xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึกความตึงเครียดถึงขั้นขู่เปิดศึกที่‘ชายแดนกัมพูชา-ลาว’

เผยแพร่:   โดย: เดวิด ฮุตต์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

What’s behind Cambodia-Laos’ border flare-up?
By David Hutt, @davidhuttjourno
14/08/2017

สถานการณ์การเผชิญหน้ากันทางทหารที่พรมแดนกัมพูชา-ลาว ดูเหมือนถูกถอดชนวนออกมาแล้ว ภายหลังการพบปะหารือกันของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน กับนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ทว่าแรงขับดันทางการเมืองและทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่เบื้องลึกลงไปของการพิพาททางชายแดนที่ดำเนินมายาวนานแล้วนี้ ยังคงไม่ได้รับการคลี่คลายแก้ไข

พนมเปญ - หลังจากเสียงอันดังสนั่นตึงตัง, การแสดงความโกรธเกรี้ยวขึ้งเคียด, และการส่งทหารเข้าไปประจำการตามชายแดน ทั้งหมดทั้งสิ้นก็ยุติลงด้วยการสวมกอดกัน

อันที่จริงนั้น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาแล้ว กองทหารลาวกับกองทหารกัมพูชาได้เกิดการเผชิญหน้ากันตรงจุดข้ามแดนและที่มั่นทางทหารสำคัญๆ แห่งแล้วแห่งเล่า ตามตะเข็บชายแดนความยาว 224 กิโลเมตรระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2 รายนี้ โดยที่ถูกมองว่าเป็นการขยายตัวบานปลายขึ้นเล็กน้อยของกรณีพิพาทซึ่งดำรงอยู่มายาวนาน

อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา ได้ทำให้ความตึงเครียดยิ่งเขม็งเกลียว เมื่อเขาออกมาแถลงเตือนรัฐบาลลาวอย่างขึงขัง “เราไม่ได้ประกาศสงคราม” เขากล่าว “เราเพียงแต่เรียกร้องต้องการได้ดินแดนของเรากลับคืน และเราก็จะไม่เอาดินแดนไปจากใครทั้งนั้น”

ฮุนเซนบอกรัฐบาลลาวว่า พวกเขามีเวลา 6 วันที่จะต้องออกไปจากบริเวณซึ่งฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นของตน ไม่เช่นนั้นแล้ว “เราก็จะต้องเริ่มการปฏิบัติการ” ในเวลาต่อมาฮุนเซนได้บินตรงไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว โดยที่ทิ้งขบวนยานยนต์หุ้มเกราะเอาไว้เบื้องหลัง ซึ่งได้เคลื่อนกำลังไปรอบๆ บริเวณใจกลางกรุงพนมเปญในลักษณะอวดโอ่แสดงอานุภาพเชิดชูลัทธิชาตินิยม

ถึงตอนเช้าวันเสาร์ (12 ส.ค.) ท่ามกลางความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ฮุนเซนได้พบปะกับนายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด ของลาว ในการประชุมหารือทวิภาคีระดับสูงที่มีการบอกกล่าวเตรียมการเพียงช่วงสั้นๆ ผู้นำลาวได้ตกลงที่จะถอนทหารของเขา --โดยที่มีรายงานว่าเมื่อเวลา 16.00 น.ของวันเดียวกันนั้น กองทหารของลาวกำลังถอนออกมาจากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเกิดการช่วงชิงกัน— และนายกรัฐมนตรีทั้งสองก็ได้สวมกอดกันต่อหน้ากล้องทีวีและกล้องถ่ายภาพ

ความมึนตึงกริ้วโกรธของฮุนเซนยุติลงไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับตอนที่มันเริ่มต้นขึ้น ปล่อยให้พวกนักวิเคราะห์จำนวนมากตั้งคำถามกันว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีกัมพูชาจึงได้ตัดสินใจใช้จุดยืนอันแข็งกร้าวเช่นนี้หลังจากระยะเวลาหลายเดือนก่อนหน้านั้นได้แสดงอาการไม่ค่อยให้ความสำคัญกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ทหารลาวจำนวนหลายร้อยคนได้เคลื่อนเข้าไปใน “เขตสีขาว” (white zone) ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสตึงแตรง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา โดยมีรายงานว่าเพื่อป้องกันไม่ให้กองทหารช่างกัมพูชาทำการสร้างถนน ในพื้นที่ซึ่งฝ่ายลาวเห็นว่าเป็นดินแดนของตน

ถึงเดือนเมษายน พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายลาวได้ปิดจุดข้ามพรมแดนแห่งหนึ่งในพื้นที่ตรงนั้น ฝ่ายทหารลาวถูกทหารกัมพูชากล่าวหาว่ากำลังสร้างที่มั่นทางทหารแห่งหนึ่งขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งยังมิได้มีการปักปันเขตแดน และก่อนหน้านี้สองประเทศเคยตกลงกันว่าจะไม่ตั้งกองทหารเข้าไว้ในบริเวณนั้น

การกล่าวหาร้องเรียนกลับไปกลับมาระหว่างกันของทั้งสองฝ่ายดำเนินไปแทบตลอดเดือนนั้น แต่แล้วกลับเงียบเชียบกันไปในเดือนพฤษภาคม สำหรับการขยายตัวบานปลายระลอกล่าสุดนั้นเริ่มต้นขึ้นมาในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากฮุนเซนกล่าวหาว่ามีทหารลาวหลายสิบคนกำลังยึดครองดินแดนหลายๆ บริเวณของกัมพูชา

กัมพูชากับลาวนั้นเพิ่งหวนกลับมาใช้ความพยายามในการขีดเส้นแบ่งเขตแดนกันอีกครั้งเมื่อปี 2000 หรือกว่า 2 ทศวรรษหลังจากที่สงครามกลางเมืองและการปฏิวัติยึดครองอำนาจของฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ทำให้เส้นแบ่งแดนของพวกเขาลางเลือนไป

สำหรับกัมพูชาแล้ว สถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณพรมแดนไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผิดปกติอะไร โดยเป็นตะกอนตกค้างสืบเนื่องจากวิธีการขีดแบ่งพรมแดนตอนที่พวกชาติอินโดจีนเหล่านี้ตกอยู่ในการปกครองแบบอาณานิคมของฝรั่งเศส ทั้งนี้กัมพูชาได้เคยเกิดปะทะอย่างรุนแรงกับประเทศไทยในปี 2008 และปี 2011 จากการช่วงชิงกรรมสิทธิ์พื้นที่รอบๆ ปราสาทพระวิหาร

อย่างไรก็ดี สำหรับฝ่ายค้านทางการเมืองของกัมพูชาแล้ว ความตึงเครียดเรื่องพรมแดนรวมศูนย์อยู่ที่ชายแดนระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม ฝ่ายค้านของกัมพูชาได้เรียกร้องต้องการมานานให้ฮานอยส่งคืนดินแดนที่เคยเป็นของกัมพูชาในอดีต อีกทั้งกล่าวหาพวกตั้งถิ่นฐานชาวเวียดนามว่าเวลานี้กำลังครอบครองดินแดนผืนใหญ่หลายผืนภายในพรมแดนของกัมพูชา มีนักการเมืองและนักเคลื่อนไหวหลายคนทีเดียวที่กำลังติดคุกเนื่องจากการโต้แย้งกันในเรื่องที่ว่าควรนำเอาแผนที่ซึ่งจัดทำขึ้นในอดีตฉบับไหนมาใช้ในการแบ่งเส้นเขตแดน

พวกบัณฑิตผู้รู้บอกว่า การที่ฮุนเซนแสดงบทบาทเข้าแทรกแซงเรื่องชายแดนลาวในช่วงหลังๆ มานี้ สามารถที่จะสาวต้นตอไปได้จนถึงเรื่องการเมืองภายในประเทศของกัมพูชาเอง โสภาล เอียร์ (Sophal Ear) รองศาสตราจารย์วิชาการทูต ของวิทยาลัย อ็อกซิเดนทัล คอลเลจ (Occidental College) ในนครลองแองเจลิส ให้ความเห็นว่า มันเป็น “ชัยชนะที่สร้างความรู้สึกดีๆ แห่งความรักชาติ” สำหรับฮุนเซน และมีความเป็นไปได้ที่สุดว่าน่าจะก่อให้เกิดผลดีบางประการสำหรับการเลือกตั้ง (กัมพูชามีกำหนดจะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมปีหน้า)

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากการพิพาททางชายแดนกับลาวเกิดขึ้นมาเนื่องจากเป็นดอกผลทางการเมืองที่แขวนอยู่ต่ำๆ สามารถสอยลงมาได้อย่างง่ายๆ เช่นนี้แล้ว มันก็เกิดมีข้อโต้แย้งขึ้นมาได้ว่า จะไม่เป็นการสมเหตุสมผลเชิงยุทธศาสตร์มากกว่าหรือ ถ้าฮุนเซนจะลงมือประกาศจุดยืนอันห้าวหาญให้สาธารณชนรับทราบกันตั้งแต่ในเดือนเมษายนโน่น ซึ่งจะเป็นช่วงห่างเพียงแค่ 2 เดือนก่อนหน้าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น (commune election) ที่ผลปรากฏออกมาว่าถึงแม้พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party หรือ CPP) ของเขายังคงเป็นผู้ชนะ ทว่าด้วยเปอร์เซ็นต์ที่ลดต่ำลงมา

นักวิเคราะห์บางคนจึงคาดเดากันว่า การลุกฮือขึ้นอย่างฉับพลันของความตึงเครียดทางชายแดนคราวนี้ อาจจะสืบเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจมากกว่าทางการเมือง โดยที่เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว นายกฯทองลุนของลาว ได้ออกคำสั่งห้ามการส่งออกไม้ซุงไปยังเวียดนาม ซึ่งเป็นตัวการใหญ่รายหนึ่งที่ทำให้ลาวสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปอย่างรวดเร็ว

“ฟอเรสต์ เทรนด์ส” (Forest Trends) กลุ่มเอ็นจีโอที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ รายงานเอาไว้ในเดือนมีนาคมว่า เมื่อปีที่แล้วมีการขนส่งไม้ท่อนที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปใดๆ ข้ามพรมแดนลาว-เวียดนามเพียงแค่ 36,060 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านั้นซึ่งปริมาณสูงกว่านี้เกือบเป็น 10 เท่าตัว

รายงานเดียวกันนี้ยังชี้ว่า พวกพ่อค้าไม้ชาวลาวอาจกำลังเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีด้วยการใช้กัมพูชาเป็นเส้นทางผ่านสำหรับการลำเลียงไม้ซุงไปยังเวียดนาม โดยที่ความพยายามของกัมพูชาในการหยุดยั้งการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ รวมทั้งไม้ซุงด้วย ข้ามไปยังเวียดนามนั้น เป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จน้อยกว่าของลาว

“เป็นเรื่องสมเหตุสมผลทีเดียวโดยเฉพาะสำหรับพวกพ่อค้าซึ่งมีการต่อสายเชื่อมโยงเป็นอันดีกับพวกเจ้าหน้าที่กัมพูชา ในการนำเอาไม้ซุง (ลาว) เข้าสู่เวียดนาม โดยผ่านกัมพูชา” ซวน พุค (Xuan Phuc) หนึ่งในนักวิจัยที่เขียนรายงานฉบับนี้บอกกับหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ (Phnom Penh Post)

ในเดือนมิถุนายน มีรายงานว่าพวกเจ้าหน้าที่ลาวได้ยึดรถบรรทุกเอาไว้ 27 คันที่กำลังลำเลียงไม้ซุงมุ่งหน้าไปตามเส้นทางสู่เวียดนาม รถบรรทุกเหล่านี้ถูกกล่าวหากันว่าเป็นของภรรยาของ นาม วิยะเกด (Nam Viyaketh) เจ้าแขวง (ผู้ว่าการจังหวัด) อัตตะปือ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของลาว ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมบริเวณพรมแดนลาว-กัมพูชาเอาไว้เกือบทั้งหมด ตลอดจนส่วนหนึ่งของพรมแดนลาว-เวียดนามด้วย

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia) รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “พวกเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสูงๆ ในอัตตะปือ มีความเกี่ยวข้องพัวพันกับการตัดไม้ผิดกฎหมายและการนำข้ามพรมแดนไปขายอยู่เป็นประจำ ถึงแม้มีคำสั่งห้ามการส่งออกไม้ซุงแล้วก็ตาม”

