xs
xsm
sm
md
lg

In Pics: โป๊ปฟรานซิสนำสวดมิสซาเนื่องในวัน “คริสต์มาสอีฟ” เรียกร้องทั่วโลกปกป้อง “ผู้อพยพ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอุ้มรูปปั้นพระเยซูวัยทารก ขณะทรงประกอบพิธีสวดมิสซาเนื่องในวันคริสต์มาสอีฟที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์สบาซิลิกา นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.
รอยเตอร์ - สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงนำคริสตศาสนิกชนประกอบพิธีสวดมิสซาเนื่องในวันคริสต์มาสอีฟ พร้อมทรงวิงวอนให้ทั่วโลกปกป้องผู้อพยพ โดยทรงเปรียบเทียบคนเหล่านี้ว่าไม่ต่างจากพระแม่มารีและนักบุญโยเซฟซึ่งเดินทางไปยังเมืองเบธเลเฮมแต่ไม่อาจหาที่พักได้ และความศรัทธาที่แท้จริงนั้นย่อมไม่รังเกียจที่จะต้อนรับคนต่างชาติ

พระสันตะปาปาฟรานซิสซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกซึ่งมีผู้นับถือ 1,200 ล้านคนทั่วโลกเป็นปีที่ 5 ทรงนำประชาชน 10,000 คนสวดมิสซาที่มหาวิหารเอกเซนต์ปีเตอร์สบาซิลิกา ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างเข้มงวด โดยผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องผ่านด่านตรวจขณะเดินเข้าสู่จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ และมีเครื่องตรวจจับโลหะที่ทางเข้ามหาวิหารอีกชั้นหนึ่ง

เนื้อหาจากพระคัมภีร์ไบเบิลซึ่งถูกนำมาอ่านในพิธีมิสซาเป็นเรื่องราวของพระแม่มารีและนักบุญโยเซฟที่ต้องเดินทางจากนาซาเรธมายังเบธเลเฮม เพื่อจดทะเบียนสำมะโนครัวตามคำสั่งของจักรพรรดิ ซีซาร์ ออกุสตุส แห่งจักรวรรดิโรมัน

“ดังนั้นจึงมีรอยเท้าของคนอีกมากมายที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้รอยเท้าของโยเซฟและพระแม่มารี เราได้เห็นร่องรอยของคนนับล้านๆ ที่ไม่ได้ต้องการจากมา แต่ถูกขับไล่ออกจากดินแดนของพวกเขา และต้องทิ้งบุคคลอันเป็นที่รักเอาไว้เบื้องหลัง” โป๊ปฟรานซิสตรัส

แม้แต่คนเลี้ยงแกะซึ่งพระคัมภีร์ไบเบิลระบุว่าเป็นกลุ่มแรกที่ได้เห็นพระเยซูในวัยทารก “ก็ยังถูกจัดอยู่ในอันดับล่างสุดของสังคม” เพราะคนทั่วไปเห็นว่าต่ำต้อยสกปรก “ทุกอย่างในตัวพวกเขาก่อให้เกิดความหวาดระแวง และเป็นพวกที่ใครๆ ก็ไม่อยากเข้าใกล้เพราะกลัว”

พระสันตะปาปาทรงเรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันสร้าง “จินตนาการใหม่ในสังคม... ซึ่งจะไม่มีใครเลยที่รู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีที่สำหรับพวกเขา”

โป๊ปฟรานซิสซึ่งมีพระชนมายุ 81 พรรษา และประสูติในชุมชนผู้อพยพอิตาเลียนที่อาร์เจนตินา ทรงถือเอาการแก้ไขปัญหาผู้อพยพเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของพระองค์เอง ซึ่งทำให้พระองค์ต้องทรงขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองอยู่บ่อยๆ

เซบาสเตียน คูร์ซ นายกรัฐมนตรีออสเตรีย ประกาศเข้าข้างเพื่อนบ้านในยุโรปกลางเช่น ฮังการีและสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งคัดค้านแนวคิดของเยอรมนีที่ต้องการสร้างระบบโควตาบังคับให้รัฐสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ต้องร่วมกันรับผิดชอบดูแลผู้อพยพ

ผลการเลือกตั้งในเยอรมนีเมื่อเดือน ก.ย. ปรากฏว่าพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ซึ่งชูแนวคิดขวาจัดและต่อต้านผู้อพยพกวาดคะแนนเสียงได้มากเป็นประวัติการณ์ สะท้อนถึงความไม่พอใจที่ประชาชนมีต่อนโยบายเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัยของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล และทำให้นโยบายคนเข้าเมืองกลายเป็นวาระสำคัญอันดับ 1 ในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่

พรรคนอร์เทิร์นลีกของอิตาลีซึ่งมีจุดยืนต่อต้านผู้อพยพก็คาดว่าจะโกยคะแนนท่วมท้นในศึกเลือกตั้งปีหน้า ในขณะที่กฎหมายว่าด้วยการให้สัญชาติอิตาลีแก่บุตรของผู้อพยพก็ยังไม่ผ่านสภา

โป๊ปฟรานซิสตรัสถึงประเด็นนี้ว่า “เอกสารความเป็นพลเมืองของเรา” มาจากพระเจ้า ดังนั้น การให้เกียรติแก่ผู้อพยพจึงเป็นส่วนหนึ่งของคริสตศาสนา

“นี่คือความสุขที่เราถูกเรียกร้องให้แบ่งปัน เฉลิมฉลอง และประกาศออกไปในค่ำคืนนี้ ความสุขที่พระเจ้าผู้ทรงเมตตากรุณาอย่างไม่สิ้นสุดได้ทรงโอบกอดพวกเราไม่ว่าจะเป็นคนนอกศาสนา ผู้มีบาป หรือว่าชาวต่างชาติ และทรงเรียกร้องให้เราทำเหมือนๆ กัน”

โป๊ปยังทรงประณามแก๊งค้ามนุษย์ที่แสวงหาความร่ำรวยจากผู้อพยพว่าเหมือนกับ “กษัตริย์เฮโรดยุคปัจจุบัน” โดยทรงหมายถึงกษัตริย์โรมันที่สั่งฆ่าทารกเพศชายทุกคนที่เกิดใกล้เมืองเบธเลเฮม เพราะเกรงว่าวันหนึ่งพระเยซูคริสต์จะมาล้มราชบัลลังก์

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีผู้อพยพกว่า 14,000 คนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเรืออับปาง ขณะพยายามข้ามทะเลเมดิเตอร์เนียนไปยังทวีปยุโรป





กำลังโหลดความคิดเห็น