษัท
ดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 332.36 จุด (1.36 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 24,262.51 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 33.69 จุด (1.28 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 2,663.42 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 121.47 จุด (1.71 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 7,209.62 จุด
เศรษฐกิจสหรัฐฯมีการจ้างงานเพิ่มเติม 164,000 อัตราในเดือนเมษายน แม้น้อยกว่าที่คาดหมายไว้ แต่ขณะเดียวกันตัวเลขคนว่างงานก็ลดลงสู่ 3.9% ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2000
นักลงทุนมีความคึกคักจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่งข้อมูลดังกล่าวลดความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย
หุ้นของแอปเปิลพุ่งถึง 3.9% หลังจาก เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ซื้อหุ้นของยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีแห่งนี้อีก 75 ล้านหุ้น ส่งผลให้เบิร์กเชียร์กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของแอปเปิ้ล รองจากแวนการ์ด และแบล็กร็อก
ส่วนราคาทองคำในวันศุกร์ (4 พ.ค.) ปิดบวกเล็กน้อย หลังนักลงทุนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อข้อมูลการจ้างงานรายเดือนของอเมริกา โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 2 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,314.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์