เอพี/เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เปิดห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวในวันจันทร์ (2 ต.ค.) เพื่อต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้ขึ้นสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหาร โดยเขากล่าวยกย่องชมเชยความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นระหว่างอเมริกากับไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย แต่ไม่ได้เอ่ยถึงการปกครองเผด็จการของทหารในประเทศนี้
การพบหารือกันครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญของนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดี ทรัมป์ โดยหันมาเน้นย้ำเรื่องการค้าและผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของอเมริกัน มากกว่าความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในชาติ ซึ่งสหรัฐฯติดต่อสัมพันธ์ด้วย
ทรัมป์และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ นางเมลาเนีย ทรัมป์ ให้การต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ และภริยา นางนราพร จันทร์โอชา ที่หน้ามุกทางด้านใต้ (South Portico) ของทำเนียบขาว ขณะที่ผู้นำไทยผู้นี้เดินทางมาถึงเพื่อการหารือและการรับประทานอาหารกลางวัน พร้อมกับทำงานไปด้วย การเยี่ยมเยียนครั้งนี้เกิดขึ้น 3 ปี หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ เข้ายึดอำนาจ และไม่กี่วันหลังจากนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งรัฐบาลของเธอถูกเขาโค่นล้ม ได้ถูกศาลตัดสินลงโทษโดยที่เธอไม่ได้มาปรากฏตัว ให้จำคุกเธอเป็นเวลา 5 ปี
ทรัมป์ กล่าวว่า การมาเยือนของนายกรัฐมนตรีไทย ถือเป็น “เกียรติยศอันยิ่งใหญ่” และกล่าวว่า “เรามีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานและเต็มไปด้วยเรื่องราวกับประเทศไทย” ทรัมป์ กล่าวในห้องทำงานรูปไข่ขณะนั่งอยู่ข้างๆ พล.อ.ประยุทธ์ โดยอ้างอิงถึงความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ชาติ ที่ยืนยาวมาร่วมๆ 2 ศตวรรษ
“เรากำลังเพิ่งเอ่ยถึง แอนดรูว์ แจ๊กสัน --ผู้ซึ่งอยู่บนผนังนี่-- คือ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (สหรัฐฯ) เมื่อตอนที่พวกเราเริ่มแรกพัฒนาความสัมพันธ์อันใหญ่ยิ่งนี้” ทรัมป์ กล่าว ทั้งนี้ เขากำลังพูดถึงภาพถ่ายที่ประดับอยู่บนผนังของห้องทำงานรูปไข่ โดยที่ แอนดรูว์ แจ๊กสัน ยังเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีอเมริกันซึ่งทรัมป์แสดงความชื่นชอบด้วย
ทรัมป์ บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับไทยนี้ ได้มีความคืบหน้าไปนับตั้งแต่ที่เขาเข้าดำรงตำแหน่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา
“ดังนั้น เราจึงมีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงมากในเวลานี้ ณ ขณะนี้ และมันกำลังแข็งแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 9 เดือนหลังสุดนี้” เขากล่าว พร้อมกับเน้นย้ำถึงความสำคัญของสายสัมพันธ์ทางการค้า ซึ่งมีมูลค่ารวม 40,000 ล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว โดยที่สหรัฐฯเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าอยู่ 19,000 ล้านดอลลาร์
“ความสัมพันธ์ของเราในเรื่องการค้ากำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไทยเป็นประเทศยิ่งใหญ่ที่จะทำมาค้าขายด้วย” ทรัมป์ บอกกับนายกรัฐมนตรีไทยต่อหน้าพวกผู้สื่อข่าว “ผมคิดว่าเรากำลังใช้ความพยายามเพื่อขายอะไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยให้แก่พวกคุณในตอนนี้ ทำให้มันดีขึ้นมาบ้างสักนิดหน่อยถ้าหากมีความเป็นไปได้”
ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การได้มาเยี่ยมเยียนทรัมป์ ถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับรัฐบาลของเขาและประชาชนชาวไทย เขาบอกว่า เขามองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับการเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงทางด้านกลาโหมและความมั่นคงด้วย ทั้งนี้ “เพื่อช่วยรับประกันว่าพลเมืองของพวกเราจะได้รับการคุ้มครองปกป้องจากลัทธิก่อการร้ายและภัยคุกคามอย่างอื่นๆ” เขากล่าวด้วยว่า ทั้งสองประเทศจะทำงานกันอย่างใกล้ชิดในเรื่อง “ประเด็นปัญหาต่างๆ ในระดับภูมิภาคซึ่งเป็นที่สนใจ”
“ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยการนำของท่านประธานาธิบดี เราจะสามารถจัดการกับปัญหาทั้งหมดเหล่านี้” พล.อ.ประยุทธ์ บอก
ในเวลาต่อมา รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย ก็ได้กล่าวยกย่องการพบปะหารือระหว่างทรัมป์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ต้องถือ “เป็นเรื่องพิเศษ”
“มันแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจเป็นพิเศษที่มีต่อนายกรัฐมนตรีของไทย” รัฐมนตรีดอน กล่าวกับสื่อมวลชนของทางการไทย ซึ่งเดินทางร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรี
รัฐมนตรีต่างประเทศไทยยังใช้การเยือนคราวนี้ เป็นโอกาสที่จะยกย่องชมเชยความสำเร็จต่างๆ ของรัฐบาลของเขา “ถ้าเราไม่ได้ทำสิ่งที่ดีแล้ว พวกเขาก็อาจจะไม่เชื้อเชิญเราหรอก” เขากล่าว
สำนักข่าวเอเอฟพี ชี้ว่า การที่ทรัมป์เชื้อเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ มาเยือนทำเนียบขาวคราวนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการที่ไทยมีความสัมพันธ์ทางทหารอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับจีน
พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของสหรัฐฯกำลังห่วงใยเรื่องที่ไทยซื้ออาวุธจำนวนมากจากจีน และการที่สหรัฐฯกำลังสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงท่าเรือทางทหารต่างๆ ของไทย ซึ่งเป็นท่าเรือที่เชื่อถือได้เพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งอันยาวเหยียดจากภาคเหนือของจีน, ผ่านเวียดนามไปจนถึงมาเลเซีย
นอกจากนั้น พวกเขายังแสดงความขุ่นเคืองไม่หยุดหย่อน ว่า พวกนายพลของไทยรุ่นที่เคยทำงานเคียงข้างกองทหารสหรัฐฯในเวียดนามนั้น เวลานี้กำลังถูกแทนที่ด้วยนายทหารรุ่นหนุ่มกว่าและโฟกัสที่จีนมากกว่า
เมอร์เรย์ ฮีเบิร์ต แห่งศูนย์กลางเพื่อยุทธศาสตร์และการระหวางประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) กลุ่มคลังสมองที่ตั้งสำนักงานในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า “การพบปะระหว่างประยุทธ์กับทรัมป์เพียงครั้งเดียว ไม่น่าจะเยียวยาความรู้สึกเจ็บช้ำในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองของไทยได้หมดสิ้นหรอก”
“แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้เป็นไปได้สำหรับสหรัฐฯที่จะแข่งขันกับจีนอีกครั้งเพื่อส่งอิทธิพลเข้าสู่ประเทศ ซึ่งมีที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์โดยอยู่ตรงหัวใจของแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
เรื่องสิทธิมนุษยชน
พวกกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้แสดงท่าทีคัดค้านการมาเยือนของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้เข้ายึดอำนาจในปี 2014 เพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยภายหลังเกิดความปั่นป่วนผันผวนทางการเมืองอย่างรุนแรงในประเทศไทย เวลานี้ความไม่สงบได้บรรเทาหดหายไปแล้ว ทว่า คณะทหารผู้ปกครองประเทศก็ได้เข้ากดดันเล่นงานพวกที่ไม่เห็นด้วยกับทางการ รวมทั้งถ่วงเวลาในการจัดการเลือกตั้งในประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่มีชีวิตชีวาที่สุดในเอเชีย ปัจจุบันพรรคการเมืองต่างๆ ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว และคาดกันว่าการเลือกตั้งไม่น่าจะมีขึ้นก่อนปี 2018
หลังจากการรัฐประหารในไทย สหรัฐฯภายใต้ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ยุติการให้ความช่วยเหลือและโครงการฝึกอบรมทหารต่างๆ ซึ่งที่สำคัญแล้วถือเป็นฝีก้าวในเชิงสัญลักษณ์ ทว่า กลับก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างเลวร้ายจากกรุงเทพฯ ผู้เป็นพันธมิตรชนิดที่มีการทำสนธิสัญญาผูกพันระหว่างกันกับสหรัฐฯ แต่กำลังขยับเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ความสัมพันธ์กับวอชิงตันเกิดความขมึงตึง จวบจนกระทั่งภายใต้ประธานาธิบดี ทรัมป์ สหรัฐฯจึงได้มองหาทางฟื้นฟูสายสัมพันธ์ความผูกพันในระดับสูง รวมทั้งอนุญาตให้ขายอาวุธอเมริกันแก่ไทยเพิ่มมากขึ้น
โฆษกผู้หนึ่งของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งมิได้รับมอบอำนาจให้พูดในที่สาธารณะเกี่ยวกับการวางแผนการเยือนครั้งนี้ และดังนั้นจึงขอให้สงวนนาม ได้เปิดเผยกับเอพี ว่า สหรัฐฯจะยังคงรบเร้าต่อไปเพื่อให้ไทยหวนกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม ตลอดจนฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพต่างๆ ของประชาชน เขาไม่ขอพูดว่าทรัมป์ได้หยิบยกประเด็นต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ แต่กล่าวว่า ทรัมป์อาจจะหารือในเรื่องวิธีการที่จะทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ - ไทย มีความเข้มแข็งมากขึ้น
การที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะพบปะหารือกับผู้เผด็จการของประเทศต่างๆ ในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดธรรมดาแต่อย่างไร ทว่า การพบปะกับผู้นำที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหารนั้น เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันมากยิ่งกว่าปกติ
บางทีตัวอย่างที่ได้เกิดขึ้นในระยะหลังๆ มานี้ ซึ่งพอจะหยิบยกขึ้นเปรียบเทียบกับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ได้อย่างใกล้ชิดที่สุด น่าจะเป็นกรณีของ พล.อ.เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ อดีตผู้บัญชาการทหารบกปากีสถาน ซึ่งได้กลายเป็นพันธมิตรสนิทคนหนึ่งของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ในการทำสงครามต่อสู้การก่อการร้าย มูชาร์รัฟเดินทางเยือนทำเนียบขาวครั้งแรกเมื่อปี 2002 หรือ 3 ปีหลังจากเขายึดอำนาจจากผู้นำคนที่ขึ้นสู่ตำแหน่งโดยได้รับการเลือกตั้ง รวมทั้งเป็นการไปเยือนก่อนที่เขาจะมีฐานะแน่นหนายิ่งขึ้นจากการจัดลงประชามติทั่วประเทศเพื่อรับรองการเป็นประธานาธิบดีของเขา
ตัวทรัมป์เองนั้นได้เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเพื่อเดินฝ่าทะลุเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการไปแตะมือกับพวกผู้นำต่างประเทศที่เป็นจอมเผด็จการ ขณะพยายามหาทางค้ำจุนความเป็นพันธมิตรอันยาวนานที่อเมริกามีอยู่กับชาติเหล่านั้น
เขาได้กล่าวยกย่องประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ ในการทำสงครามปราบปรามยาเสพติดที่มีผู้ถูกฆ่าตายไปหลายพันคน ทั้งนี้ ตามบันทึกข้อความการสนทนาทางโทรศัพท์ของผู้นำทั้งสองในเดือนเมษายนซึ่งได้รั่วไหลออกมาสู่สื่อมวลชน ในเดือนเดียวกันนั้นเอง ทรัมป์ได้ต้อนรับประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตอห์ เอล-ซิซซี แห่งอียิปต์ ที่ทำเนียบขาว ซึ่งเป็นสิ่งที่โอบามาหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด เนื่องจาก เอล-ซิซซี ยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารในปี 2013 แล้วต่อมาจึงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
จอห์น ซิฟตัน แห่งองค์การฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ ทำนายว่า ทรัมป์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ คงจะไม่ได้มีการหารืออย่างเป็นแก่นสารอะไรในเรื่องสิทธิมนุษยชนในการพบกันคราวนี้ “ทรัมป์ยกย่องพวกผู้นำเผด็จการในตลอดทั่วทั้งโลก โดยแทบไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ความลุแก่อำนาจของพวกเขาเลย” ซิฟตัน กล่าว
ด้าน วอลเตอร์ โลห์แมน แห่งมูลนิธิเฮอริเทจ ฟาวน์เดชั่น ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองที่มีแนวคิดเอียงขวา กล่าวว่า ถ้าทรัมป์ได้หยิบยกเรื่องประชาธิปไตยขึ้นมาพูดกับ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว มันก็จะเป็นการพูดกันหลังฉากเสียมากกว่า ซึ่งเขาแสดงความเห็นด้วยโดยบอกว่านี่จะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด ในการรับมือกับประเทศซึ่งอ่อนไหวต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างชาติ
“เราจำเป็นต้องกังวลสนใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่มันไม่สามารถจะเป็นตัวบงการความสัมพันธ์ที่เรามีอยู่กับเหล่าพันธมิตรของเราได้” โลห์แมน กล่าว