xs
xsm
sm
md
lg

“กล่องดำ” เครื่องบินตกที่กาฐมาณฑุ ชี้นักบิน-หอควบคุม “สับสน” เส้นทางลงจอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เครื่องบินลำหนึ่งทะยานขึ้นจากท่าอากาศยานนานาชาติในกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนเปาล ในวันอังคาร (13 มี.ค.) ใกล้ๆ กับซากของเครื่องบินสายการบินยูเอส-บังกลา แอร์ไลนส์ ซึ่งตกโหม่งพื้นเมื่อวันจันทร์ (12) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 49 คน
เอเจนซีส์ - เนปาลแถลงวันอังคาร (13 มี.ค.) เจ้าหน้าที่สอบสวนพบอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินของเครื่องบินสายการบินบังกลาเทศที่ตกเมื่อคืนวันจันทร์ (12) แล้ว โดยข้อมูลในอุปกรณ์ดังกล่าวที่เว็บไซต์บางแห่งนำออกเผยแพร่ บ่งชี้ว่า นักบินกับศูนย์ควบคุมการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานกาฐมาณฑุ สื่อสารกันไม่เข้าใจเรื่องเส้นทางเข้าสู่รันเวย์เพื่อร่อนลงจอด

ราช กุมาร เชตตรี ผู้จัดการใหญ่ของท่าอากาศยานกาฐมาณฑุ แถลงวันอังคาร (13) ว่า ค้นพบอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินจากซากเครื่องบินใช้เครื่องยนต์ใบพัด แบบ บอมบาร์ดิเอร์ คิว 400 ซีรีส์ ลำนี้ ที่ถูกเพลิงเผาไหม้เกรียมภายหลังร่อนลงกระแทกพื้นใกล้ๆ ด้านตะวันออกของรันเวย์ ก่อนชนกับแนวรั้วกั้นจนกระทั่งไฟลุกท่วมและไถลเข้าไปในสนามฟุตบอลที่อยู่ใกล้กันเมื่อวันจันทร์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 49 คน

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า เครื่องบินของสายการบินยูเอส-บังกลา แอร์ไลนส์ ลำนี้ ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 71 คน และออกจากต้นทางที่กรุงธากาของบังกลาเทศ ได้เปลี่ยนทิศทางกะทันหันก่อนร่อนลงปะทะพื้น ขณะที่ผู้โดยสารที่รอดชีวิตบอกว่า นักบินไม่ได้แจ้งเตือนก่อนที่จะหักเลี้ยวกลางอากาศอย่างปุบปับ

ผู้โดยสารจำนวน 22 คน ซึ่งส่วนใหญ่นั่งอยู่ด้านขวาของเครื่องบิน สามารถหนีออกมาได้ด้วยการทุบกระจกปีนออกมาทางหน้าต่าง หรือได้รับการช่วยเหลือจากผู้โดยสารด้วยกันและหน่วยกู้ภัย

ฝ่ายเจ้าหน้าที่สายการบินและฝ่ายเจ้าหน้าที่สนามบินต่างโยนความผิดให้แก่กันสำหรับอุบัติเหตุทางอากาศครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดของเนปาล นับจากเหตุเครื่องบินของปากีสถาน อินเตอร์เนชันแนล แอร์ไลนส์ ตกในปี 1992 ที่มีผู้เสียชีวิต 167 คน

เชตตรีเสริมว่า ทางการได้เริ่มสอบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้แล้ว

ทั้งนี้ จากบันทึกการสนทนาระหว่างหอควบคุมการบินกับนักบินที่โพสต์อยู่บนเว็บไซต์ติดตามการจราจรทางอากาศ liveact.net นั้น บ่งชี้ว่า ทั้งสองฝ่ายมีความสับสนเกี่ยวกับการนำเครื่องบินลงจอด ว่าจะให้เข้าสู่รันเวย์จากด้านเหนือและด้านใต้กันแน่

อิมราน อาซีฟ ประธานบริหารกลุ่มยูเอส-บังกลา ที่สายการบินยูเอส-บังกลา แอร์ไลนส์ เป็นกิจการหนึ่งอยู่ในเครือ แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า หอควบคุมการบินสื่อสารไม่ชัดเจนขณะที่เครื่องบินติดต่อขอลงจอดบนรันเวย์ในสนามบินกาฐมาณฑุ ซึ่งตั้งอยู่บนเขาและมีอยู่เพียงรันเวย์เดียว เรื่องนี้อาจทำให้นักบินเข้าใจผิดและลงจอดผิดตำแหน่ง

ทั้งนี้ ในการร่อนลงจอดที่สนามบินแห่งนี้ หากใช้เส้นทางจากด้านเหนือเพื่อเข้าสู่รันเวย์ จะเรียกกันว่า “รันเวย์ 20” แต่ถ้าใช้เส้นทางจากด้านใต้เพื่อเข้าสู่รันวันย์ จะเรียกว่า “รันเวย์ 02”

ตามข้อมูลเสียงที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ นักบินที่ 1 และเจ้าหน้าที่หอบังคับการบินได้หารือกันว่าจะใช้รันเวย์ไหน โดยในช่วงหนึ่ง หอบังคับการฯบอกนักบินผู้ช่วยที่เป็นผู้หญิงว่า เธอกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่รันเวย์ 20 ทั้งๆ ที่เครื่องบินได้รับการอนุมัติให้ใช้รันเวย์ 02

เวลาต่อมา นักบินที่ 1 ได้เข้ารับหน้าที่สนทนาแทน และยืนยันแผนจะร่อนลงจอดที่รันเวย์ 02 อย่างไรก็ดี มีอยู่ช่วงหนึ่ง หอบังคับการฯระบุว่ามีการเคลียร์รันเวย์ 20 สำหรับให้ร่อนลงจอด

ในที่สุดแล้ว เครื่องบินได้พยายามร่อนลงบนรันเวย์ด้วยเส้นทางซึ่งได้รับแจ้งเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรกสุด ทว่ากลับปะทะพื้นเพราะไปไม่ถึงรันเวย์ เครื่องบินพังเป็นเสี่ยงๆ และเกิดไฟไหม้ นักบินทั้ง 2 คนเสียชีวิต

ยูเอส-บังกลา ยังยืนยันว่า อาบิด สุลต่าน นักบินที่ควบคุมเครื่องบินลำนี้ และเป็นอดีตนักบินของกองทัพอากาศบังกลาเทศนั้น ลงจอดมาเกินร้อยครั้งแล้วในสนามบินกาฐมาณฑุที่มีการเปลี่ยนแปลงความเร็วและ/หรือทิศทางของลมฉับพลัน รวมทั้งมีอุบัติเหตุเครื่องบินชนนกบ่อยครั้ง นักบินผู้นี้ยังมีประสบการณ์การบินกว่า 5,000 ชั่วโมง และได้รับการฝึกลงจอดในสนามบินดังกล่าวโดยเฉพาะ

ทว่า เชตตรี แย้งว่า นักบินต่างหากที่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของหอควบคุมฯ และเข้าสู่สนามบินเพื่อลงจอดผิดทิศทาง อย่างไรก็ดี เขาบอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปสาเหตุของอุบัติเหตุทางอากาศครั้งนี้ และสำทับว่า เนปาลควรสอบสวนเรื่องนี้ร่วมกับบังกลาเทศ

ด้าน ซานจีฟ โกทัม ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนของเนปาล ไม่ยืนยันว่า ข้อมูลการบินที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่ แต่บอกว่า การนำข้อมูลดังกล่าวมาเผยแพร่เข้าข่ายละเมิดกฎหมาย

ทางด้านบอมบาร์ดิเอร์จากแคนาดา ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินที่ประสบเหตุ เผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยไปร่วมตรวจสอบในที่เกิดเหตุแล้ว

สนามบินกาฐมาณฑุตั้งอยู่ในหุบเขา โดยด้านเหนือคือเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งทำให้สนามบินแห่งนี้เป็นหนึ่งในสนามบินที่มีความท้าทายในการลงจอดอย่างมาก

ขณะเดียวกัน เครือข่ายถนนของเนปาลถือว่าย่ำแย่อย่างยิ่ง ทำให้ต้องอาศัยการบินภายในประเทศเป็นหลักในการเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลต่างๆ

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนปาลประสบอุบัติเหตุด้านการบินกว่า 20 ครั้ง ส่วนใหญ่จากเครื่องบินขนาดเล็กที่บินภายในประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น