เอเอฟพี - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ จำใจลงนามในกฎหมายคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมในวันพุธ (2 ส.ค.) ยอมก้มหัวให้กับแรงกดดดันภายใน และแช่แข็งความพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับเครมลิน
ทรัมป์ ลงนามในกฎหมายฉบับนี้เป็นลับๆ ตีตัวออกห่างจากสายตาของสื่อมวลชน หลังจากล้มเหลวในความพยายามสกัดหรือลดระดับความรุนแรงของมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมดังกล่าว
ท่าทีอึดอัดใจของทรัมป์ แสดงออกอย่างชัดเจนในคำแถลงลงนามที่เต็มไปด้วยอารมณ์โมโห โดยเขาบอกว่ากฎหมายฉบับนี้มีข้อบกพร่องมากมาย “ในความเร่งรีบผ่านกฎหมายนี้ สภาครองเกสได้รวมบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนเอาไว้ด้วยจำนวนหนึ่ง” เขากล่าว พร้อมบอกวาในนั้นรวมถึงการจำกัดความสามารถของประธานาธิบดีในด้านดำเนินนโยบายต่างประเทศ
กฎหมายฉบับนี้ซึ่งรวมถึงมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือและอิหร่าน เล็งเป้าหมายที่ภาคพลังงานของรัสเซีย โดยเปิดทางให้วอชิงตันสามารถลงโทษบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในโครงการพัฒนาท่อลำเลียงของรัสเซีย และกำหนดข้อจำกัดบางอย่างต่อการส่งออกอาวุธของแดนหมีขาว
ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า มันยังจำกัดความสามารถของทรัมป์ในการปลดเปลื้องบทลงโทษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสภาคองเกรสที่ควบคุมโดยรีพับลิกัน ยังคงรู้สึกไม่สบายใจต่อคำพูดอันอบอุ่นของทรัมป์ที่มีต่อประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมนี้เป็นการแสวงหาบทลงโทษเครมลินต่อคำกล่าวหาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหัฐฯ 2016 ซึ่งทรัมป์ได้รับชัยชนะ และกรณีรัสเซียผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน
ทรัมป์บอกว่าเขาจะเคารพต่อบทบัญญัติบางส่วนของกฎหมาย แต่ไม่ได้พูดอย่างชัดเจนว่าเขาจะบังคับใช้มันอย่างสมบูรณ์หรือไม่ ส่วนทำเนียบขาวก็ระบุเพียงว่า ทรัมป์ จะมอบความพึงพอใจแก่สภาคองเกรสด้วยการพิจารณาบังคับใช้อย่างระมัดระวังและด้วยความเคารพ
ทรัมป์ ได้รับร่างกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่ช่วงบ่ายวันศุกร์ที่แล้ว และรอจนกระทั่งวันพุธ ถึงยอมลงนาม
การลงนามล่าช้าเกือบ 1 สัปดาห์ กระพือข่าวลือว่า ทรัมป์ อาจวีโต้ และพยายามพักมาตรการคว่ำบาตรไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม หลังมันผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา 98-2 เสียง อย่างไรก็ตาม ด้วยที่เขาตัดสินใจลงนาม อีกด้านหนึ่งมันก็ช่วยให้เขารอดพ้นจากแนวโน้มที่อาจต้องขายหน้าจากการถูกสภาคองเกรสลบล้างอำนาจวีโต้ของเขา
ด้วยคาดหมายล่วงหน้าว่าทรัมป์คงต้องลงนาม รัสเซีย ชิงออกคำสั่งให้สหรัฐฯลดจำนวนนักการทูตในรัสเซียให้เหลือเพียง 455 คน ก่อนวันที่ 1 กันยายน ซึ่งเท่าๆ กับจำนวนเจ้าหน้าที่การทูตรัสเซียที่ยังเหลืออยู่ในอเมริกา
เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเปิดเผยเมื่อวันอังคาร (1 ส.ค.) ว่า เขาจะพบปะกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียในช่วงสุดสัปดาห์นี้ แต่เตือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับมอสโกอาจเลวร้ายลง โดยเขายอมรับว่าการตัดสินใจผ่านกฎกมายคว่ำบาตรของสภาคองเกรส ทำให้ความพยายามสานสัมพันธ์กับรัสเซียยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้หน
อัยการพิเศษกำลังสืบสวนว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 หรือไม่ และมีการสมคบคิดกันระหว่างทีมหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์กับรัสเซียหรือเปล่า ขณะที่ ทรัมป์ ยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหามาตลอด