xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “ดูเตอร์เต” เมินคำตัดสินศาลกรุงเฮก จับมือ “จีน” ร่วมสำรวจพลังงานในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์
ผ่านไปแล้ว 1 ปีเต็มที่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก (Permanent Court of Arbitration) ได้มีคำพิพากษายกประโยชน์ให้ฟิลิปปินส์ในข้อพิพาททะเลจีนใต้ หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ฟิลิปปินส์ได้ประโยชน์อะไรจริงๆ บ้างจากคำตัดสินนี้ และแม้ว่าผู้นำขาโหด “โรดริโก ดูเตอร์เต” จะพยายามกลบเกลื่อนข้อพิพาทกับจีนเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เขาคิดว่าคุ้มค่า แต่ปมขัดแย้งซึ่งเกี่ยวพันถึงอธิปไตยของชาติและบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมานานหลายสิบปีจะถูกลืมได้ง่ายๆ จริงหรือ

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ปีที่แล้ว ศาลอนุญาโตตุลาการได้อ้างมาตราที่ 287 ภาคผนวกที่ 7 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ตัดสินว่า การที่จีนอ้าง “สิทธิทางประวัติศาสตร์” เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดโดยอิงกับแผนที่เส้นประ 9 เส้นนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และการขัดขวางไม่ให้ฟิลิปปินส์เข้าไปแสวงหาประโยชน์จากแหล่งไฮโดรคาร์บอนและแหล่งปลาชุมที่อยู่ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของฟิลิปปินส์เอง ก็ถือเป็นการละเมิดอธิปไตย

ศาลยังได้วินิจฉัยคัดค้านคำกล่าวอ้างของจีน โดยระบุว่าหมู่เกาะสแปรตลีย์นั้นไม่มีพื้นที่ที่เป็น “เกาะ” ซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนั้นปักกิ่งจึงไม่มีสิทธิ์นำไปอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ส่วนการถมทะเลสร้างเกาะเทียมนั้นก็ก่อให้เกิดความเสียหายอันไม่อาจซ่อมแซมได้กับสภาพแวดล้อมทางทะเล และยังเป็นการทำลายภูมิประเทศดั้งเดิมของพื้นที่แถบนั้น

แม้คำตัดสินนี้จะถือเป็นที่สุดและมีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่รัฐบาลจีนก็ยืนกระต่ายขาเดียว “ไม่ยอมรับ ไม่มีส่วนร่วม และไม่ปฏิบัติตาม”

หลายเดือนผ่านไป จีนยังทำราวกับว่าไม่เคยมีคำพิพากษาใดๆ เกิดขึ้น และยังเสนอให้ตั้งหน่วยงานอนุญาโตระหว่างประเทศแห่งใหม่นอกเหนือไปจากศาลที่ชาติตะวันตกครอบงำอยู่ ปักกิ่งยังพยายามหว่านล้อมประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ “อาเซียน” ให้มองข้ามความสำคัญของคำพิพากษาดังกล่าวไปเสีย ทว่าบุคคลสำคัญที่สุดที่หยิบยื่นชัยชนะให้แก่จีนอย่างแท้จริงก็คือ “โรดริโก ดูเตอร์เต” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา ซึ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์เมื่อกลางปีที่แล้ว

ดูเตอร์เต แสดงออกชัดเจนว่าไม่คิดจะใช้คำพิพากษาศาลกรุงเฮกกอบโกยผลประโยชน์ให้กับฟิลิปปินส์ แต่กลับต้องการประนีประนอมเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากจีนมากกว่า

เขาได้ส่งอดีตประธานาธิบดี ฟิเดล วี. รามอส เป็นทูตกิตติมศักดิ์ไปเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีนเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว ก่อนที่ตนเองจะเดินทางเยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค. และสร้างกระแสฮือฮาด้วยการประกาศ “แยกทาง” กับสหรัฐฯ เพื่อหันมาผูกสัมพันธ์กับมหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซียแทน

ดูเตอร์เต ยังยกเลิกปฏิบัติการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ ในทะเลจีนใต้ และหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึงคำพิพากษาของศาลกรุงเฮกในที่ประชุมระดับภูมิภาค รวมถึงในกลุ่มอาเซียนซึ่งเขาดำรงตำแหน่งประธานคนปัจจุบัน

