xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกแคมเปญของบริษัทยักษ์ใหญ่ ‘ฟิลิปมอร์ริส’ มุ่งล้ม‘ข้อตกลงโลกต่อต้านสูบบุหรี่’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สำนักข่าวรอยเตอร์

SPECIAL REPORT-Inside Philip Morris' campaign to subvert the global anti-smoking treaty
By Aditya Kalra, Paritosh Bansal, Duff Wilson and Tom
Lasseter

13/07/2017

สำนักข่าวรอยเตอร์เสนอรายงานพิเศษ เปิดโปง ฟิลิป มอร์ริส ยักษ์ใหญ่บริษัทบุหรี่ กำลังระดมทรัพยากรอันมากมายกว้างขวางในตลอดทั่วโลกของตน มาเข้าร่วมการรณรงค์ล็อบบี้ครั้งใหญ่โตที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมา ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสกัดขัดขวางการบังคับใช้อนุสัญญาแม่บทว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (FCTC) ขององค์การอนามัยโลก อันเป็นสนธิสัญญาที่มีจุดมุ่งหมายลดทอนการสูบบุหรี่ในทั่วโลก เพื่อสงวนรักษาชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนล้านๆ คน

นิวเดลี, อินเดีย/โลซานน์, สวิตเซอร์แลนด์ - กลุ่มของพวกผู้บริหารบริษัทบุหรี่กลุ่มหนึ่งยืนกันอยู่ในห้องล็อบบี้ของศูนย์การประชุมทึมๆ มอๆ แห่งหนึ่งใกล้ๆ กรุงนิวเดลีเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พวกเขากำลังรอคอยที่จะได้เอกสารรับรองสำหรับการเข้าไปยังที่ประชุมขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ซึ่งกำลังหารือกันเกี่ยวกับสนธิสัญญาบุหรี่ระดับโลก โดยเป็นหนึ่งในข้อตกลงสำคัญที่จัดทำขึ้นมาเพื่อลดการสูบบุหรี่และสู้รบปรบมือกับอิทธิพลของอุตสาหกรรมบุหรี่

พวกเจ้าหน้าที่ซึ่งดูแลสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ได้ต้องการให้ผู้คนเหล่านี้เข้าไปในที่ประชุม แต่กระนั้นในหมู่พวกที่เข้าแถวรอกันอยู่ด้วยความวาดหวังที่จะได้เข้าไป ก็มีทั้งพวกผู้บริหารจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเช่น เจแปน โทแบคโค อินเตอร์เนชั่นแนล (Japan
Tobacco International) และ บริติช อเมริกัน โทแบคโค พีแอลซี (British American Tobacco Plc.)

มีบริษัทบิ๊กเนมรายหนึ่งที่ขาดหายไปจากกลุ่มนี้ ได้แก่ ฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล อิงก์ (Philip Morris International Inc.) ผู้แทนคนหนึ่งของฟิลิป มอร์ริส ได้บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในเวลาต่อมาว่า พนักงานของบริษัทไม่ได้ปรากฏตัวอยู่ตรงนั้นด้วย เนื่องจากบริษัททราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทไม่ได้เป็นที่ต้อนรับของที่ประชุม

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้ว มีพวกผู้บริหารของบริษัทแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นบริษัทยาสูบใหญ่ที่สุดในหมู่พวกที่มีฐานะเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ด้วยกัน บินจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเข้ามายังกรุงนิวเดลีเพื่อเข้าร่วมการประชุมต่อต้านบุหรี่คราวนี้ด้วย ขณะที่พวกผู้ดูแลจัดการเกี่ยวกับสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ทราบระแคะระคายอะไร แต่พวกผู้บริหารเหล่านี้กำลังพำนักอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากศูนย์การประชุมโดยใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมง และกำลังทำงานจากห้องปฏิบัติการซึ่งจัดตั้งขึ้นที่นั่น ในไม่ช้าไม่นาน ฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ก็จะจัดการประชุมลับๆ กับพวกผู้แทนจากรัฐบาลของเวียดนาม และพวกชาติสมาชิกของสนธิสัญญารายอื่นๆ

เป้าหมายของการดำเนินกิจกรรมแบบปิดลับต่างๆ เหล่านี้ก็คือ อนุสัญญาแม่บทว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (Framework Convention on Tobacco Control หรือ FCTC) ขององค์การอนามัยโลก อันเป็นสนธิสัญญาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดทอนการสูบบุหรี่ในทั่วโลก สำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า ฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล กำลังดำเนินการรณรงค์อย่างลับๆ เพื่อสกัดขัดขวางการบังคับใช้สนธิสัญญาฉบับนี้หรือไม่ก็ทำให้เนื้อหาของมันอ่อนยวบลงไป ทั้งนี้อนุสัญญาแม่บท FCTC มีหลายๆ มาตราซึ่งต้องการที่จะทำให้มีการเสพยาสูบลดน้อยลง เพื่อเป็นการรักษาชีวิตผู้คนเป็นจำนวนล้านๆ ทั่วโลก

ในเอกสารภายในชิ้นหนึ่งของฟิลิป มอร์ริส เอง บริษัทระบุว่าให้ความสนับสนุนการบังคับใช้สนธิสัญญาฉบับนี้ ทว่าบริษัทก็มอง FCTC ว่าได้กลายเป็น “ขบวนรถไฟแห่งกฎระเบียบที่กำลังวิ่งตะบึงอย่างไร้การควบคุม” เนื่องจากขับโดย “พวกนักต่อต้านบุหรี่อย่างสุดโต่ง” โดยคำบรรยายด้วยถ้อยคำเช่นนี้ บรรจุอยู่ในเอกสารในรูปของ การนำเสนอแบบโปรแกรมเพาเวอร์พอยต์ (PowerPoint presentation) ชิ้นหนึ่งเมื่อปี 2014

