xs
xsm
sm
md
lg

จีนฮึ่มอินเดียอย่าหลงภาพลวงตา ย้ำให้ถอนทัพจากพรมแดนติดภูฏาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) ทหารจีน(ซ้าย) และทหารอินเดีย(ขวา) กำลังพูดคุยกันบริเวณจุดผ่านแดนนาธูลา ตามแนวชายแดนของสองประเทศเมื่อหลายปีก่อน ขณะที่เวลานี้กองกำลังทั้งสองชาติกำลังเผชิญหน้ากันในบริเวณพื้นที่เทือกเขาหิมาลัยติดต่อกับภูฏาน
เอเจนซีส์ - กระทรวงกลาโหมจีนแถลงเตือนอินเดียในวันจันทร์ (24 ก.ค.) อย่าหวังพึ่งโชคหรือจมอยู่ในมายาภาพ แล้วประเมินความแน่วแน่ของปักกิ่งในการปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนต่ำเกินจริง ท่ามกลางการเผชิญหน้ากันระหว่างกองทหารของทั้งสองฝ่ายที่ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว ในบริเวณพื้นที่เทือกเขาหิมาลัยติดต่อกับภูฏาน

“ความมุ่งมั่นในการปกป้องความมั่นคงและอธิปไตยของชาติของจีนเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำลายได้” อู่ เชียน โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน แถลงเมื่อวันจันทร์ (24) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 90 ปีการก่อตั้งกองทัพปลดแอกประชาชน และสำทับว่า แสนยานุภาพในการปกป้องดินแดนและอธิปไตยของกองทัพเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตามการรายงานของจีนเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กองกำลังรักษาชายแดนของอินเดียได้ข้ามเข้าไปในเขตตงหลางของจีน และขัดขวางการขยายถนนบนที่ราบสูงแห่งนั้น ทั้งนี้ ตงหลาง หรือด็อกลัม เป็นที่ราบสูงบนเทือกเขาหิมาลัยที่อยู่ติดกับรัฐสิกขิมของอินเดีย โดยที่ทั้งจีนและภูฏาน ที่เป็นพันธมิตรของอินเดียต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ราบสูงนี้ และเป็นกรณีพิพาทกันอยู่

หลังจากนั้นกองทหารของอินเดียกับจีนก็เผชิญหน้ากันบริเวณใกล้หุบเขาแห่งหนึ่งที่จีนควบคุมอยู่ โดยหุบเขานี้เป็นพื้นที่ซึ่งขวางกั้นระหว่างอินเดียกับภูฏาน ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ซึ่งทำให้จีนสามารถเข้าถึงดินแดน “คอไก่” (Chicken's Neck) หรือพื้นที่แนวยาวแคบๆ ของอินเดียซึ่งเชื่อมต่อแผ่นดินใหญ่อินเดียกับพวกรัฐที่อยู่ห่างไกลทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตน

ทางฝ่ายอินเดียบอกว่า ได้เตือนจีนแล้วว่า การสร้างถนนสายดังกล่าวซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนร่วมของหลายประเทศ อาจก่อให้เกิดผลต่อเนื่องด้านความมั่นคงที่ร้ายแรง

จีนและอินเดียนั้นมีพรมแดนร่วมกันเป็นระยะทางถึง 3,500 กิโลเมตร นอกจากนั้นจีนยังเป็นพันธมิตรสำคัญและผู้จัดหาอาวุธให้แก่ปากีสถาน ซึ่งเป็นศัตรูกับอินเดีย

อู่ย้ำว่า อินเดียไม่ควรหวังพึ่งโชคลางหรือยึดติดกับภาพลวงตา แต่ต้องถอนทหารชายแดนออกไปก่อนเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย และว่า กองทัพจีนดำเนินมาตรการฉุกเฉินในพื้นที่ดังกล่าวมาหลายครั้งและจะยังคงเพิ่มการมุ่งเน้นการประจำการและการซ้อมรบต่อไป

