เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ให้คำตอบ “ถึงแม้ยิ่งลักษณ์หนี” ไม่ทำให้ปักกิ่งเปลี่ยนใจเชิญผู้นำไทยร่วมประชุมเศรษฐกิจ BRICS พบ “สี-ปูติน” กลายเป็นชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงชาติเดียวที่มีโอกาสร่วม ชี้ปักกิ่งเห็นไทยสำคัญเทียบฮับคมนาคมทางเศรษฐกิจภูมิภาค ยืนยันจากดีลรถไฟความเร็วสูงลงนามมูลค่าทั้งโครงการ 5.2 พันล้านบาท (157 ล้านดอลลาร์) สื่อจีนฟันธง “อดีตนายกฯ หญิง” หนีออกนอกประเทศไม่ทำให้ไทยเสียศูนย์ แม้สื่อนอกรายงานไปทั่ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รับเสียงอ่อย “วงจรปิดชี้คอนวอยยิ่งลักษณ์มุ่งเข้ากัมพูชา”
หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ส์ สื่อสิงคโปร์รายงานล่าสุดว่า ความคืบหน้าอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มาปรากฏตัวต่อศาล พบว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทย ยอมรับทางสาธารณะว่า พบหลักฐานจากกล้องทีวีวงจรปิด บ่งชี้ได้ว่า รถขบวนของอดีตนายกฯ มุ่งหน้าเข้าสู่พรมแดนกัมพูชาจริง
สื่อสิงคโปร์ชี้ว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการที่ทางฝ่ายไทยออกมายอมรับในเรื่องนี้ ซึ่งทางรัฐบาลไทยแถลงว่า “ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า ยิ่งลักษณ์จะตัดสินใจหลบหนี” แต่คำแก้ตัวจากเจ้าหน้าที่กลายเป็นสิ่งที่คนไทยทั่วประเทศยากจะสามารถยอมรับได้
ทั้งนี้ พบว่าในวันศุกร์ (8 ก.ย.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำการเปิดแถลงข่าวถึงหลักฐานกล้องทีวีวงจรปิดเพื่อรายงานความคืบหน้าการสอบสวน โดยในแถลงการณ์ ***พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า กล้อง CCTV ของจุดตรวจทหารที่ จ.สระแก้ว สามารถจับภาพรถคอนวอยของยิ่งลักษณ์ไว้ได้ ****
แต่ในแถลงการณ์ยืนยันว่า ภาพกล้องวงจรปิดไม่ปรากฏภาพของขบวนยิ่งลักษณ์บริเวณจุดตรวจข้ามแดน แต่พบที่บริเวณจุดตรวจทหารที่ จ.สระแก้วเท่านั้น สเตรทไทม์สสิงคโปร์ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้นำกระทรวงกลาโหมไทยไม่ได้เปิดเผยว่า ทหารประจำจุดตรวจได้ทำการตรวจค้นขบวนรถหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม ในรายงานล่าสุดของ MGRออนไลน์ พบว่า ผบ.ตรไทย ไม่ทราบเรื่องกล้องทีวีวงจรปิดทหารจับภาพรถยิ่งลักษณ์ได้ที่จังหวัดชายแดนติดฝั่งกัมพูชาแม้แต่น้อย โดยทางผู้นำตำรวจไทยได้โบ้ยไปที่ฝ่ายความมั่นคงที่มีพลเอกประวิตรนั่งคุม ไม่เกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถมชี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ได้รับติดต่อ หรือรายงานเข้ามา
ทั้งนี้ ในการรายงานของ MGR ออนไลน์ ผบ.ตร พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ยืนยันในวันศุกร์ (8 ก.ย.) ว่าได้สั่งให้รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เป็นผู้รับผิดชอบหากมีรายงานเข้ามาถึง
การหนีออกนอกประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง กลายเป็นความกังขาไปทั่วโลกถึงการไม่มาปรากฎตัวต่อหน้าศาลเมื่อวันที่ 25 ส.ค. เพื่อรับฟังคำตัดสินคดีรับจำนำข้าว
เป็นการเดินทางออกนอกประเทศตามไล่หลังผู้เป็นพี่ชาย อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร โดยหนังสือพิมพ์เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ชี้ว่า ถึงแม้จะมีความสับสนทางสถานการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็ไม่ทำให้ผู้นำจีน ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง เปลี่ยนใจไม่เชิญผู้นำไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าร่วมการประชุมเศรษฐกิจ “BRICS Plus โมเดล” เมื่อวันที่ 3-5 ก.ยที่ผ่านมา
โดยในการวิเคราะห์ของสื่อจีนที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการประชุม 1 วันที่เซียเหมิน เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์กล่าวว่า ท่ามกลางประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด หรือกัมพูชา ประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง พบว่า “ไทย” กลายเป็นตัวเลือกเพียงหนึ่งเดียวในสายตาของปักกิ่ง ที่ได้ทำการส่งเทียบเชิญมายังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกเหนือไปจาก อียิปต์ ทาจิกิสถาน เม็กซิโก และกินีในทวีปแอฟริกา ยังรวมไปถึง 5 ชาติสมาชิกหลักที่นำขบวนโดย รัสเซีย จีน อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้
ทั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีภาพการร่วมประชุมของผู้นำไทยที่มาจากรัฐประหารร่วมอยู่ในการประชุมระดับโลก พร้อมกับภาพการนั่งหารือระดับทวิภาคีร่วมกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และเป็นอีกครั้งที่ผู้นำไทยได้มีโอกาสกระทบไหล่กับผู้นำมหาอำนาจของโลก ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก่อนที่จะได้พบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาวในเดือนหน้า
ซึ่งในรายงานสรุปการแถลงข่าวประจำวันของทำเนียบเครมลินที่ได้รายงานถึงการแถลงของปูตินต่อการประชุม BRICS ในเซียเหมิน พบว่า ปูติน ผู้นำเครมลินมีการกล่าวถึงผู้นำไทยด้วย
โดยประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวในเมืองเซียเหมินว่า “ได้มีโอกาสหารือกับนายกรัฐมนตรีจากไทย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และทางเรากำลังขยายการติดต่อกับด้านเศรษฐกิจกับไทยในเวลานี้ เพราะอย่างเป็นที่ทราบกันดีว่าทางฝ่ายรัสเซียได้เพิ่มการสั่งซื้อยางธรรมชาติจากไทยเป็น 2 เท่า และยังเพิ่มการสั่งซื้อผักและผลมากจากไทยอีก 30-40%”
ผู้นำรัสเซียกล่าวต่อว่า “ในขณะเดียวกัน ทางรัสเซียมีความสนใจที่จะส่งสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงเข้าสู่ตลาดของไทย และนี่คือสิ่งที่เราทั้งคู่ร่วมหารือ”
ทั้งนี้ สื่อไทยภาคภาษาอังกฤษรายงานว่า ในวันสุดท้ายของการประชุม BRICS ที่ได้พบปะกับปูติน ประยุทธ์ได้ออกปากเชื้อเชิญผู้นำรัสเซียมาเยือนไทยในปีหน้าหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียเรียบร้อยแล้ว โดยในรายงานสื่อยุโรป frontnews.eu ได้ชี้ว่า ปูตินกล่าวถึงไทยว่า รัสเซียมีความสนใจมากขึ้นต่อวัฒนธรรมของไทย และอีกทั้งนักท่องเที่ยวรัสเซียมาเยือนไทยเพิ่มขึ้น นี่อาจจะเป็นข่าวดีของฝั่งไทย ซึ่งสื่อจีน เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ชี้ว่า เหตุผลด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไทยอยู่ในรายชื่อแรกๆ ที่ทางปักกิ่งจะส่งเทียบเชิญร่วมประชุม BRICS ในปีนี้
ทั้งนี้ เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ยืนยันว่า สถานการณ์ทางการเมืองไทยไม่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสะดุดแม้แต่น้อย เพราะพบว่ารายได้ทางเศรษฐกิจของไทยในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและส่งออกมีการเติบโตเป็นอย่างมาก โดยในส่วนของการท่องเที่ยวพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 12%
ในขณะที่การส่งออกพบว่า ไทยได้รับจากอานิสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลทำให้ไทยได้รับออเดอร์จากต่างชาติเพิ่ม และสามารถส่งออกได้มากขึ้น คิดเป็น 2 ใน 3 ของของตัวเลขจีดีพีรวมทีเดียว
สื่อจีนยังชี้ว่า ไทยยังมีอีกสถานะซึ่งถือว่ามีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคด้านการคมนาคมต่อเศรษฐกิจจีน โดยเห็นได้จากข้อตกลง 2 ฉบับในการลงนามร่วมกันระหว่างตัวแทนจากฝ่ายจีนและฝ่ายไทยถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่าโดยรวมร่วม 5.2 พันล้านบาท (157 ล้านดอลลาร์) อ้างอิงจากสื่อเซี่ยงไฮ้เดลีวันพฤหัสบดี (7 ก.ย.)
เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ได้ยกความเห็นในเรื่องไทยเป็นฮับทางยุทธศาสตร์การคมนาคมระดับภูมิภาคจากนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำเวิลด์แบงก์ ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา (Kiatipong Ariyapruchya) ว่า “ไทยสามารถมีบทบาทสำคัญในด้านการเป็นศูนย์รวมทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้” โดยทางผู้เชี่ยวชาญจากเวิลด์แบงก์รายนี้เชื่อว่า “ไม่พบปัญหาระดับโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจของไทย”
และตัวเลขความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดจากทางการเมื่อเดือนสิงหาคมยังสนับสนุนในเรื่องนี้ สื่อจีนชี้ โดยพบว่าระบบเศรษฐกิจไทยที่มีการเติบโตสูงสุดในรอบ 4 ปีในไตรมาสที่ 2 ซึ่งอาจคาบเกี่ยวถือเป็นผลงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่เข้ามารับทำหน้าที่ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยได้ยกตัวเลขการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจไปอยู่ที่ 3.5% - 4.0% ประจำปี 2017 หลังจากในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.2%
***แต่กระนั้นความไม่แน่นอนสถานการณ์ทางการเมืองในไทยถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของไทยในเวลานี้ เซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ชี้*** และกล่าวต่อว่า ส่งผลทำให้บรรดาบริษัทสัญชาติไทยลังเลที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศ แต่เลือกที่จะหว่านเม็ดเงินในต่างแดนแทน และจุดนี้ทำให้สื่อจีนชี้ว่า เป็นโอกาสที่ดีของฝ่ายปักกิ่ง ที่ต้องการให้ทางบริษัทไทยขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นในจีน
นอกเหนือไปจากนี้ ประเด็นปัญหาความขัดแย้งทะเลจีนใต้ยังถือเป็นอีกจุดที่ทำให้ทางพลเอกประยุทธ์ได้รับเทียบเชิญ ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่าทางปักกิ่งหวังว่าไทยจะเป็นพันธมิตรเข้าข้างปักกิ่งในปัญหาทะเลจีนใต้
สุดท้ายเซาท์มอร์นิงไชน่าโพสต์ชี้ว่า ประเด็นการขายอาวุธให้ไทยมีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งถือเป็นสัญญาณแสดงความใกล้ชิดระหว่าง 2 ชาติด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ โดยพบว่าฝ่ายไทยได้ทำการสั่งซื้อเรือดำน้ำจากจีนถึง 3 ลำ และพบว่าทั้ง 2 ชาติได้ทำการซ้อมรบร่วมทางอากาศที่เพิ่งเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจีนประจำมหาวิทยาลัยหลิงนาน(Lingnan University) ชาง (Zhang)ได้ย้ำว่า “ปักกิ่งรู้สึกขอบคุณเสมอในการสนับสนุนของฝ่ายไทยต่อผลประโยชน์ของปักกิ่ง” และได้สรุปถึงบทบาทของไทยที่มีในสายตาปักกิ่งว่า “ไทยมีที่ยืนพิเศษในนโยบายต่างประเทศของจีนเสมอ”