เอเอฟพี - ศาลอาญาสเปนออกหมายเรียก “ปุยจ์เดมองต์” ไปให้การ หลังจากผู้นำแบ่งแยกดินแดนกาตาลุญญาที่ถูกปลดผู้นี้ เพิ่งไปปรากฏตัวในบรัสเซลส์ไม่กี่ชั่วโมง โดยยืนยันว่า ตนยังคงเป็น “ประธานาธิบดีที่ชอบธรรม” ของกาตาลุญญา ที่บัดนี้อยู่ภายใต้การปกครองของมาดริดโดยตรง ขณะเดียวกัน แม้ผลสำรวจล่าสุดพบชาวแคว้นนี้จำนวนมากขึ้นสนับสนุนการแยกตัวจากสเปน แต่ในหมู่แกนนำการเคลื่อนไหวประกาศเอกราชกลับมีอาการคล้ายถอดใจ และหันไปโฟกัสการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นแทน
ในวันอังคาร (31 ต.ค.) ศาลพิเศษแห่งชาติสเปนในกรุงมาดริดที่ดูแลคดีอาญาสำคัญ ออกหมายเรียกคาร์เลส ปุยจ์เดมองต์ และอดีตสมาชิกคณะบริหารกาตาลุญญาอีก 13 คน ที่ถูกรัฐบาลสเปนปลดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไปให้ปากคำในวันพฤหัสบดี และศุกร์ (2 - 3 พ.ย.) นี้ ซึ่งคาดว่า จะมีการเริ่มการสอบสวนอย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ (30 ต.ค.) อัยการสูงสุดสเปน เผยว่า กำลังเสนอฟ้องกลุ่มผู้นำแบ่งแยกดินแดนกาตาลุญญาข้อหากบฎ ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุก 30 ปี รวมถึงข้อหาปลุกปั่นให้ประชาชนต่อต้านอำนาจรัฐ และใช้เงินของรัฐผิดวัตถุประสงค์
ทางด้านปุยจ์เดมองต์จัดแถลงข่าวจากกรุงบรัสเซลส์ในวันอังคาร (31) ว่า ตนเดินทางไปเมืองหลวงของเบลเยียมและเมืองศูนย์กลางเชิงสถาบันของสหภาพยุโรป (อียู) แห่งนี้ เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี รวมทั้งเพื่ออธิบายปัญหาของกาตาลุญญา และประชาธิปไตยที่ไร้ประสิทธิภาพอย่างรุนแรงของสเปน
เขายังประณามว่า ระบบยุติธรรมของสเปนขาดความเป็นธรรมและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง พร้อมกันนี้ยังยืนยันว่า ไม่มีแผนขอลี้ภัย แต่เขาและอดีตรัฐมนตรีอีกหลายคนที่เดินทางไปด้วยกันจะกลับกาตาลุญญาต่อเมื่อได้รับการรับประกันว่า การดำเนินคดีตามกฎหมายจะมีความเป็นธรรม
อย่างไรก็ดี หากปุยเดมองต์และอดีตรัฐมนตรีเหล่านั้น ไม่ไปปรากฏตัวที่ศาลตามหมายเรียก อัยการสเปนอาจสั่งจับกุม โดยหากคนทั้งหมดยังอยู่ในเบลเยียม สเปนก็อาจออกหมายจับระหว่างประเทศ
ศาลพิเศษของสเปนยังให้เวลาปุยจ์เดมองต์และอดีตรัฐมนตรี 3 วัน ในการวางมัดจำค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจำนวน 7.2 ล้านดอลลาร์
ทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญล่าสุดในเหตุการณ์การเรียกร้องประกาศเอกราชของกาตาลุญญาที่นำไปสู่วิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของสเปนในรอบหลายทศวรรษ
ภายในกาตาลุญญาเองนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อประกาศเอกราชสร้างความแตกแยกอย่างรุนแรง กล่าวคือแม้ผลการทำประชามติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม บ่งชี้ความต้องการในการแยกตัวจากสเปน แต่ศาลสูงสุดของสเปนวินิจฉัยว่า การลงคะแนนดังกล่าวผิดกฎหมาย ที่สำคัญผู้ออกไปใช้สิทธิ์ยังมีเพียง 43% ของประชากรทั้งหมดของกาตาลุญญา
ทว่า ปุยจ์เดมองต์ยืนกรานว่า ผลการทำประชามติให้อำนาจรัฐสภากาตาลุญญาประกาศเอกราชเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (27 ต.ค.) ผลักดันให้นายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราฮอย ของสเปน บังคับใช้มาตรา 155 ตามรัฐธรรมนูญสเปนเข้ายึดอำนาจและปลดคณะบริหารกาตาลุญญา รวมทั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 21 ธันวาคม
ในวันอังคาร ศาลสูงสุดของสเปนยังสั่งระงับการประกาศเอกราชของรัฐสภากาตาลุญญา และออกหมายเรียกอดีตประธานสภาผู้แทนของแคว้นนี้เพื่อสอบสวนอย่างเป็นทางการ
ขณะเดียวกัน กำลังตำรวจสเปนบุกค้นสำนักงานตำรวจกาตาลุญญา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อประกาศเอกราช
ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์กันว่า ผู้นำและข้าราชการพลเรือนของกาตาลุญญาอาจเพิกเฉยต่อคำสั่งของมาดริด แต่เอนริก มิลโญ ผู้แทนของรัฐบาลสเปนในกาตาลุญญา ยืนยันว่า ไม่พบการขัดขืนจากข้าราชการพลเรือนใดๆ
ถึงแม้ดูเหมือนวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ชาวกาตาลุญญาจำนวนมากเอนเอียงสนับสนุนการประกาศเอกราช โดยผลสำรวจที่จัดทำขึ้นในเดือนที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ชาวแคว้นนี้ 48.7% ต้องการแยกตัวจากสเปน และ 43.6% เห็นตรงกันข้าม เทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ 50% คัดค้านการประกาศเอกราช และ 41.1% สนับสนุน
กระนั้น ซานตี วีลา อดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งกาตาลุญญา ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุท้องถิ่นเมื่อวันอังคาร (31) ว่า รัฐบาลของปุยจ์เดมองต์อยู่ภายใต้ภาพลวงตา ว่า การแยกตัวทำได้ง่ายๆ ทั้งที่ไม่มีความพร้อมในการบริหารประเทศในฐานะสาธารณรัฐเอกราชเลย
สอดคล้องกับ “เอกสารปกขาว” ของสภาที่ปรึกษาเพื่อการถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติของกาตาลุญญา ที่เตือนก่อนหน้านี้ว่า ความสำเร็จในการประกาศเอกราชฝ่ายเดียวจะขึ้นอยู่กับว่า สาธารณรัฐที่สถาปนาขึ้นมีการบริหารและการปกครองอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
ที่บรัสเซลส์ ปุยจ์เดมองต์ แถลงว่า ไม่ต้องการให้ข้าราชการพลเรือนกาตาลุญญาตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก และการเคลื่อนไหวเพื่อประกาศเอกราชควร “ชะลอไว้ก่อน” เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม เขาสำทับว่า ยอมรับ “การท้าทาย” ในการเลือกตั้งวันที่ 21 เดือนหน้า และขอให้มาดริดเคารพเสียงส่วนใหญ่ของชาวกาตาลุญญาเช่นเดียวกัน
ทว่า แหล่งข่าวของรัฐบาลสเปนในบาร์เซโลนา เมืองหลวงของกาตาลุญญา แสดงความเห็นว่า การเคลื่อนไหวเพื่อประกาศเอกราชไม่ใช่แค่ “ชะลอไว้ก่อน” แต่ “หยุดสนิท”
ซานดรา ลีออน นักวิเคราะห์การเมืองที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยยอร์กของอังกฤษ เห็นด้วยว่า บรรดาผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนขณะนี้ไม่ได้โฟกัสที่สาธารณรัฐใหม่อีกต่อไป แต่กำลังสนใจการเลือกตั้งที่กำลังจะจัดขึ้น
โฆเซ มอนตีญา อดีตประธานาธิบดีกาตาลุญญา ที่สนับสนุนแนวทางสังคมนิยมและต่อต้านลัทธิชาตินิยม กล่าวหารัฐบาลกาตาลุญญาที่ถูกปลดว่า หลอกขายฝันให้ประชาชนในสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจว่า เป็นไปไม่ได้