รอยเตอร์ - สหรัฐฯ เลี่ยงที่จะกล่าวหาจีนเป็น “นักปั่นค่าเงิน” (currency manipulator) ในรายงานที่เผยแพร่ล่าสุดเมื่อวานนี้ (17 ต.ค.) แต่ยังคงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของแดนมังกร ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเดินทางเยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย.
ในรายงานการทบทวนสกุลเงินทั่วโลกซึ่งจะออกทุกครึ่งปี กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ชี้ว่า ไม่มีประเทศใดในโลกเข้าข่ายมีพฤติกรรมปั่นค่าเงิน แต่ยังคงจีนเอาไว้ใน “บัญชีเฝ้าระวัง” แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนจะเกินดุลน้อยลงมาตั้งแต่ปี 2016 ก็ตาม นอกจากนี้ สกุลเงินเหรินหมินปี้ หรือหยวน ของจีนก็แข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ หลังจากที่มีแนวโน้มอ่อนยวบตลอดช่วง 3 ปีก่อนหน้า
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังอ้างถึงการที่จีนได้เปรียบดุลการค้ากับอเมริกามากมายผิดปกติ
“กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังรู้สึกกังวลที่จีนไม่พยายามลดความได้เปรียบดุลการค้าลงเท่าที่ควร... จีนยังคงใช้นโยบายหลายอย่างเพื่อจำกัดการเข้าถึงตลาดสินค้าและบริการนำเข้า”
สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจีนถึง 34,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ส.ค. ซึ่งเกือบจะสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 2 ปี
ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ยังคงมีชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าระวังของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับรายงานฉบับก่อนหน้าเมื่อเดือน เม.ย. ส่วนไต้หวันได้รับการถอดชื่อออก เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าไทเปลดมาตรการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนลง
ระหว่างเดินสายหาเสียงเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์ กล่าวหาจีนว่า “ขโมย” ตำแหน่งงานและความเจริญรุ่งเรืองของสหรัฐฯ ด้วยการปั่นค่าเงินหยวนให้อ่อนเข้าไว้ พร้อมให้สัญญาว่าจะตราหน้าจีนเป็นนักปั่นค่าเงินตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจากับปักกิ่งเป็นกรณีพิเศษ หรือไม่ก็บทลงโทษทางภาษี และอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำวิพากษ์เสียดสีจีนที่ออกมาจากปาก ทรัมป์ นั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เขาสาบานตนเป็นผู้นำสหรัฐฯ เมื่อเดือน ม.ค.
ทรัมป์ เรียกร้องให้ปักกิ่งช่วยใช้อิทธิพลบีบเกาหลีเหนือให้ยกเลิกโครงการอาวุธทำลายล้างสูง และยังมีแผนไปเยือนปักกิ่งเพื่อหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ด้วย
นักวิเคราะห์ตลาดเงินตราส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังอยู่แล้วว่า ทรัมป์จะยกประเด็นนี้มาเล่นงานจีนในช่วงที่วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือกำลังระอุ
“เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขอความร่วมมือจากจีนให้ได้มากที่สุดในประเด็นเกาหลีเหนือ และการตราหน้าจีนว่าเป็นนักปั่นค่าเงินก็คงไม่ใช่หนทางที่ดีนัก... นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังมีเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงในการระบุว่าใครเป็นนักปั่นค่าเงินหรือไม่ และในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าพฤติกรรมของจีนไม่ได้เข้าเกณฑ์เหล่านั้น ” โจเซฟ เทรวิซานี นักยุทธศาสตร์ด้านการตลาดอาวุโสจากเวิลด์ไวด์มาร์เกตส์ ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ระบุ
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังเอ่ยพาดพิงถึงนโยบายตรึงค่าเงินหยวนของจีนในอดีต แต่ยอมรับว่าระยะหลังๆ มานี้ปักกิ่งพยายามป้องกันไม่ให้เงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างเฉียบพลันซึ่งเป็นผลดีต่อสหรัฐฯ
จีนเคยปล่อยเงินหยวนอ่อนค่าลงกว่า 12% เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐตลอดระยะเวลา 3 ปี ทว่าปีนี้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเกือบ 5%
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังคงยึด 3 เกณฑ์หลักที่รัฐบาล บารัค โอบามา ได้กำหนดไว้สำหรับพิจารณาว่าประเทศหนึ่งๆ มีพฤติกรรมปั่นค่าเงินหรือไม่ ได้แก่
1) ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ตั้งแต่ 20,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป
2) มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างน้อย 3% ของจีดีพี
3) พยายามแทรกแซงค่าเงินของตนเองด้วยการซื้อสินทรัพย์ในสกุลเงินต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2% ของจีดีพี ในระยะเวลา 12 เดือน
ในรอบการทบทวนครั้งล่าสุดไม่มีประเทศใดที่เข้าเกณฑ์ครบทั้ง 3 ข้อ ส่วนประเทศที่มีพฤติกรรมเข้าเกณฑ์อย่างน้อย 2 ข้อ หรือได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ อย่างไม่สมเหตุสมผล จะถูกใส่ไว้ใน “บัญชีเฝ้าระวัง” อย่างน้อย 2 รอบการทบทวน “เพื่อให้มั่นใจว่ามีการปรับปรุงพฤติกรรมอย่างยั่งยืน”