จากเอกสารลับจำนวนมากของบริษัทและจากการสัมภาษณ์พวกลูกจ้างพนักงานฟิลิป มอร์ริส ทั้งที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันและที่เคยทำอยู่ในอดีต เปิดเผยให้ทราบถึงแผนการบุกโจมตีอันใหญ่โตมหึมา ซึ่งแผ่ขยายจากอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ไปสู่แอฟริกาและเอเชีย จากพวกไร่ยาสูบที่ต้องลงแรงใช้ความพยายามมากทว่าได้ผลน้อย ไปจนถึงประดาระเบียงและห้องประชุมแห่งอำนาจทางการเมืองทั้งหลาย มันอาจจะเป็นหนึ่งในความพยายามแห่งการล็อบบี้ของภาคบริษัทธุรกิจที่มีขนาดกว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยปรากฏขึ้นมาทีเดียว

รายละเอียดของแผนการต่างๆ เหล่านี้ถูกเปิดเผยให้เห็นอย่างเปล่าเปลือยล่อนจ้อนในหน่วยความจำแคช (cache) เก็บเอกสารต่างๆ ของฟิลิป มอร์ริส ซึ่งทางรอยเตอร์ได้มีโอกาสพบเห็นมา ถือเป็นหนึ่งในกรณีเอกสารรั่วไหลครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีมาของอุตสาหกรรมยาสูบทีเดียว สำนักข่าวรอยเตอร์กำลังนำเอาเอกสารเหล่านี้ที่ได้รับการคัดสรรแล้วจำนวนหนึ่งออกมาเผยแพร่ในรูปไฟล์ซึ่งสามารถสืบค้นได้ โดยใช้ชื่อว่า The Philip Morris Files. (http://reut.rs/2sT51xF)

เอกสารจำนวนรวมกันเป็นพันๆ หมื่นๆ หน้าเหล่านี้ ลงวันที่ระหว่างปี 2009 จนถึงปี 2016 โดยมีทั้งที่เป็นอีเมลติดต่อระหว่างพวกผู้บริหาร, การนำเสนอในรูปแบบโปรแกรมเพาเวอร์พอยต์, เอกสารการวางแผน, คู่มือทางด้านนโยบาย, แผนการล็อบบี้ระดับชาติ, และบทวิเคราะห์ด้านการตลาด เมื่อพิจารณาเอกสารต่างๆ เหล่านี้โดยองค์รวมแล้ว นี่ก็คือการเสนอให้เห็นภาพของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งโฟกัสนำเอาทรัพยากรต่างๆ อันมีอยู่อย่างกว้างขวางในตลอดทั่วโลกของตนมาใช้ เพื่อมุ่งทำให้สนธิสัญญาควบคุมยาสูบของโลกฉบับนี้ต้องหมดสิ้นฤทธิ์เดชลงไป

พุ่งเป้าเล่นงานสนธิสัญญา

ฟิลิป มอร์ริส ดำเนินการบ่อนทำลายสนธิสัญญาฉบับนี้ในระดับต่างๆ กันหลายหลาก บริษัททั้งเล็งเป้าหมายไปที่การประชุมใหญ่ครั้งต่างๆ ของ FCTC ซึ่งพวกผู้แทนของประเทศภาคีที่ลงนามและให้สัตยาบันอนุสัญญาแม่บทฉบับนี้ จะไปชุมนุมกันเพื่อตัดสินใจในเรื่องแนวทางปฏิบัติทั้งหลายเพื่อการต่อต้านการสูบบุหรี่ นอกจากนั้นบริษัทยังทำการล็อบบี้ในระดับประเทศ ซึ่งเป็นจุดที่ทำการวินิจฉัยว่าผู้แทนของชาตินั้นๆ ที่จะเข้าประชุมใหญ่ FCTC จะประกอบด้วยใครหรือหน่วยงานใดบ้าง รวมทั้งยังเป็นจุดที่เปลี่ยนการตัดสินใจตามที่ประชุมใหญ่สนธิสัญญาให้กลายเป็นระเบียบกฎหมายซึ่งจะบังคับใช้ในประเทศนั้นๆ

จากเอกสารต่างๆ ของบริษัทตามที่อ้างอิงไว้ข้างต้น เมื่อบวกเข้ากับรายงานข่าวใน 14 ประเทศตั้งแต่บราซิลจนถึงยูกันดาจนถึงเวียดนาม ก็เปิดเผยให้เห็นว่าเป้าหมายประการหนึ่งของฟิลิป มอร์ริส ได้แก่การเพิ่มจำนวนของผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของสนธิสัญญานี้ ให้เป็นผู้ที่มาจากนอกกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องสาธารณสุข แล้วสิ่งนี้ก็กำลังเกิดขึ้นมาจริงๆ จากการที่รอยเตอร์ทำการวิเคราะห์พวกผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมใหญ่ของ FCTC ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปีครั้ง พบว่าเริ่มตั้งแต่การประชุมใหญ่ครั้งแรกในปี 2006 เป็นต้นมาทีเดียว จำนวนของพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งมาจากกระทรวงอื่นๆ อย่างเช่น พาณิชย์, คลัง, และเกษตร จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่สำหรับกระทรวงเหล่านี้แล้ว รายได้จากยาสูบและบุหรี่อาจถูกมองว่ามีลำดับความสำคัญสูงกว่าความกังวลห่วงใยในด้านสุขภาพ

ฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่ามันไม่ได้มีอะไรที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเลย ในการที่พวกผู้บริหารของบริษัทเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเจ้าหน้าที่ภาครัฐบาล “ในฐานะของบริษัทซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีกฎระเบียบการควบคุมดูแลกันอย่างมากมาย การพูดจากับรัฐบาลต่างๆ คือส่วนหนึ่งของธุรกิจประจำวันของเราทีเดียว” โทนี สไนเดอร์ (Tony Snyder) รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายสื่อสาร (vice president of communications) กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง ซึ่งออกมาเพื่อตอบโต้สิ่งที่รอยเตอร์ค้นพบ “ข้อเท็จจริงที่ว่ารอยเตอร์ได้เห็นอีเมลภายในซึ่งหารือกันถึงการมีปฏิสัมพันธ์ของเรากับรัฐบาลต่างๆ นั้น ไม่ได้ทำให้การมีปฏิสัมพันธ์เหล่านั้นกลายเป็นเรื่องไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมขึ้นมาแต่อย่างใด”

ในการให้สัมภาษณ์หลายๆ ครั้งอย่างต่อเนื่องเป็นชุดทั้งในยุโรปและเอเชีย แอนดริว เคฟ (Andrew Cave) ผู้บริหารคนหนึ่งของฟิลิป มอร์ริส บอกว่าลูกจ้างพนักงานของบริษัทอยู่ภายใต้คำชี้แนะอันเคร่งครัดให้เคารพปฏิบัติตามทั้งนโยบายด้านความประพฤติของบริษัทเอง และทั้งกฎหมายท้องถิ่นในประเทศที่พวกเขาดำเนินงานกิจการอยู่ เคฟ ซึ่งเป็น ผู้อำนวยการดูแลกิจการเกี่ยวกับบริษัทคนหนึ่ง (a director of corporate affairs) กล่าวด้วยว่าขณะที่ฟิลิป มอร์ริส ไม่เห็นด้วยกับบางแง่บางมุมของสนธิสัญญา FCTC และทำการปรึกษาหารือกับผู้แทนหลายคนนอกสถานที่ ในระหว่างที่มีการประชุมใหญ่ FCTC อยู่นั้น แต่ถึงที่สุดแล้วตัวคณะผู้แทนคือ “ผู้ทำการตัดสินใจของพวกเขาเอง”

“เรามีความเคารพในข้อเท็จจริงที่ว่า นี่คือสัปดาห์ของพวกเขาและเป็นงานของพวกเขา” เคฟกล่าวในการให้สัมภาษณ์ที่กรุงนิวเดลี ขณะที่คณะผู้แทนของชาติต่างๆ ที่ร่วมลงนามใน FCTC พบปะหารือกันที่นั่นในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เมื่อถูกถามในการสัมภาษณ์ครั้งก่อนหน้าว่า ฟิลิป มอร์ริสกำลังเปิดแคมเปญอย่างเป็นทางการที่พุ่งเป้าไปที่การประชุมใหญ่ทุกสองปีครั้งของสนธิสัญญานี้อยู่ใช่หรือไม่ เคฟก็ตอบเสียงแข็งว่า “ไม่ใช่”

กระทบต่อสุขภาพของผู้คนเรือนล้าน

ในเวลาที่พวกผู้แทนของสนธิสัญญา FCTC มาชุมนุมกันนั้น มันมีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตผู้คนจำนวนมากทีเดียว มติการตัดสินใจหลายอย่างหลายประการที่ออกจากการประชุมใหญ่เช่นนี้ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นต้นว่า การห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะต่างๆ กำลังช่วยชีวิตผู้คนเป็นล้านๆ ทั้งนี้ตามการศึกษาของพวกนักวิจัยที่ ศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University Medical Center)

ระหว่างปี 2007 ถึง 2014 ผู้คนรวมแล้วกว่า 53 ล้านคนใน 88 ประเทศได้ยุติการสูบบุหรี่ เพราะประเทศเหล่านั้นบังคับใช้มาตรการต่างๆ อันเข้มงวดกวดขันในการต่อต้านการสูบบุหรี่ ตามการรับรองเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ตามผลการศึกษาของพวกนักวิจัยเหล่านี้เมื่อเดือนธันวาคม 2016 นอกจากนั้นพวกเขาค้นพบด้วยว่า เนื่องจากสนธิสัญญาฉบับนี้เอง ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่เป็นจำนวนราว 22 ล้านรายทีเดียว

กระนั้นก็ตาม องค์การอนามัยโลกบอกว่า จนถึงเวลานี้การใช้ยาสูบยังคงเป็นสาเหตุนำหน้าของการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ โดยที่ภายในปี 2030 การสูบบุหรี่จะเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับกรณีการเสียชีวิต 8 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นมาจากระดับ 6 ล้านคนในปัจจุบัน

เมื่อตอนที่สนธิสัญญา FCTC สามารถผ่านออกมาได้สำเร็จในปี 2003 นั้น มีความยินดีปรีดากันอย่างมากมายในหมู่พวกรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ สนธิสัญญาฉบับนี้ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2005 ทำให้มีช่องทางความเป็นไปได้ที่จะผลักดันมาตรการต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งดูเหมือนกับว่ารุนแรงมาก เป็นต้นว่า การห้ามสูบบุหรี่ตามบาร์ต่างๆ ประมาณ 90% ของทุกๆ ประเทศลงท้ายต่างก็เข้ามาร่วม ผู้ที่ยังคงหน่วงเหนี่ยวฉุดรั้งรายใหญ่รายหนึ่งคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ลงนามในสนธิสัญญาทว่าจนถึงเวลานี้ยังไม่ยอมให้สัตยาบัน