รัฐบาลจีนตอบแทนไมตรีจิตของผู้นำฟิลิปปินส์ด้วยเม็ดเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังปล่อยเงินกู้ให้แก่กองทัพมะนิลาอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตั้งแต่นั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับมะนิลาก็ดูเหมือนจะดีวันดีคืนทั้งในด้านการลงทุนและการขยายความร่วมมือระหว่างกองทัพ จนรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของ จีนถึงกับออกมาประกาศเมื่อปลายเดือน มิ.ย. ว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-ฟิลิปปินส์กำลังเข้าสู่ “ยุคทองแห่งการพัฒนาที่รวดเร็ว”
อลัน ปีเตอร์ คาเยตาโน รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ให้การต้อนรับ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งเดินทางไปเยือนกรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.
อย่างไรก็ตาม แนวทางของ ดูเตอร์เต ก็เรียกเสียงวิจารณ์ไม่น้อยจากภาคส่วนต่างๆ ในแดนตากาล็อกที่มองว่าเขากำลังใช้ยุทธศาสตร์ “ขี้แพ้” โดยเฉพาะผู้พิพากษาศาลสูงสุด อันโตนิโอ การ์ปิโอ ซึ่งตำหนิรัฐบาลว่า “ไร้ทิศทางและวิสัยทัศน์” ในการแก้ปัญหาข้อพิพาททะเลจีนใต้

“รัฐบาลปฏิเสธที่จะเฉลิมฉลองคำตัดสินนี้ ทั้งที่มันทำให้เราได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายเหนือน่านน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าพื้นดินทั้งหมดของฟิลิปปินส์รวมกันเสียอีก” การ์ปิโอ กล่าว พร้อมทั้งเรียกร้องให้มะนิลายื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศอีกครั้ง หากจีนยังคงเพิกเฉยต่อคำพิพากษาเมื่อปีที่แล้ว

จนถึงขณะนี้ รัฐบาล ดูเตอร์เต เพียงแต่ทำข้อตกลงชั่วคราวกับจีนให้ชาวประมงฟิลิปปินส์สามารถเข้าไปจับสัตว์น้ำรอบๆ เกาะปะการังสการ์โบโรห์นอกชายฝั่งเกาะลูซอน ซึ่งเวลานี้อยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ทว่าไม่มีสิทธิ์เข้าไปยังทะเลใน (lagoon) ซึ่งเป็นแหล่งปลาชุม และเคยถูกใช้เป็นที่จอดพักเรือหรือซ่อมแซมเรือของชาวประมงท้องถิ่นในยามเกิดพายุ

กระทรวงพลังงานฟิลิปปินส์แถลงเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ว่าการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่แหล่ง “รีดแบงค์” (Reed Bank )ซึ่งถูกระงับไว้ตั้งแต่ปี 2014 จะเดินหน้าได้อีกครั้งก่อนสิ้นปีนี้ และล่าสุดประธานาธิบดี ดูเตอร์เต ก็ยอมรับว่า ฟิลิปปินส์และจีนกำลังหารือเกี่ยวกับการสำรวจทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้ร่วมกัน

หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนซึ่งเดินทางไปเยือนกรุงมะนิลา 2 วันในสัปดาห์นี้ก็สนับสนุนโครงการดังกล่าวเต็มที่ พร้อมเตือนว่า “หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปสำรวจน่านน้ำซึ่งมีการอ้างกรรมสิทธิ์และผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่ และอีกฝ่ายก็ลงมือทำเช่นเดียวกัน ความขัดแย้งอาจลุกลามบานปลาย และท้ายที่สุดก็จะไม่มีใครนำทรัพยากรเหล่านั้นออกมาใช้ประโยชน์ได้เลย”

หวัง ยังเรียกร้องให้ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามัคคีเป็นหนึ่งเดียว และกีดกันไม่ให้มหาอำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซงข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการพูดโจมตีบทบาทของสหรัฐฯ

การที่จีนข่มขู่เรือสำรวจฟิลิปปินส์บริเวณรีดแบงก์เมื่อปี 2011 และยังเข้าควบคุมเกาะปะการังสการ์โบโรห์ไว้ในปี 2012 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อดีตประธานาธิบดี เบนิโญ อากีโน ตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการเพื่อให้ช่วยตัดสินชี้ขาด

นักวิเคราะห์เตือนว่า โครงการสำรวจทรัพยากรร่วมกันนั้นอาจกลายเป็นปัญหาซับซ้อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากจีนและฟิลิปปินส์ต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลแถบนี้ ดังนั้น การทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์จึงอาจถูกมองว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ข้ออ้างของอีกฝ่าย หรือขายอธิปไตยของชาติตนเอง
แผนที่แสดงการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและประเทศในอาเซียน

กำลังโหลดความคิดเห็น