รายงานของวิทยุเอเชียเสรีบอกด้วยว่า ปริมาณไม้เถื่อนผิดกฎหมายที่ยึดได้จากพวกลักลอบตัดไม้ในแขวงอัตตะปือได้ลดต่ำลงในปีนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งน่าที่จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีการใช้เส้นทางขนส่งใหม่ๆ หรือไม่ก็มีการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงเกิดการหลับหูหลับตาไม่รู้ไม่เห็นเพิ่มมากขึ้น

เรื่องนี้อาจกลายเป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งสำหรับการเอะอะตึงตังบริเวณชายแดนกัมพูชา-ลาวในช่วงหลังๆ นี้ก็ได้ ทว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมหลังจากมีการปล่อยให้ไหลซึมกันไปอย่างเงียบๆ อยู่ตั้งหลายเดือนแล้ว จึงเกิดเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อระงับเรื่องราวให้สงบลง

ฮุนเซนแถลงว่าก่อนที่เขาเดินทางเยือนเวียงจันทน์ เขาได้สั่งการให้รัฐมนตรีต่างประเทศ ปรัก สุคน พบปะหารือกับพวกเจ้าหน้าที่ลาวในสถานเอกอัครราชทูตประจำพนมเปญของประเทศนั้น และให้ มัม ซาเรือน (Mam Saroeun) ผู้ว่าราชการจังหวัดสตึงแตรง พบปะหารือกับ นาม เจ้าแขวงอัตตะปือของลาว ก่อนหน้านี้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก็มีเจ้าหน้าที่อื่นๆ หลายคนจากทั้งสองฝ่ายเคยหารือกันเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้มาแล้ว

“ผมบอก (นายกฯทองลุน) อย่างชัดเจนว่าเราสามารถอดทนอดกลั้นต่อกันและกันได้ แต่พวกเจ้าหน้าระดับล่างลงมานั้น พวกเขาไม่สามารถอดทนอดกลั้นต่อกันและกันได้ และเราจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังในเรื่องการก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมา” ฮุนเซนกล่าวเช่นนี้ในวันศุกร์ที่ 11 ส.ค. ก่อนหน้าที่จะพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีลาว โดยอ้างอิงถึงการสนทนาของพวกเขา 2 คนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

รัฐบาลกลางของลาวนั้นต้องใช้ความพยายามอย่างหนักทีเดียวในการทำให้ระดับท้องถิ่นยินยอมปฏิบัติตามคำชี้แนะต่างๆ ของตน หนึ่งในเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดังกล่าวนี้อาจจะเป็น นาม เจ้าแขวงอัตตะปือ ผู้ซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว อีกทั้งเป็นบุตรชายของวีรชนปฏิวัติคนหนึ่ง

เข้าใจกันว่าเวลานี้เขาถูกสอบสวนจากองค์การตรวจสอบแห่งรัฐ (State Inspection Authority) เนื่องจากครอบครัวของเขาถูกกล่าวหาว่าพัวพันเกี่ยวข้องกับการตัดไม้เถื่อนผิดกฎหมาย ถึงแม้มีสิ่งบ่งบอกว่าพวกผู้ตรวจสอบกำลังเพียงแค่ทำตามหน้าที่ไปพอเป็นพิธีเท่านั้น

ถ้าหากมีการใช้กรณีตัดไม้เถื่อนผิดกฎหมายมาเล่นงาน นาม แล้ว มันย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าเขาตกกระป๋องไม่เป็นที่โปรดปรานของคณะผู้นำระดับสูงสุดของพรรคเสียแล้ว หรือไม่ก็ถูกมองว่าไม่เคารพเชื่อฟังนายกรัฐมนตรีหัวปฏิรูปอย่างทองลุน ผู้ซึ่งถึงอย่างไรก็ถือว่าเป็นนักการเมืองผู้ทรงอำนาจที่สุดและทรงอิทธิพลที่สุดของลาว

เดวิด ฮุตต์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งตั้งฐานประจำอยู่ในกรุงพนมเปญ


กำลังโหลดความคิดเห็น