ตั้งแต่ที่ FCTC มีผลบังคับใช้ สนธิสัญญานี้สามารถโน้วน้าวชักชวนชาติต่างๆ หลายสิบชาติทีเดียวให้ขึ้นภาษีที่เก็บจากผลิตภัณฑ์ยาสูบในอัตราสูงลิ่ว, ผ่านกฎหมายต่างๆ ที่ห้ามการสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ, และเพิ่มขนาดของคำเตือนเรื่องสุขภาพบนซองบุหรี่ ทั้งนี้พวกชาติสมาชิกของสนธิสัญญาจะมาชุมนุมกันทุกๆ 2 ปีเพื่อพิจารณาออกบทบัญญัติใหม่ๆ หรือเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่บทบัญญัติเดิมๆ ณ การประชุมซึ่งมีชื่อเรียกว่า การประชุมใหญ่ของประเทศภาคี (Conference of the Parties หรือ COP) ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2006 ที่นครเจนีวา

ทว่า จากรายงานของ FCTC ฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่าการนำเอาส่วนสำคัญๆ ของสนธิสัญญาฉบับนี้มาปฏิบัติยังคงอยู่ในอาการชะงักงันไปไม่ถึงไหน โดยที่ในมาตราซึ่งถือว่าเป็น “สาระสำคัญ” จำนวน 16 มาตรานั้น มีอยู่ถึง 7 มาตราซึ่งไม่มีความก้าวหน้าต่อไปใดๆ เลยในการนำมาปฏิบัตินับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ทั้งนี้ตามรายงานฉบับหนึ่งที่จัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการ FCTC ในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือ: “อุตสาหกรรมยาสูบยังคงเป็นกำแพงขวางกั้นที่สำคัญที่สุดในการนำเอาอนุสัญญาฉบับนี้มาปฏิบัติ”

อุตสาหกรรมยาสูบมีอำนาจยิ่งกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ

แท้ที่จริงแล้ว อุตสาหกรรมยาสูบแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสามารถฟันฝ่ารับมือกับการใช้กฎระเบียบควบคุมที่เข้มงวดกวดขันยิ่งกว่าเดิมเช่นนี้ได้เป็นอย่างดี นับแต่ที่สนธิสัญญานี้มีผลบังคับใช้ในปี 2005 เป็นต้นมา ยอดขายบุหรี่ทั่วโลกลดต่ำลงนิดเดียวเพียงแค่ 1.9% และในปี 2015 มีผู้คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำทุกวันเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน การศึกษาวิจัยหลายๆ ชิ้นระบุ ขณะเดียวกัน ดัชนียาสูบโลกธอมสันรอยเตอร์ (The Thomson Reuters Global Tobacco Index) ซึ่งคอยติดตามผันแปรไปตามมูลค่าหุ้นของพวกบริษัทยาสูบ ได้สูงขึ้นกว่า 100% ทีเดียวในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เนื่องจากการที่ราคาเพิ่มขึ้น

“บางคนคิดว่ากับเรื่องยาสูบนั้น คุณได้ชนะสงครามแล้ว” อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขฟินแลนด์ เพคคา พุสคา (Pekka Puska) ผู้เป็นประธานคณะกรรมการ FCTC ชุดหนึ่งเมื่อปีที่แล้วกล่าว “ไม่ใช่เลย” เขากล่าวต่อ “อุตสาหกรรมยาสูบกำลังมีอำนาจมากกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ

ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารด้านกิจการเกี่ยวกับบริษัท (corporate affairs executive) เป็นจำนวนถึงราว 600 คน ทั้งนี้ตามอีเมลภายในฉบับหนึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 ฟิลิป มอร์ริส จึงต้องถือว่ามีแขนขาสำหรับการล็อบบี้ให้แก่บริษัท ซึ่งใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกทีเดียว กองทัพบุคลากรเช่นนี้ และผลกำไรสุทธิแต่ละปีที่อยู่ในระดับมากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ฟิลิป มอร์ริส มีทรัพยากรเหลือเฟือสำหรับการเอาชนะ FCTC

ในอีกด้านหนึ่ง สำนักงานเลขาธิการของสนธิสัญญาฉบับนี้ ซึ่งอาศัยสถานที่ขององค์การอนามัยโลกในนครเจนีวา มีเจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องคอยกำกับดูแลการดำเนินการต่างๆ ตาม FCTC จำนวนรวม 19 คน สำนักงานเลขาธิการแห่งนี้ใช้จ่ายเงินงบประมาณเฉลี่ยแล้วน้อยกว่า 6 ล้านดอลลาร์ต่อปี แม้กระทั่งเมื่อคิดรวมกับแรงค้ำจุนจากพวกกลุ่มต่อต้านการสูบบุหรี่เข้าไปด้วย กำลังของสำนักงานแห่งนี้ก็น้อยกว่ากันอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ งบประมาณในปีที่แล้วและในปีนี้ของทางสำนักงาน ที่ใช้เพื่อการสนับสนุนการดำเนินการตามสนธิสัญญาในเรื่องการสู้รบกับอิทธิพลของพวกบริษัทยาสูบนั้น มีจำนวนไม่ถึง 460,000 ดอลลาร์

เวรา ลุยซา ดา คอสตา อี ซิลวา (Vera Luiza da Costa e Silva) ผู้อำนวยการของสำนักเลขาธิการสนธิสัญญา FCTC คือบุคคลที่ได้รับมอบภารกิจในการป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมนี้เข้ามาทำการตอนข้อตกลงฉบับนี้

จากการสัมภาษณ์เธอรวม 2 ครั้งที่สำนักงานของเธอในเจนีวา ดา คอสตา อี ซิลา ซึ่งเป็นแพทย์ที่จบปริญญาเอกในด้านสาธารณสุขศาสตร์ด้วย รวมทั้งย้อมผมของเธอปอยหนึ่งให้เป็นสีชมพู อธิบายให้ฟังว่าทำไม FCTC จึงห้ามไม่ให้สาธารณชนคนใดเข้าไปร่วมการประชุมใหญ่ทุกรอบ 2 ปีเมื่อปี 2014 ในกรุงมอสโก เธอบอกว่าคำสั่งห้ามนี้เพื่อเป็นการตอบโต้ความพยายามของพวกผู้บริหารอุตสาหกรรมยาสูบที่จะอาศัยฐานะของการเป็นประชาชนผู้สนใจเพื่อให้ได้บัตรอนุญาตผ่านเข้าไปในที่ประชุม เธอเล่าต่อไปว่า ถึงอย่างไรพวกตัวแทนของอุตสาหกรรมยาสูบยังคงไม่ย่อท้อ และเริ่มขอยืมบัตรผ่านจากพวกผู้แทนที่พวกเขารู้จักเพื่อพาตัวเองเข้าไปในที่ประชุมจนได้

“มันเป็นการทำสงครามกันจริงๆ” ดา คอสตา อี ซิลวา กล่าว

แต่เอาเข้าจริงแล้วเธอก็มองเห็นภาพของกองกำลังที่รายล้อมเรียงแถวเข้าเล่นงานเธอ เพียงแค่บางส่วนอยู่ดี เธอไม่ได้ตระหนักรับรู้ข้อเท็จจริงที่ว่า ฟิลิป มอร์ริส มีทีมงานขนาดใหญ่ที่กำลังปฏิบัติการอยู่ตลอดทั่วทั้งการประชุมใหญ่ในมอสโก หรือรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขาในนิวเดลีเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

“เรื่องนี้น่าสะอิดสะเอียนมาก พวกนี้คือกองกำลังต่อต้านซึ่งเราจะต้องรับมือด้วย” ดา คอสตา อี ซิลวา กล่าวในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภายหลังได้รับการบอกเล่าให้ทราบเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ของฟิลิป มอร์ริส “ดิฉันคิดว่าพวกเขาต้องการทำให้สนธิสัญญาฉบับนี้เกิดการระเบิดทำลายตัวเองขึ้นมาจากภายใน”

อนุสัญญา FCTC ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร

แนวความคิดเรื่องการจัดทำสนธิสัญญาควบคุมยาสูบในระดับทั่วโลก เป็นสิ่งที่มีการอภิปรายหารือกันในระหว่างพวกผู้เรียกร้องต่อสู้ในเรื่องสุขภาพมานานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ปี 1979 เมื่อคณะกรรมการชุดหนึ่งขององค์การอนามัยโลกเสนอแนะว่ามีความเป็นไปได้ที่ผลักดันข้อตกลงเช่นนี้ออกมา และแล้ว โกร ฮาร์เลม บรันดท์แลนด์ (Gro Harlem Brundtland) อดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกในปี 1998 ก็ทำให้มันกลายเป็นความจริงขึ้นมา

เธอได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากความโกรธแค้นของผู้คนที่มีต่อเอกสารต่างๆ ซึ่งเปิดเผยออกมา ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงประนอมยอมความฉบับหลักปี 1998 (1998 Master Settlement Agreement) ที่บริษัทยาสูบใหญ่ที่สุด 4 แห่งของสหรัฐฯตกลงยอมจ่ายเงินกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่ 46 มลรัฐของอเมริกา เอกสารซึ่งเป็นการติดต่อสื่อสารภายในเหล่านี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พวกผู้บริหารอุตสาหกรรมยาสูบทราบมานานแล้วว่าบุหรี่สามารถเป็นสาเหตุทำให้ผู้สูบเสียชีวิตได้ ทว่ากลับโกหกมาเป็นปีๆ ว่าไม่มีความรู้เรื่องนี้

มีเอกสารเมื่อปี 1989 ฉบับหนึ่งเปิดเผยให้ทราบถึงแผนการของบริษัทแห่งหนึ่งที่จะต่อสู้กับภัยคุกคามทั้งหลายซึ่งมีต่ออุตสาหกรรมยาสูบ เอกสารฉบับนี้ระบุว่า “ผลกระทบจากองค์การอนามัยโลก และอิทธิพลขององค์การอนามัยโลก เป็นเรื่องที่ไม่ต้องมาถกเถียงโต้แย้งกันเลย” แล้วก็เดินหน้ากล่าวถึงการขบคิดเสาะหา “มาตรการตอบโต้ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อใช้ ปิดล้อม/ทำให้สิ้นฤทธิ์เดช/กำหนดทิศทางเดินเสียใหม่ องค์การอนามัยโลก”

บริษัทแห่งนั้นก็คือ ฟิลิป มอร์ริส

ในปี 2008 บริษัทอัลเทรีย กรุ๊ป อิงก์ (Altria Group Inc) ได้นำเอาธุรกิจฟิลิป มอร์ริส ของตนมาตัดแยกออกเป็นหลายส่วน ฟิลิป มอร์ริส ยูเอสเอ (Philip Morris USA) ซึ่งยังคงเป็นบริษัทในเครือแห่งหนึ่งของอัลเทรีย ทำหน้าที่ขาย มาร์ลโบโร (Marlboro) และแบรนด์อื่นๆ ในสหรัฐฯ ฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล (Philip Morris International) ถูกจับแยกออกไปต่างหาก ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจที่อยู่ในต่างแดน ตั้งแต่ที่มีการแตกกิจการคราวนั้น ราคาหุ้นของฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแหล ไต่สูงไปเป็นกว่าสองเท่าตัว ส่วนอัลเทรียนั้นขึ้นไปเป็นกว่าสามเท่าตัวทีเดียว

สำนักงานใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการของ ฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งอยู่ในเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยอยู่บนถนนสายเดียวกันถัดออกไปจากกลุ่มซากปรักหักพังยุคแกลโล-โรมัน (Gallo-Roman) ตัวสำนักงานอยู่ในอาคารวาววับทันสมัยหลังหนึ่งซึ่งมีทั้งห้องอาหาร, โรงยิม, และลานกว้างที่หันเข้าหาทะเลสาบเจนีวา (Lake Geneva) จากที่นั่นเอง บริษัทกำลังทำงานเพื่อมุ่งทำให้สนธิสัญญา FCTC สะดุดติดขัด

เอกสารติดต่อสื่อสารภายในบริษัทหลายชิ้นเปิดเผยให้ทราบถึงขนาดขอบเขตของการปฏิบัติการของฟิลิป มอร์ริส ในระหว่างการประชุมใหญ่ของประเทศภาคี FCTC ปี 2014 ในกรุงมอสโก โดยบริษัทได้จัดตั้ง “ห้องประสานงาน” ขึ้นซึ่งสามารถรองรับคนทำงานได้ 42 คน ทั้งนี้ตามพรีเซนเทชั่นในรูปโปรแกรมเพาเวอร์พอยต์ในปี 2014 ชิ้นหนึ่ง ที่ใช้ชื่อหัวเรื่องว่า “Corporate affairs approach and issues” (วิธีเข้าถึงปัญหาและประเด็นต่างๆ ในกิจการเกี่ยวกับบริษัท)

ผู้นำการปฏิบัติการนี้คือ ผู้บริหาร คริส ค็อดเดอร์มานน์ (Chris Koddermann) อดีตทนายความและนักล็อบบี้ในแคนาดาผู้นี้เข้าทำงานกับฟิลิป มอร์ริส ในปี 2010 เวลานี้เขามีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านกิจการระเบียบกฎหมายคนหนึ่ง (a director of regulatory affairs) ในสำนักงานโลซานน์ พรีเซนเทชั่นเพาเวอร์พอยต์ชิ้นดังกล่าวบรรยายว่า ผู้บริหารด้านกิจการเกี่ยวกับบริษัทในอุดมคติเลย คือผู้ซึ่งสามารถที่จะ “เล่นเกมการเมืองได้” ปรากฏว่าก่อนหน้านี้ค็อดเดอร์มานน์เคยทำงานให้พวกรัฐมนตรีทั้งในระดับรัฐบาลกลางและในระดับรัฐของแคนาดามาแล้ว ทั้งนี้ตามโปรไฟล์ในสื่อสังคม “ลิงค์อิน” (LinkedIn) ของเขา

เมื่อติดต่อผ่านทางโทรศัพท์มือถือของเขาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ค็อดเดอร์มานน์กล่าวว่าเขาไม่สามารถที่จะให้เข้าพบได้ และคำถามใดๆ ที่อยากถามก็ควรส่งโดยตรงไปที่ฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล

อีเมลแสดงความยินดี

ในตอนสิ้นสุดการประชุมใหญ่ที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2014 ค็อดเดอร์มานน์ได้ส่งอีเมลฉบับหนึ่งไปแสดงความยินดีกับทีมงานจำนวน 33 คนของฟิลิป มอร์ริส สำหรับความสำเร็จของพวกเขาในการลดทอนหรือสกัดกั้นมาตรการต่างๆ ซึ่งมุ่งหมายที่จะเพิ่มการควบคุมยาสูบให้เข้มแข็งมากขึ้น ตลอดจนลดยอดขายบุหรี่ลงมา อีเมลของเขาระบุด้วยว่า ความสำเร็จที่เขาโอ่อวดด้วยความภูมิใจในตอนสิ้นสุดการประชุมใหญ่ซึ่งกินเวลา 1 สัปดาห์คราวนี้นั้น เป็นผลของการสั่งสมความพยายามเป็นเวลาถึง 2 ปี

เอกสารเฉกเช่นอีเมลฉบับนี้เองที่สาดแสงสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการรณรงค์เรื่อง FCTC ของฟิลิป มอร์ริส อันได้แก่ การทำให้เรื่องยาสูบยังคงอยู่ภายในปริมณฑลของพวกข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ เพื่อที่บริษัทจะได้มีหนทางเพิ่มการรณรงค์ต่อสู้ทางกฎหมายมาเล่นงานต่อต้านระเบียบกฎหมายในด้านยาสูบ

