เอเอฟพี – บริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ เฟซบุ๊ก และ กูเกิล เตือนสิงคโปร์ในวันนี้ (22) เรื่องการออกกฎหมายใหม่เพื่อจัดการกับปัญหา “ข่าวปลอม” โดยระบุว่า กฎหมายเดิมก็เพียงพอที่จะแก้ปัญหานี้แล้ว
คำเตือนนี้ถูกส่งถึงคณะกรรมการรัฐสภาชุดหนึ่งที่กำลังตรวจสอบมาตรการต่างๆ ที่เป็นไปได้รวมถึงการออกกฎหมาย เพื่อจัดการกับข้อมูลเท็จในอินเตอร์เน็ตที่รัฐบาลระบุว่าอาจคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ
ผู้บริหารจากเฟซบุ๊ก กูเกิล และทวิตเตอร์เข้าพบคณะกรรมการชุดดังกล่าวในวันนี้ (22) ท่ามกลางผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวหลายคนที่ถูกเรียกมาให้การตลอด 8 วัน
ศูนย์กลางทางการเงินแห่งนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่กำลังพิจารณาที่จะออกกฎหมายจัดการกับข่าวปลอมแต่นักวิจารณ์เตือนว่า มันอาจถูกใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการพูด รัฐบาลสิงคโปร์ปฏิเสธว่า พวกเขาไม่ได้กำลังพยายามจำกัดเสรีภาพในการพูด
ในการเสนอข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการก่อนการให้ปากคำ อัลวิน ถัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะของเฟสบุ๊คในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เราไม่เชื่อว่าการออกกฎหมายนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหานี้”
“สิงคโปร์มีกฎหมายและข้อบังคับเดิมอยู่แล้วหลายฉบับที่จัดการกับการใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง การหมิ่นประมาท และการแพร่กระจายข่าวปลอม”
ความคิดเห็นของเขามีขึ้นในขณะที่เฟสบุ๊คกำลังตกเป็นข่าวฉาวเรื่องความเป็นส่วนตัวภายหลังการเปิดเผยว่า บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลในอังกฤษ Cambridge Analytica ใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟสบุ๊คหลายสิบล้านคน
กูเกิลก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายข่าวปลอม โดยระบุในคำร้องเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “วิธีการต่อสู้กับการให้ข้อมูลเท็จที่มีประสิทธิภาพคือการให้ความรู้พลเมืองเกี่ยวกับวิธีแยกแยะข้อมูลนี่เชื่อถือและไม่น่าเชื่อถือ”
แทนที่จะออกกฎหมาย พวกเขาเรียกร้องให้ส่งเสริมการทำข่าวที่มีคุณภาพเพื่อให้แน่ใจว่ามีเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและหักล้างข้อมูลปลอม”
คนราว 164 คนเขียนคำร้องให้คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาเกี่ยวกับการต่อสู้กับข่าวปลอม หลังจากการไต่สวนซึ่งจะสิ้นสุดในสัปดาห์หน้า คณะกรรมการจะให้คำแนะนำแก่สมาชิกรัฐสภาภายในไม่กี่เดือน
การออกกฎหมายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่กำลังถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการชุดนี้ และยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ ของกฎหมาย
สื่อภายในประเทศถูกควบคุมอย่างเข้มงวดในสิงคโปร์ และประเทศนี้ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 151 จาก 180 ประเทศในดัชนีเสรีภาพสื่อโลก (World Press Freedom Index) โดยองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders)