xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เผยยุทธศาสตร์โหมใหม่ เน้นรับมือ “จีน-รัสเซีย” มากกว่า “อิสลามิสต์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
เอเจนซีส์ - สหรัฐฯ ยกการแข่งขันกับจีนและรัสเซียเป็นหัวใจหลักในยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติฉบับใหม่ที่ถูกเปิดเผยโดยรัฐมนตรีกลาโหม เจมส์ แมตทิส เมื่อวานนี้ (19 ม.ค.) สะท้อนถึงการปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของอเมริกาจากเดิมที่เน้นรับมือภัยคุกคามอิสลามิสต์มานานกว่า 10 ปี

แมตทิส ยอมรับว่า สหรัฐฯ กำลังเผชิญภัยคุกคามจากจีนและรัสเซียมากขึ้น พร้อมเตือนว่า “ความได้เปรียบทางทหาร” ของอเมริกาลดลงเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“เรากำลังเผชิญอันตรายจากกลุ่มมหาอำนาจลัทธิแก้ (revisionist powers) อย่างจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นชาติที่พยายามจะสร้างโลกที่สอดคล้องกับต้นแบบเผด็จการของพวกเขาเอง”

“กองทัพของเรายังคงเข้มแข็ง แต่ความได้เปรียบในการแข่งขันของเราลดลงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางอากาศ ภาคพื้นดิน ทะเล อวกาศ หรือไซเบอร์ และยังคงถูกกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง”

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และคนในรัฐบาลต่างเป็นห่วงว่าปัญหาขาดแคลนงบประมาณเริ่มส่งผลให้ศักยภาพของกองทัพอเมริกันเสื่อมถอยลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงยกเครื่องกองทัพเสียใหม่

ยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติฉบับใหม่ของเพนตากอน ยังระบุให้มีการเพิ่มขนาดกองทัพ ปรับปรุงความพร้อมและการทำงานร่วมกับชาติพันธมิตร ขณะที่ยังคงปฏิบัติภารกิจในยุทธบริเวณทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย

“ยุทธศาสตร์นี้ตรงกับเจตนารมณ์ของผมที่เห็นว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่... เราต้องใช้แนวทางสร้างสรรค์ ลงทุนอย่างยั่งยืน และมีกฎเกณฑ์ในการส่งกองกำลังร่วมที่เหมาะสมกับยุคสมัย ซึ่งจะสามารถแข่งขัน ป้องปราม และคว้าชัยชนะได้ในบรรยากาศความมั่นคงที่ซับซ้อนขึ้น”

ถ้อยแถลงดังกล่าวเรียกเสียงประณามจาก เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งวิจารณ์ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ว่า “เน้นการเผชิญหน้า”

“น่าเสียดายที่สหรัฐฯ มองข้ามการเจรจาตามปกติและพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ และหันไปมุ่งพิสูจน์ความเป็นผู้นำด้วยยุทธศาสตร์และแนวคิดที่เน้นการเผชิญหน้าแบบนี้” ลาฟรอฟ แถลงต่อสื่อมวลชนที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ

ยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติฉบับใหม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติที่ ทรัมป์ แถลงเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งก็เน้นบทบาทของจีนและรัสเซียในบรรยากาศความมั่นคงของโลกเช่นกัน

“จีนคือคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ที่ใช้เศรษฐกิจแบบนักล่าข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันก็เข้าไปเสริมกำลังทหารตามภูมิประเทศต่างๆ ในทะเลจีนใต้” แทตทิส ระบุ

“ส่วนรัสเซียก็ละเมิดพรมแดนประเทศข้างเคียง และใช้สิทธิ์วีโตขัดขวางการตัดสินใจด้านเศรษฐกิจ การทูต และความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน”

แมตทิส ยังเอ่ยถึงอิหร่านและเกาหลีเหนือว่าทำตัวเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ

ก่อนหน้านี้ ทั้งจีนและรัสเซียต่างออกมาตอบโต้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของ ทรัมป์ อย่างเผ็ดร้อน โดยปักกิ่งระบุว่าวอชิงตัน “มีแนวคิดแบบสงครามเย็น” ขณะที่มอสโกชี้ว่าสหรัฐฯ “ทำตัวเหมือนนักล่าอาณานิคม”

หนึ่งในปัญหาสำคัญซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในเพนตากอนและรัฐสภาสหรัฐฯ ก็คือ การที่กองทัพเริ่มขาดความพร้อม ทหารและยุทธภัณฑ์ต่างๆ ไม่ได้รับการฝึกฝนหรือซ่อมบำรุงตามที่จำเป็น

แมตทิส ย้ำว่า สหรัฐฯ ต้องพร้อมที่จะทำสงครามอยู่ตลอดเวลา “วิธีที่แน่นอนที่สุดในการป้องกันสงครามก็คือ ทำให้แน่ใจว่าเราต้องชนะ... ซึ่งต้องอาศัยแนวทางการแข่งขันเพื่อพัฒนากองกำลัง และลงทุนอย่างต่อเนื่องหลายปีเพื่อยกระดับความพร้อมในการสู้รบ และการส่งกองกำลังสำหรับสังหาร (lethal force)”

แมตทิส ยังขอความร่วมมือมากยิ่งขึ้นจากบรรดาพันธมิตรนาโต ซึ่งเคยถูก ทรัมป์ วิจารณ์ตอนหาเสียงว่าไม่มีส่วนร่วมมากพอในการแชร์ภารกิจปกป้องระเบียบโลกยุคหลังสงครามโลกที่ 2

“เราหวังว่าพันธมิตรยุโรปจะรักษาคำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มงบในการป้องกันประเทศ และปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย เพื่อให้กลุ่มพันธมิตรของเราเข้มแข็งขึ้นในยามที่ต้องเผชิญปัญหาความมั่นคงร่วมกัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น