ในมอสโกนั้น ข้อเสนอประการหนึ่งเริ่มแรกทีเดียวเรียกร้องให้ตัดยาสูบออกมาจากข้อตกลงการค้าทั้งหลาย ทั้งนี้พวกสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศมักบรรจุพวกบทบัญญัติอย่างเช่น การคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ซึ่ง ฟิลิป มอร์ริส เพิ่งนำเอาประเด็นนี้มาใช้ท้าทายคัดค้านมาตรการต่อต้านการสูบบุหรี่ ถ้าหากยาสูบถูกตัดออกไปจากสนธิสัญญาตามที่บ่งชี้โดยข้อเสนอแล้ว ฟิลิป มอร์ริสก็จะขาดไร้ข้อโต้แย้งทางกฎหมายเช่นนี้ไปเป็นจำนวนมาก

ในร่างแรกสุดของข้อเสนอนี้ มีข้อความเรียกร้องให้บรรดาประเทศภาคีสนับสนุนความพยายามในการทำให้ยาสูบถูกยกเว้นจากข้อตกลงการค้า รวมทั้งให้คอยป้องกันขัดขวางไม่ให้อุตสาหกรรมยาสูบใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ทางการค้าและการลงทุน “ไปในทางมิชอบ” ทว่าลงท้ายแล้ว ข้อเสนอนี้ก็ถูกลิดรอนให้เจือจางลงมา โดยที่มติสุดท้ายระบุเพียงแค่เตือนให้ประเทศภาคีระลึกถึง “ความเป็นไปได้ที่จะคำนึงถึงวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุขของพวกเขาในเวลาที่พวกเขาทำการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าและการลงทุน” โดยที่ไม่ได้มีข้อความอ้างอิงถึงการให้ยกเว้นยาสูบออกมาจากข้อตกลงเหล่านี้เลย

ในอีเมลส่งถึงพวกเพื่อนร่วมงานของเขาในวันสุดท้ายของการประชุมใหญ่คราวนี้ ค็อดเดอร์มานน์ได้ประกาศชัยชนะ โดยบรรยายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าเป็น “ผลลัพธ์ที่ใหญ่มโหฬาร” เมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว บริษัทสามารถบรรลุ “วัตถุประสงค์ต่างๆของการณรงค์อันเกี่ยวเนื่องกับการค้า” เป็นต้นว่า “การหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการประกาศว่าเรื่องสุขภาพสำคัญกว่าเรื่องการค้า” และ “การหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการยอมรับว่า FCTC เป็นมาตรฐานสากลอย่างหนึ่ง” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้

ชัยชนะแบบนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ อดีตลูกจ้างพนักงานผู้หนึ่งของฟิลิป มอร์ริส อธิบายว่า บริษัทมักใช้พวกสนธิสัญญาการค้ามาท้าทายกฎหมายควบคุมยาสูบกันเป็นประจำ จุดมุ่งหมายก็คือ “การทำให้รัฐบาลชาติต่างๆ เกิดความหวาดกลัวไม่กล้าทำการเปลี่ยนแปลงด้านระเบียบกฎเกณฑ์” แม้กระทั่งเมื่ออุตสาหกรรมยาสูบต้องประสบความพ่ายแพ้ในสมรภูมิสำคัญๆ ทางกฎหมายอย่างต่อเนื่องเป็นชุดแล้ว แต่การยื่นฟ้องร้องของอุตสาหกรรมนี้ก็ยังคงมีบทบาทในการสร้างความเข็ดขยาดให้แก่รัฐบาลต่างๆ ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบมุ่งลดทอนการสูบบุหรี่ ความลังเลชักช้าเหล่านี้อาจส่งผลทำให้สามารถทำยอดขายได้อย่างไม่มีอะไรขัดขวางเป็นเวลาอีกหลายๆ ปีทีเดียว

อย่างที่พรีเซนเทชั่นเพาเวอร์พอยต์ของฟิลิป มอร์ริส ในปี 2014 ระบุเอาไว้นั่นแหละ: “การตั้งเครื่องสกัดกั้นกีดขวาง เป็นสิ่งที่มีความสำคัญพอๆ กับการมีหนทางแก้ไข”

“ลดทอนน้ำหนักให้อ่อนยวบลงมา”

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่จัดว่าเป็นการตั้งเครื่องกีดขวางของบริษัทยาสูบ ได้แก่แคมเปญที่มุ่งสกัดหยุดยั้งออสเตรเลียที่ประกาศใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ชุดหนึ่งซึ่งมีทั้งการห้ามใช้โลโก้และการใช้สีสันสดใสบนซองบุหรี่ ความพยายามของบริษัททั้งในการฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมและในการใช้อนุญาโตตุลาการเพื่อต่อต้านมาตรการนี้ในที่สุดแล้วก็ถูกปฏิเสธ ทว่าก่อนหน้านั้นก็มี 5 ประเทศยื่นคำร้องคัดค้านออสเตรเลียในหัวข้อเดียวกันนี้ต่อองค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) จนถึงเวลานี้องค์กรด้านการค้าของโลกแห่งนี้ก็ยังมิได้ประกาศคำตัดสินเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา

อย่างไรก็ดี ความพยายามที่จะสกัดระเบียบกฎเกณฑ์ที่ออกโดยรัฐบาลออสเตรเลียเช่นนี้ ได้ส่งผลทำให้เกิดความหวั่นผวาออกไปทั่ว กระทั่งนิวซีแลนด์สั่งชะลอการบังคับใช้กฎระเบียบให้ซองบุหรี่ต้องเป็นซองพื้นๆ เรียบๆ โดยที่รัฐบาลประเทศนั้นได้หยิบยกเรื่องความเสี่ยงที่พวกบริษัทยาสูบอาจจะ “เพิ่มการท้าทายทางกฎหมาย” มาเป็นเหตุผลในการออกประกาศเมื่อปี 2013 ว่า นิวซีแลนด์เลื่อนเวลาในการใช้กฎระเบียบเรื่องนี้ออกไปก่อน โดยจะ “รอดูสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีทางกฎหมายของออสเตรเลีย” กระทั่งมาถึงเวลานี้นิวซีแลนด์แถลงแล้วว่ามีกำหนดจะบังคับใช้เรื่องนี้ในปีหน้า

