xs
xsm
sm
md
lg

นาทีประวัติศาสตร์! ผู้นำเกาหลีใต้จะพบ “คิม” ที่เส้นแบ่งเขตทหารชายแดน ก่อนเปิดประชุมซัมมิตพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี มุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้ และผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือ
เอเอฟพี - ผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือและประธานาธิบดี มุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้จะเดินทางมาพบกันเป็นครั้งแรกที่เส้นแบ่งเขตทหาร (Military Demarcation Line - DML) ซึ่งแยกคาบสมุทรเกาหลีออกเป็น 2 ส่วน นับเป็นเหตุการณ์ที่เปี่ยมไปด้วยความหมายเชิงสัญลักษณ์ก่อนที่การประชุมซัมมิตจะเปิดฉากขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 เม.ย.)

อิม จองซ็อก เลขานุการของผู้นำเกาหลีใต้ ระบุว่า ประธานาธิบดี มุน จะไปรอต้อนรับผู้นำโสมแดงที่แนวแท่งคอนกรีตในเขตปลอดทหาร ซึ่งระบุเขตแดนสองเกาหลี

ทันทีที่ คิม ก้าวข้ามเส้นแบ่งเขตแดน เขาจะกลายเป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกที่เหยียบย่างเข้ามาบนแผ่นดินโสมขาวนับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลงเมื่อ 65 ปีก่อน

การพบกันระหว่างผู้นำสองเกาหลีคราวนี้จะถือเป็นครั้งที่ 3 ถัดจากการประชุมซัมมิตเมื่อปี 2000 และ 2007 ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของอดีตผู้นำ คิม จองอิล และยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงบรรยากาศความปรองดองบนคาบสมุทรเกาหลี ก่อนที่ คิม จะพบกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

เทคโนโลยีนิวเคลียร์และขีปนาวุธของโสมแดงรุดหน้าไปแบบก้าวกระโดดในยุคของ คิม จองอึน ซึ่งสืบทอดอำนาจต่อจากบิดาในปี 2011 และการจัดการกับคลังอาวุธนิวเคลียร์เหล่านี้ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำทั้งสองคงต้องหยิบยกมาพูดคุย

ประธานาธิบดี มุน ใช้โอกาสที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อเดือน ก.พ. พยายามนัดหมายให้ ทรัมป์ และ คิม ได้มีโอกาสเจรจากันโดยตรง

อย่างไรก็ตาม อิม เตือนทุกฝ่ายว่าอย่าเพิ่งคาดหวังจนเกินไป และต้องไม่ลืมว่าเปียงยางในวันนี้ครอบครองเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ก้าวหน้าไปมาก ข้อตกลงที่จะมีขึ้นจึงอาจมีเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากความตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 และต้น 2000

“นี่คือสิ่งที่ทำให้การประชุมซัมมิตครั้งนี้มีความยุ่งยากยิ่งขึ้นไปอีก” อิม ระบุ “ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้นำทั้งสองจะตกลงกันได้แค่ไหนในส่วนของความเต็มใจของเกาหลีเหนือที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์... และจะถ่ายทอดข้อตกลงออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างไร”

รัฐบาลโสมแดงในอดีตเคยประกาศสนับสนุน “การปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี” แต่นั่นหมายความว่าสหรัฐฯ ก็จะต้องถอนทหารอเมริกันออกไป และหยุดใช้ระบบคุ้มกันนิวเคลียร์ปกป้องเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่วอชิงตันยอมรับไม่ได้

คิม ฮยุนวุก อาจารย์จากวิทยาลัยการทูตแห่งชาติเกาหลี ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า ข้อเสนอดังกล่าว “ไม่ใช่สิ่งที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะตัดสินใจกันเองได้”

“เกาหลีเหนือย่อมต้องการทราบว่า จะมีการรับรองความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ระบอบ คิม อย่างไรบ้าง”

“นั่นคือสิ่งที่ต้องพูดคุยในการประชุมซัมมิตระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ และหากยังไม่มีการหารือประเด็นนี้อย่างจริงจัง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะขอคำสัญญาปลดอาวุธนิวเคลียร์”

ไม่กี่วันมานี้ รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มเสนอแนวคิดที่จะเปลี่ยนข้อตกลงหยุดยิงกับเกาหลีเหนือให้กลายเป็นสนธิสัญญาสันติภาพ เพื่อทำให้สงครามเกาหลีที่ถูกระงับไว้ในปี 1953 ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์

การจัดงานรวมญาติชาวเกาหลีก็เป็นอีกเรื่องที่ คิม และ มุน อาจมีการพูดคุยกัน และผู้นำเกาหลีใต้ยังเคยรับปากนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่นว่าจะลองสอบถาม คิม เรื่องพลเมืองญี่ปุ่นที่ถูกสายลับโสมแดงลักพาตัวไปเมื่อช่วงหลายสิบปีก่อนด้วย
นักท่องเที่ยวใช้กล้องส่องทางไกลมองข้ามเข้าไปในเขตแดนเกาหลีเหนือ จากหอสังเกตการณ์ในเขตปลอดทหารที่เมืองพาจูของเกาหลีใต้ วันนี้ (26 เม.ย.)


กำลังโหลดความคิดเห็น