เขาเรียกร้องให้อินเดียดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด ยุติการยั่วยุ และพบกันครึ่งทางเพื่อร่วมกันปกป้องสันติสุขและความสงบในบริเวณชายแดน

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในวันเดียวกัน ลู่ คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงว่า อาจิต โดวาล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอินเดีย จะเดินทางไปปักกิ่งในสัปดาห์นี้ เพื่อร่วมประชุมเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของกลุ่มบริกส์ ที่ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้

เขาไม่ได้ระบุว่า จะมีการหารือเรื่องปัญหาพรมแดนในการประชุมดังกล่าว ซึ่งมีหยาง เจียฉือ มนตรีแห่งรัฐของจีน เป็นประธานหรือไม่

ลู่แถลงว่า ปักกิ่งคาดหวังที่จะรักษาสันติภาพและเสถียรภาพบริเวณพรมแดนจีน-อินเดีย แต่จะไม่ยอมประนีประนอมในปัญหาอธิปไตยเหนือดินแดน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ก็มีกำหนดเยือนจีนช่วงต้นเดือนกันยายนเพื่อร่วมประชุมสุดยอดบริกส์

ด้านเจ้าหน้าที่อินเดียระบุว่า มีทหารจากทั้งสองฝ่ายราวฝ่ายละ 300 คน ประจันหน้ากันอยู่ในระยะประมาณ 150 เมตรบนที่ราบสูง และเสริมว่า นักการทูตสองประเทศกำลังซุ่มหารือกันเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์การเผชิญหน้าลุกลาม พร้อมกล่าวด้วยว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำปักกิ่งเป็นแกนนำในการพยายามหาวิธีเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายถอนกำลังกลับโดยไม่เสียหน้า

เห็นกันว่าการเผชิญหน้ากันครั้งล่าสุดนี้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากลัทธิชาตินิยมที่กำลังเดือดพล่านในหมู่ชาวจีนและอินเดีย รวมทั้งความบาดหมางในอดีตจากการแข่งขันกันขยายอิทธิพลในเอเชีย

อินเดียนั้นรู้สึกว่า ตัวเองกำลังถูกคุกคามจากการแผ่ขยายอิทธิพลของกองทัพเรือ นักการทูต และบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนในภูมิภาครอบๆ มหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ปักกิ่งไม่พอใจที่นิวเดลีใกล้ชิดสนิทสนมกับวอชิงตันมากขึ้น

การที่อินเดียตัดสินใจไม่เข้าร่วมในโครงการขนาดใหญ่โตมหึมาที่จีนริเริ่มผลักดันเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางขนส่งในเอเชียและยุโรป ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือเส้นทางสายไหมใหม่ นั้น ก็ยิ่งทำให้พญามังกรกริ้ว

ก่อนหน้านี้สื่อจีนเตือนอินเดียว่า อาจเผชิญชะตากรรมเลวร้ายกว่าเมื่อครั้งแพ้สงครามชายแดนปี 1962 และสำทับว่า เฉพาะเดือนนี้ กองทัพจีนซ้อมรบด้วยกระสุนจริงถึง 5 ครั้งในบริเวณที่เป็นข้อพิพาท

ในวันจันทร์ หนังสือพิมพ์แดนมังกรยังวิจารณ์ว่า การกระทำของอินเดียบนที่ราบสูงด็อกลัมผิดกฎหมายและคุกคามความมั่นคงของจีน

หลง ซิงฉุน นักวิชาการจีน-อินเดีย เขียนบทความลงในโกลบัล ไทมส์ ซึ่งเป็นแท็บลอยด์แนวชาตินิยมที่ตีพิมพ์โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระบุว่า แม้การเผชิญหน้าได้รับการคลี่คลายด้วยวิธีการทางการทูต แต่เหตุการณ์นี้ได้ทำลายความสัมพันธ์ทวิภาคีไปแล้วและจะมีผลกระทบระยะยาวต่อความสัมพันธ์สองประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น