เอเจนซีส์ - คูหาเลือกตั้งในเขตตะวันออกไกลของรัสเซียเริ่มเปิดเป็นที่แรกในเช้าวันอาทิตย์(18 มี.ค) สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ท่ามกลางผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งร่วม 108 ล้านคนใน 11 เขตช่วงเวลา กลางวิกฤตรัสเซียมึนตึงชาติตะวันตก เชื่อผู้นำรัสเซียคนปัจจุบันได้ต่ออายุนั่งบริหารอีก 6 ปีข้างหน้า แต่เคียฟร้องต่อองค์การสหประชาชาติ อ้างรัสเซียจัดการเลือกตั้งผิดกฎหมายในไครเมีย เป็นครั้งแรกที่ชาวไครเมียได้ใช้สิทธิ์หลังถูกผนวกเข้าในปี 2014
CNN สื่อสหรัฐฯรายงานวันนี้(18 มี.ค)ว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียทุก 6 ปีได้เริ่มต้นแล้วในวันอาทิตย์(18) ซึ่งพบว่าในเขตตะวันออกไกล คูหาเลือกตั้งจะเริ่มขึ้นก่อนที่อื่น อ้างอิงจากสื่อ RT สื่อรัสเซีย ชี้ว่า เกิดขึ้นในคัมชัตคา (Kamchatka) และชูคอตคา (Chukotka)
ซึ่งสื่อ RT ชี้ว่า คูหาเลือกตั้งแรกเปิดในเวลา 08.00 น. ในวันเสาร์(17)ตามเวลาท้องถิ่นที่คัมชัตคา และ ชูคอตคา และในอีก 1 ช.ม ถัดมาบนเกาะ ซาคาลิน( Sakhalin) ส่วนกรุงมอสโกจะเริ่มต้นอีก 9 ช.ม หลังจากนั้น เกิดขึ้นในเวลา 05.00 น. และคูหาเลือกตั้งในกรุงมอสโกจะปิดลงที่เวลา 20.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ถือว่าคูหาเลือกตั้งทั้งหมดในรัสเซียจะเปิดยาวนานร่วม 22 ช.ม โดยรวม
CNN ชี้ว่า การเลือกตั้งรัสเซียต้องใช้ระบบการขนส่งอย่างมหาศาลเพราะเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ซึ่งมีการจัดการเลือกตั้งถึง 11 เขตเวลาที่ต่างกัน และในการเลือกตั้งปีนี้ นอกจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแล้ว มีผู้สมัครท้าชิงอีก 7 คน แต่ทว่า CNN ชี้ว่า ผู้สมัครทั้งหมดล้วนไร้ความหมาย และคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญ เช่น อเล็กซี นาวาลนีย์(Alexei Navalny) นั้นถูกห้ามลงสมัครเนื่องมาจากขาดคุณสมบัติ ส่งผลทำให้ปูตินวัย 65 ปีกลายเป็นเต็งหนึ่งแถวหน้าไปโดยปริยาย
ซึ่งสื่อรัสเซียย้ำว่า อย่างเร็วสุดผลการเลือกตั้งแรกสุดจะสามารถรู้ได้ไม่ช้ากว่าเวลา 21.00 น. ตามเวลากรุงมอสโก หลังจากคูหาเลือกตั้งสุดท้ายที่คาลินินกราด( Kaliningrad ) ซึ่งตั้งอยู่นอกประเทศรัสเซียปิดลง และผลการเลือกตั้งสำหรับผู้นำคนใหม่จะรู้ได้ในวันจันทร์(19) และในเวลานี้หากปูตินชนะการเลือกตั้งในวันอาทิตย์(18)จะทำให้เขาเป็นผู้นำรัสเซียสมัยที่ 4 เป็นผู้นำต่อยาวไปถึงปี 2024 และในความเป็นจริง ปูตินได้กลายเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดนับตั้งแต่อดีตผู้นำเผด็จการสมัยสหภาพโซเวียต โจเซฟ สตาลิน
บรรยากาศการเลือกตั้งในปีนี้ CNN ชี้ว่าไม่ต่างจากเมื่อครั้งปี 2012 เท่าใด ที่เห็นปูตินครอบงำการเลือกตั้งในปีนั้นไปโดยปริยาย แต่ทว่าในปี 2018 อาจมีสิ่งที่เปลี่ยนไปที่มีบรรยากาศต่อต้านตะวันตกเสริมเข้ามา จากปัญหาที่รัสเซียมีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีกับอังกฤษและสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดเครมลินตอบโต้อังกฤษด้วยการสั่งขับเจ้าหน้าที่การทูตแดนผู้ดีจำนวน 23 คนกลับประเทศ และสหรัฐฯได้ลงดาบสั่งคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ลงโทษคดีลอบสังหารอดีตสายลับ 2 หน้าในกรุงลอนดอน
อย่างไรก็ตาม ถึงบรรยากาศจะไม่สู้ดี แต่สื่อสหรัฐฯชี้ว่า ทางเครมลินสนใจต่อจำนวนผู้มีสิทธิ์มาออกเสียงเลือกตั้งในวันนี้(18) ซึ่งถึงแม้นาวาลนีย์จะไม่ได้รับอนุญาตให้สมัครลงแข่งขัน แต่เขาได้ทำการรณรงค์ไปทั่วรัสเซีย รวมไปถึงผ่านทางยูทูบมานานเพื่อกระตุ้นให้กับพลเมืองรัสเซีย โดยเฉพาะรัสเซียเลือดใหม่ให้ทำการบอยคอตการเลือกตั้ง
แต่ถึงจะมีปัญหาข่าวฉาวคอร์รัปชันในแวดวงผู้นำรัสเซีย สื่อCNN ชี้ว่า "วลาดิมีร์ ปูติน" ได้ชื่อเป็นคนที่โดดเด่น จากการที่มีประชาชนรัสเซียเป็นจำนวนมากตั้งความหวังในตัวเขาจากคุณสมบัติในความเป็นผู้นำ ที่สามารถนำรัสเซียออกมาจากความโกลาหลในช่วงหลังอดีตสหภาพโซเวียตล่มสลายได้สำเร็จ และทำให้รัสเซียมีเสถียรภาพได้เหมือนเช่นในปัจจุบัน
ซึ่งพบว่าโพลสำรวจที่ผ่านมาต่างชี้ว่า ผู้นำรัสเซียมีคะแนนนิยมพุ่งสูง โดยเฉพาะในช่วงที่รัสเซียต้องเผชิญหน้ากับบรรดาชาติตะวันตกทั้งหลาย ดังนั้นสำหรับชาวรัสเซีย ถือว่าวิกฤตทางการทูตระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าไม่สำคัญเท่าใดนัก
RT รายงานเพิ่มเติมว่า ในการเลือกตั้งรอบนี้ มีการเปิดคูหาทั้งหมด 97,000 แห่ง และจากทั้งหมด มีจำนวน 400 แห่งตั้งอยู่ในต่างแดน ซึ่งในการเลือกตั้งเที่ยวนี้ ประชาชนในแหลมไครเมียจะได้ร่วมหย่อนบัตรลงคะแนนเช่นกันเป็นครั้งแรก
จากพลเมืองทั้งหมด 108 ล้านคน มีจำนวนเกือบ 2 ล้านคนจะสามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ได้ในต่างแดน โดยจะสามารถหย่อนบัตรได้พร้อมกับประชาชนชาวรัสเซียในประเทศได้ในวันอาทิตย์(18) เว้นแต่ในยูเครนเท่านั้น RT ชี้
แต่อย่างไรก็ตาม ซึ่งพบว่าในจำนวนผู้มีสิทธิ์ในต่างแดนทั้งหมด มีประชาชนร่วม 30,000 คนได้ลงคะแนนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว อ้างอิงจากคณะกรรมการเลือกตั้งรัสเซีย
ทั้งนี้มีรายงานว่า เคียฟชี้ว่า การจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในดินแดนแหลมไครเมียของยูเครนถือเป็นการละเมิดต่ออธิปไตยตามกฎบัตรองค์การสหประชาชาติ ซึ่งอ้างจากแถลงการณ์ของสำนักงานทูตถาวรยูเครนประจำองค์การสหประชาชาติที่ออกมาทางทวิตเตอร์ อ้างอิงจากสื่อ unian.info ชี้ว่า
“เอกอัครราชทูตเยลเชนโก(Yelchenko) ในจดหมายที่ยื่นไปยังเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และชาติสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ยืนยันว่า การจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในเขตยึดครองชั่วคราวไครเมียนั้น ละเมิดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ และผลการเลือกตั้งเช่นนี้จะไม่สามารถบังคับใช้ และเป็นโมฆะ”
สื่อ unian.info ระบุว่า เครมลินกำหนดจัดการเลือกตั้งในวันที่ 18 มี.ค เพื่อฉลองการลงนามผนวกไครเมียและเซวาสโตโปล(Sevastopol) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเมื่อปี 2014
ทั้งนี้ก่อนหน้า ประธานาธิบดี ยูเครน เปโตร โปโรเชนโก ประกาศว่า เขาจะเดินหน้าผลักดันประชาคมโลกไม่ให้ยอมรับ “การเลือกตั้ง” ในไครเมีย และผลักดันให้เกิดการคว่ำบาตร แต่ทว่า เอสโตเนีย และแคนาดาได้ประกาศก่อนการเลือกตั้งวันนี้(18)แล้วว่า จะไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในไครเมีย