เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - รัฐบาลจีนแถลงในวันอังคาร (29 ส.ค.) ว่า ทหารของตนจะยังคงออกลาดตระเวน ในพื้นที่ชายแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยซึ่งพิพาทช่วงชิงอยู่กับภูฏาน และอินเดียก็ส่งทหารเข้ามาประจันหน้ากับแดนมังกรเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน ก่อนที่นิวเดลีจะประกาศในวันจันทร์ (28) ว่าทั้งสองฝ่ายตกลงคลี่คลายปัญหากันได้แล้ว
หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ปฏิเสธไม่เปิดเผยแผนการในอนาคตของปักกิ่ง ในเรื่องโครงการก่อสร้างถนนซึ่งกลายเป็นชนวนเหตุทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างกองทหารจีนกับกองทหารอินเดียเป็นเวลากว่า 2 เดือนในบริเวณที่ราบสูงและหุบเขาห่างไกลไม่มีชาวบ้านอยู่อาศัยของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งฝ่ายอินเดียเรียกชื่อว่า ด็อคลัม (Doklam) ขณะที่ฝ่ายจีนเรียกว่า ต้งหล่าง (Donglang)
โฆษกหญิงผู้นี้กล่าวระหว่างการแถลงข่าวสื่อมวลชนตามวาระปกติว่า เธอได้พูดไว้ตั้งแต่วันจันทร์ (28) แล้วว่า กองทหารชายแดนของจีนจะยังคงประจำการและออกลาดตระเวนในที่ราบสูงด็อคลัมต่อไป รวมทั้งจีนจะยังคงแสดงอำนาจอธิปไตยของตนตามข้อตกลงต่างๆ ที่ได้ทำเอาไว้ในอดีต
การเผชิญหน้ากันระหว่างทหารจีนกับทหารอินเดียเริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน โดยที่นิวเดลีกล่าวหาว่ากองทหารจีนเริ่มต้นสร้างถนนสายหนึ่งในด็อคลัม ซึ่งเป็นดินแดนที่พิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์กันอย่างระหว่างจีนกับภูฏาน ผู้เป็นพันธมิตรของอินเดีย ขณะที่ปักกิ่งระบุว่าฝ่ายตนกำลังสร้างเส้นทางดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเริ่มสร้าง
ทั้งนี้อินเดียเองไม่ได้อ้างอธิปไตยเหนือที่ราบสูงดังกล่าว แต่มีการปรากฏตัวทางทหารในภูฏาน รวมทั้งมองว่าด็อคลัมซึ่งอยู่ใกล้ๆ ชายแดนรัฐสิกขิมของตน มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยที่ผู้สังเกตการณ์บอกว่า ปักกิ่งพยายามขยายถนนที่เป็นปัญหาดังกล่าวไปยังหุบเขาแห่งหนึ่งซึ่งฝ่ายจีนควบคุมอยู่
หุบเขาแห่งนี้แยกอินเดียออกห่างจากภูฏาน และเมื่อจีนยึดเอาไว้จึงทำให้แดนมังกรสามารถที่จะเข้าไปยังบริเวณที่เรียกกันว่า “คอไก่” (Chicken’s Neck) ซึ่งเป็นพื้นที่ยาวๆ แคบๆ ที่เชื่อมระหว่างดินแดนส่วนใหญ่ของอินเดียกับเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของตน
รัฐบาลอินเดียประกาศในวันจันทร์ (28) ว่า ปักกิ่งกับนิวเดลีได้ทำความตกลงกันแล้วที่จะถอนกองทหารชายแดนของทั้งสองฝ่ายให้ออกห่างจากกันในพื้นที่ตรงนั้น และกระบวนการซึ่งกระทำโดยมีการตรวจสอบยืนยันนี้ ใกล้ที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงว่ากองทหารของตนยังคงประจำอยู่ที่นั่น
ในวันอังคาร (29) เมื่อถูกผู้สื่อข่าวซักถามว่าจีนจะยุติการสร้างถนนสายที่เป็นปัญหาในด็อคลัมหรือไม่ หวาตอบว่า “เราจะนำเอาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกๆ อย่าง รวมทั้งเรื่องสภาพอากาศด้วย เข้ามาพิจารณา เมื่อจัดทำแผนการด้านโครงสร้างพื้นฐานใดๆ ก็ตาม ซึ่งก็รวมถึงการสร้างถนน”
ความตึงเครียดทางชายแดนของประเทศทั้งสองได้ผ่อนคลายลงในครั้งนี้ เกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนถึงกำหนดเวลาซึ่งคาดหมายกันว่านายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียจะเดินทางไปจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของประเทศกลุ่มบริกส์ ซึ่งประกอบด้วยบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้
เมื่อถูกซักว่าประเด็นปัญหาเรื่องชายแดนนี้ได้รับการแก้ไขตกลงกัน เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความขัดแย้งในที่ประชุมกลุ่มบริกส์ใช่หรือไม่ โฆษกผู้นี้ตอบเพียงว่า “การรับประกันให้การประชุมซัมมิตคราวนี้ประสบความสำเร็จนั้น เป็นสิ่งที่สนองผลประโยชน์ของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
ทางด้านภูฏานได้ออกมาแถลงแยกต่างหากในวันอังคาร (29) แสดงความโล่งใจที่วิกฤตการณ์ครั้งนี้ดูเหมือนจะสิ้นสุดลงแล้ว
“ภูฏานขอต้อนรับการแยกออกห่างจากกันของทั้งสองฝ่ายจากสถานที่เผชิญหน้ากันในพื้นที่ด็อคลัม” กระทรวงการต่างประเทศภูฎานระบุ
“เราหวังว่าเรื่องนี้จะสร้างคุณูปการให้แก่การธำรงรักษาสันติภาพและความสงบสุข ตลอดจนสถานะเดิมตามแดนชายแดนของภูฎาน, จีน, และอินเดีย โดยเป็นการรักษาปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ที่มีอยู่ระหว่างประเทศทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง”