เอเอฟพี - สื่อมวลชนตีข่าวสับสนกรณีศาลสเปนในวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.) อนุมัติหมายจับสหภาพยุโรปตามคำร้องขอของอัยการ สำหรับนายคาร์เลส ปุยจ์เดอมองต์ อดีตประธานาธิบดีกาตาลุญญา หลังจากเขาไม่ยอมมาให้ปากคำตามคำสั่งศาลเกี่ยวกับบทบาทของเขาในความพยายามผลักดันแยกตัวเป็นเอกราช ขณะเดียวกันทางผู้พิพากษาได้สั่งควบคุมตัวสมาชิกคณะบริหารแคว้น 8 คนระหว่างการสืบสวนเพิ่มเติม
ในพัฒนาการของวิกฤตทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดของสเปนในรอบหลายทศวรรษ อัยการในมาดริดร้องขอให้ศาลเห็นชอบออกหมายจับ ปุยจ์เดอมองค์และสมาชิกคณะบริหารของเขา 4 คน ที่เชื่อว่าทั้งหมดอยู่ในเบลเยียม หลังจากไม่ยอมมาให้ปากคำตามคำสั่งศาล
แหล่งข่าวเผยว่าการขอหมายจับมีขึ้นหลังจาก ปุยจ์เดอมองต์ ประกาศอย่างเปิดเผยถึงเจตนาไม่มาให้ปากคำ โดยเขาและอดีตรัฐมนตรีอีก 2 คนขอให้ปากคำผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ “แต่กลับไม่ได้ให้ข้อมูลว่าพวกเขาพำนักอยู่ที่ใด”
ขณะเดียวกันอัยการยังได้ร้องขอควบคุมตัวเชิงป้องกันคณะบริหาร 8 คนของปุยจ์เดอมองต์ ที่ปฏิบัติตามหมายเรียก เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาปลุกระดม, ก่อกบฏ และใช้เงินของรัฐผิดวัตถุประสงค์
โดยรวมแล้วมีอดีตคณะบริหารแคว้นกาตาลุญญา 19 คน รวมถึงปุยจ์เดอมองต์, โอริโอล ฮุนเกราว รองประธานาธิบดีกาตาลุญญาและประธานสภาแคว้นกาตาลุญญา ที่ถูกเรียกตัวไปสอบปากคำในวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.)
ศาลสูงเลื่อนพิจารณาคดีประธานรัฐสภาและอดีตคณะบริหารแคว้นกาตาลุญา 5 รายออกไปเป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน หลังจากทนายความของพวกเขาขอเวลาเตรียมการแก้ต่างเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามผู้พิพากษา ณ ศาลแห่งชาติ กำลังเดินหน้าอีกกระบวนการในการพิจารณาออกหมายจับ ปุยจ์เดอมองต์ และอดีตคณะบริหารที่เหลือของเขา โดยผู้พิพากษา คาร์มอง ลาเมลา มีกำหนดวินิจฉัยในช่วงเย็นวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.)
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาหนังสือพิมพ์ลา บานการ์เดีย สื่อมวลชนในบาร์เซโลนา รายงานว่าศาลสูงอนุมัติหมายจับตามคำขอของอัยการแล้ว แต่ทางโฆษกของศาลยังไม่ยืนยันรายงานข่าวดังกล่าว
ต่อมาความสับสนเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลก็บังเกิดขึ้น เมื่อรอยเตอร์อ้างแห่งข่าวใกล้ชิดกับศาลระบุว่าผู้พิพากษาสเปนจะยังไม่ออกหมายจับสหภาพยุโรปอดีตประธานาธิบดีแคว้นกาตาลุญญาในวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.)
ภายใต้กฎหมายสเปน ข้อหากบฏมีโทษสูงสุดคือจำคุก 30 ปี ส่วนข้อหาปลุกระดมมีโทษสูงสุด 15 ปี
ระหว่างเดินทางมาถึงศาลในวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.) พวกผู้นำแคว้นกาตาลุญญา ซึ่งถูกปลดโดยมาดริดเมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.) หลังรัฐสภาแคว้นประกาศเอกราช ได้รับเสียงเชียร์จากฝ่ายสนับสนุน แต่ก็ถูกโห่โดยฝ่ายตรงข้ามที่โบกธงชาติสเปน
จากนั้นในเวลาต่อมา ศาลมีคำสั่งควบคุมตัวอดีตคณะบริหารกาตาลุญญา 8 คน ระหว่างการสืบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของพวกเขาต่อความพยายามประกาศเอกราชของทางแคว้น โดยในบรรดาอดีตคณะบริหารที่ถูกส่งตัวเข้าคุกโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ก็คืออดีตรองประธานาธิบดีฮุนเกราว
ส่วนรัฐมนตรีแคว้นอีกคน ที่ลาออกไปไม่นานก่อนรัฐสภากาตาลุญญาจะประกาศเอกราชเมื่อวันศุกร์ (27 ต.ค.) ยังถูกควบคุมตัวไว้เช่นกัน แต่จะได้รับอิสระเมื่อเขาจ่ายเงินประกันตัว 50,000 ยูโร
กาตาลุญญาต้องการแยกตัวเป็นเอกราชตั้งแต่หลายศตวรรษก่อน แต่ทวีความพยายามมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ทำให้ชาวกาตาลุญญาขุ่นเคืองต่อภาษีของพวกเขาที่ต้องจ่ายให้มาดริด
รัฐบาลของปุยจ์เดอมองต์ เดินหน้าจัดลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม แม้ถูกห้ามจากศาล และการประกาศเอกราชโดยรัฐสภาแคว้นกาตาลุญญามีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว
แม้การประกาศเอกราชจะได้รับการตอบรับด้วยบรรยากาศเฉลิมฉลองบนท้องถนนในบาร์เซโลนา แต่ในวันเดียวกันนั้น รัฐบาลสเปนของนายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย สั่งปลดรัฐบาลแคว้นและใช้มาตรการเข้าบริหารแคว้นปกครองตนเองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งนี้โดยตรง พร้อมกับประกาศจัดการเลือกตั้งระดับแคว้นใหม่ในวันที่ 21 ธันวาคม