รอยเตอร์ - ศาลสูงสุดอินเดียมีคำพิพากษาวันนี้ (22 ส.ค.) ว่ากฎหมายอิสลามที่อนุญาตให้ชายผู้เป็นสามีหย่าขาดจากภรรยาได้ด้วยการกล่าวคำว่า “หย่า” หรือ “เฏาะลาก” (talaq) เพียง 3 ครั้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นับเป็นชัยชนะทางกฎหมายสำหรับสตรีมุสลิมที่ร้องเรียนมานานว่าธรรมเนียมเช่นนี้ละเมิดสิทธิความเท่าเทียมของพวกเธอ
หลักชารีอะห์อนุญาตให้ชายมุสลิมสามารถหย่าเมียได้ด้วยการกล่าว “เฏาะลาก” 3 ครั้ง และกฎเกณฑ์นี้ทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องตกที่นั่งลำบากเพราะถูกสามีทอดทิ้งง่ายๆ บางครั้งผู้ชายก็ใช้วิธีบอกเลิกผ่าน “สไกป์” หรือ “วอตส์แอปป์”
คณะผู้พิพากษา 3 ใน 5 คนวินิจฉัยว่าธรรมเนียมเช่นนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งทำให้การบอกเลิกด้วยวิธีกล่าว “เฏาะลาก” ไร้ผลในทางกฎหมายทันที
คำตัดสินของศาลมีความสับสนเล็กน้อยในช่วงแรกๆ เมื่อผู้พิพากษาสูงสุดแห่งอินเดียวินิจฉัยให้ระงับธรรมเนียมปฏิบัตินี้ไว้ชั่วคราว และขอให้รัฐบาลออกกฎหมายใหม่มารองรับภายใน 6 เดือน ทว่าผู้พิพากษาอีก 3 คนกลับฟันธงว่าการหย่าภรรยาด้วยวิธีนี้ขัดรัฐธรรมนูญ
“ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระเสียทีในวันนี้ ฉันมีคำสั่งศาลที่จะช่วยให้ผู้หญิงมุสลิมอีกมากมายได้รับการปลดปล่อย” ชายารา บาโน หนึ่งในสตรีที่ยื่นฟ้องศาลให้สั่งยุติธรรมเนียมนี้ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
การหย่าภรรยาด้วยวิธีเอ่ย “เฏาะลาก” 3 ครั้งไม่เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศมุสลิม รวมถึงที่ปากีสถานและซาอุดีอาระเบีย
ข้อถกเถียงเกี่ยวกับกฎหมายนี้ก่อให้เกิดเครือข่ายพันธมิตรที่ไม่น่าเชื่อ นั่นคือการรวมกลุ่มระหว่างสตรีมุสลิม, นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และพรรคชาตินิยมฮินดูภารติยะชนตะ ซึ่งออกมาต่อต้านองค์กรมุสลิมบางแห่งที่ยืนยันว่ารัฐไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายความเชื่อทางศาสนา
กฎหมายอินเดียอนุญาตให้สถาบันทางศาสนาออกกฎว่าด้วยการดำเนินชีวิตส่วนตัวของศาสนิก เช่น การแต่งงาน หย่าร้าง และรับมรดก เป็นต้น เพื่อให้อิสระแก่ชุมชนที่นับถือศาสนาต่างๆ กัน