xs
xsm
sm
md
lg

“เกาหลีเหนือ” ยอมเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องการปล่อยตัว 3 พลเมืองมะกันที่ถูกจับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คิม ดงชุล ( Kim Dong-chul) ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีวัย 65 ปี ซึ่งถูกทางการโสมแดงจับกุมข้อหาเป็นสายลับเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2015 และถูกลงโทษใช้แรงงานหนัก 10 ปี (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - เกาหลีเหนือเริ่มต้นเจรจากับสหรัฐฯ และสวีเดนเรื่องการปล่อยตัวพลเมืองอเมริกัน 3 คนที่ถูกโสมแดงคุมขังอยู่ นับเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยทางการทูตที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่การประชุมซัมมิตระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะเปิดฉากขึ้น

รายงานระบุว่า การเจรจาเพื่อขอคืนอิสรภาพให้แก่ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี 3 คนที่โดนข้อหา “บ่อนทำลาย” ระบอบเกาหลีเหนือเริ่มขึ้นผ่านหลายๆ ช่องทาง ราว 2 สัปดาห์ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะตอบตกลงพบปะกับผู้นำคิม จองอึน

แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือจะยังไม่ยืนยันด้วยซ้ำว่าเคยยื่นข้อเสนอประชุมซัมมิตกับ ทรัมป์ จริงตามที่คณะผู้แทนเกาหลีใต้พูดหรือไม่ ทว่าคำตอบของสหรัฐฯ ก็ทำให้ทุกฝ่ายต้องเริ่มวางแผนกำหนดวาระต่างๆ ที่ควรจะถูกพูดถึงในการประชุมซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างผู้นำทั้งสอง

สถานีโทรทัศน์เอ็มบีซีทีวีในกรุงโซล รายงานเมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) ว่า สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือได้บรรลุข้อตกลงแล้วว่าจะมีการปล่อยตัวพลเมืองอเมริกันเชื้อสายเกาหลีทั้ง 3 คน คือ คิม ฮักซอง (Kim Hak-Song), คิม ซังดุก (Kim Sang-Duk) และ คิม ดงชุล (Kim Dong-Chul)

“พวกเขากำลังคุยรายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ทั้งสามคนจะได้รับการปล่อยตัว” สื่อฉบับนี้อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวนักการทูตเกาหลีใต้ ซึ่งระบุด้วยว่าเรื่องนี้เป็นผลมาจากการพูดคุยระหว่างคณะทูตโสมแดงประจำยูเอ็นและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า “นิวยอร์กแชนแนล”

สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นรายงานเช่นกันว่า การปล่อยตัวนักโทษเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงในการประชุมหารือ 3 วันระหว่าง รี ยองโฮ รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ กับ มาร์ก็อต วอลล์สตรอม รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน ที่กรุงสตอกโฮล์มเมื่อวันเสาร์ (17)

สวีเดนเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้าไปเปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นในเกาหลีเหนือตั้งแต่ปี 1975 และยังรับหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ให้กับสหรัฐฯ ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือโดยตรง

แหล่งข่าวเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า รัฐมนตรีสวีเดนได้หยิบยกเรื่องนักโทษชาวอเมริกันขึ้นมาพูดคุยกับเกาหลีเหนือ “เพื่อผลักดันสิ่งต่างๆ ไปในหนทางที่ถูกที่ควร”

คิม ดงชุล เป็นศาสนาจารย์ชาวอเมริกันที่เกิดในเกาหลีใต้ เขาถูกจับในเกาหลีเหนือเมื่อปี 2015 ข้อหาเป็นสายลับ และศาลโสมแดงได้สั่งลงโทษใช้แรงงานหนัก 10 ปี เมื่อปี 2016

ในส่วนของ คิม ฮักซอง และ คิม ซังดุก หรือ “โทนี คิม” นั้นเคยทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเปียงยาง (Pyongyang University of Science and Technology - PUST) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ก่อตั้งโดยชาวต่างชาติที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ และถูกจับกุมเมื่อปีที่แล้วด้วยข้อหา “บ่อนทำลายรัฐ”

ข่าวการปล่อยตัว 3 พลเมืองอเมริกันมีขึ้นท่ามกลางกิจกรรมทางการทูตระหว่างเปียงยาง โซล วอชิงตัน และบรรดาชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างคึกคักในระยะนี้ หลังจากผู้นำคิม ยื่นข้อเสนอผ่านคณะผู้แทนเกาหลีใต้ว่าอยากจะจัดประชุมซัมมิตกับสหรัฐฯ และทรัมป์ ก็ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการตอบตกลง

คิม ยังเตรียมเปิดประชุมซัมมิตกับประธานาธิบดีมุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้ในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะถือเป็นการพบปะซึ่งหน้าครั้งที่ 3 ระหว่างผู้นำสองเกาหลี
คิม ฮัก ซอง (ซ้ายสุด) ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีซึ่งถูกจับในเกาหลีเหนือ (แฟ้มภาพ)


กำลังโหลดความคิดเห็น