xs
xsm
sm
md
lg

จนท.อุทยานฯ เภตรานำกล้องส่อง “นกอพยพ” บินหนีหนาวจากเทือกเขาหิมาลัยนับ 100 ตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - พนักงานพิทักษ์ป่าของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ลงสำรวจ “นกอพยพ” บินหนีหนาวจากเทือกเขาหิมาลัยนับ 100 ตัว โฉบเฉี่ยวริมชายหาดสตูล จนท.อุทยานฯ นำกล้องส่องเก็บข้อมูลบันทึกไว้เผยแพร่

วันนี้ (16 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณสันหลังมังกร อ่าวทุ่งนุ้ย บ้านหลอมปืน หมู่ที่ 14 ต.ละงู จ.สตูล นกอพยพหนีหนาวจากเทือกเขาหิมาลัยนับ 100 ตัว บินโฉบไปมาริมทะเลในช่วงเช้าของวัน บ้างก็เกาะกิ่งไม้โชว์ตัวสีขาว ตัดกับสีเขียวของป่าโกงกางในบริเวณนั้น โดยมีคุณลุงที่ล่องเรือออกหาปูดำ บ้างก็เหวี่ยงแหหากุ้ง ท่ามกลางระบบนิเวศของธรรมชาติที่ลงตัว ไม่ส่งเสียงดังรบกวนต่อนก
 

 
ในวันนี้ นายวิชัย สำสู พนักงานพิทักษ์ป่า หัวหน้าชุดงานวิชาการและสำรวจ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา พร้อมเจ้าหน้าที่ได้นำกล้องส่องทางไกลมาสำรวจนกอพยพที่บินหนีฤดูหนาว และได้มาอาศัยในพื้นที่บริเวณสันหลังมังกร ซึ่งวันนี้พบนกถึง 7 ชนิด ที่กำลังออกมาหาอาหารกิน โดยเจ้าหน้าที่ต่างส่องกล้องดูนกเพื่อทำการเก็บข้อมูล และจดบันทึกชนิดแต่ละสายพันธุ์ของนก พร้อมตรวจเทียบจากหนังสือกรมอุทยานฯ ในเรื่องสัตว์ปีก และการสำรวจยังได้เห็นนกอพยพที่มีมากกว่า 100 ตัว ได้บินโฉบเฉี่ยวริมชายทะเล สร้างความตะลึง และความสวยงามแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวผ่านไปมา

นายวิชัย สำสู พนักงานอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา กล่าวว่า การออกมาสำรวจในครั้งนี้เป็นแผนดำเนินงานของทาง นายวิทยา บุญชิต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา โดยเก็บข้อมูลนก หรือสัตว์ปีกที่พบในท้องถิ่น และนกต่างถิ่นที่บินข้ามมาจากหลายประเทศ เป็นการเก็บข้อมูลไว้เพื่อการศึกษาต่อไป และนำไปให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษาไว้เรียนรู้ศึกษาทำความเข้าใจต่อไป
 

 
โดยเจ้าหน้าที่จะออกสำรวจทุกเดือน เดือนละ 7 วัน จากการสำรวจตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงปัจจุบัน (เดือนพฤศจิกายน) พบนกอพยพแล้ว 7 ชนิด ประกอบด้วย นกอีก๋อย นกหัวโตทราย นกยางกรอกพันธุ์จีน นกยางเขียว นกยางโทนน้อย นกยางทะเลขาแดง และนกนางนวลแกลบธรรมดา ซึ่งบางชนิดหนีหนาวมาจากเทือกเขาหิมาลัย และทุ่งกว้าง ส่วนนกพื้นถิ่น หรือนกเจ้าถิ่น ซึ่งมีมากถึง 50 ชนิด ยังคงมีให้พบเห็นอย่างต่อเนื่อง

นายวิชัย กล่าวอีกว่า การสำรวจส่องกล้องทางไกลในวันนี้พบนกอพยพที่เห็นได้ชัดมาก คือ นกอีก๋อย นกหัวโตทราย และนกยาง ถือว่าเป็นความโชคดีมาก หากท่านใดอยากดูนกก็เลือกช่วงเวลาที่น้ำลงมากๆ ในช่วงน้ำตาย เพราะนกเหล่านี้จะออกมาหากุ้ง ปลา ไส้เดือนทะเล หอยตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นสัตว์หน้าดินกินเป็นอาหาร โอกาสที่จะพบนกก็มีมากกว่าช่วงเวลาปกติ หรือนักเรียน เยาวชนที่ต้องการสำรวจไปพร้อมๆ กับทางอุทยานฯ ก็สามารถประสานมาได้ เพราะทางอุทยานฯ มีภารกิจสำรวจทุกเดือน
 

 
โดยพื้นที่ซึ่งทางอุทยานฯ ออกสำรวจนก ได้แก่ บริเวณอ่าวทุ่งนุ้ย (บ้านหลอมปืน) เขาโต๊ะหงาย หาดกาสิง (บ้านบ่อเจ็ดลูก) แหลมเต๊ะบัน (ปากบารา) และพื้นที่เป้าหมายใหม่อีก 2 จุด คือ เกาะลิดี และเกาะเขาใหญ่ ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

สำหรับบรรยากาศในการดูนกในครั้งนี้ ทางคณะได้ออกเดินทางตั้งแต่ช่วงเช้า มีแสงดีทำให้เห็นนกได้อย่างชัดเจน สามารถเปรียบเทียบชนิดของนกที่พบจากพื้นที่จริงกับนกในหนังสือได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
 




กำลังโหลดความคิดเห็น