ในอีเมลตอนสิ้นสุดการประชุมใหญ่ที่มอสโกของเขา ค็อดเดอร์มานน์ยังแสดงความปีติยินดีต่อชะตากรรมของข้อเสนอฉบับหนึ่งที่ว่าด้วยเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ถ้อยคำในตอนต้นทีเดียวของข้อเสนอนี้มุ่งเสนอแนะประเทศต่างๆ ให้จำกัดการสนับสนุนผู้ปลูกยาสูบ แต่ในท้ายที่สุด ข้อเสนอนี้ก็ได้ “ถูกลดทอนน้ำหนักให้อ่อนยวบลงมาอย่างสำคัญ” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้ “นี่เป็นผลที่ออกมาในทางบวกมากๆ”

กุสตาโว โบซิโอ (Gustavo Bosio) ซึ่งเวลานั้นเป็นผู้จัดการผู้หนึ่งทางด้านการค้าระหว่างประเทศของฟิลิป มอร์ริส กล่าวแสดงความเห็นทำนองเดียวกัน ในอีเมลฉบับหนึ่งภายหลังการประชุมใหญ่ผ่านไปได้ไม่กี่วัน โดยบอกว่า “ผลที่ออกมาอย่างดีเลิศเหล่านี้ คือผลพวงโดยตรงของความพยายามอันโดดเด่นทั้งหลายของเขตต่างๆ และตลาดต่างๆ ทั้งหมดของพีเอ็มไอ (ฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล) ในระหว่างช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และตลอดทั้งสัปดาห์อันเข้มข้นในมอสโก”

ไม่ใช่มีแต่ฟิลิป มอร์ริส ลำพังโดดๆ หรอกที่กำลังหาทางทำให้สนธิสัญญาฉบับนี้อ่อนปวกเปียกลงมา ก่อนหน้าการประชุมใหญ่ FCTC ปี 2012 ในกรุงโซล บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ฟิลิป มอร์ริส, บริติช อเมริกัน โทแบคโค (British American Tobacco หรือ BAT), เจแปน โทแบคโค อินเตอร์เนชั่นแนล (Japan Tobacco International), และ อิมพีเรียล แบรนด์ส พีแอลซี (Imperial Brands Plc) ก็ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มทำงานของอุตสาหกรรมอย่างไม่เป็นทางการ” (informal industry Working Group) เพื่อคัดค้านข้อเสนอต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษียาสูบ ทั้งนี้ตามเอกสารภายในของ BAT ฉบับหนึ่งซึ่งรอยเตอร์ได้พบเห็นมา

เอกสารความยาว 45 หน้าฉบับนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีรายงานข่าวใดๆ เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมัน ชี้เอาไว้ว่ากลุ่มไม่เป็นทางการกลุ่มนี้จะร่วมมือประสานงานกัน “ในขนาดขอบเขตที่ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดความกังวลว่าเกิดมีพฤติการณ์ต่อต้านการแข่งขันขึ้นมา” เอกสารนี้ได้ให้ภาพคร่าวๆ เกี่ยวกับการรณรงค์ในระดับโลกซึ่ง BAT วางแผนเอาไว้เพื่อตอบโต้สนธิสัญญา FCTC ซึ่งเอกสารนี้กล่าวหาว่า “กำลังก้าวเลยไปจากอาณัติที่ตนได้รับมามากขึ้นเรื่อยๆ” พร้อมกันนี้เอกสารยังได้ระบุวัตถุประสงค์ต่างๆ ของบริษัท ซึ่งก็รวมถึงความพยายามในการสกัดกั้นการอภิปรายหารือเกี่ยวกับการเสนอให้จัดเก็บภาษียาสูบในขั้นต่ำสุดที่อัตรา 70%

เมื่อถูกสอบถาม บริษัท BAT ปฏิเสธไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับกลุ่มทำงานของอุตสาหกรรมที่ทางรอยเตอร์รายงาน ขณะที่ทั้ง อิมพีเรียล และ เจแปน โทแบคโค อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าพวกเขาไม่ต้องการแสดงความเห็นต่อเอกสารซึ่งมาจากคู่แข่งเช่นนี้ เจแปน โทแบคโค อินเตอร์เนชั่นแนล บอกว่า ทางผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีของตนได้พบปะหารือกับเพื่อนร่วมอาชีพความชำนาญเดียวกันจากบริษัทบุหรี่อื่นๆ ก็เพื่ออภิปรายถกเกียงกันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของสนธิสัญญาฉบับนี้ก่อนหน้าการประชุมใหญ่ปี 2012 สำหรับฟิลิป มอร์ริส ไม่ให้ความเห็นใดๆ ในเรื่องเอกสารนี้

เกี้ยวพาราสีพวกผู้แทน

อีเมลและเอกสารต่างๆ ของฟิลิป มอร์ริส ไม่ได้ให้รายละเอียดอย่างชัดเจนว่าบริษัททำอย่างไรจึงประสบชัยชนะสำคัญๆ ในมอสโก แต่อีเมลและเอกสารเหล่านี้ก็สร้างความเข้าใจอันลึกซึ้งถึงความสำคัญที่บริษัทให้แก่เรื่องการเกี้ยวพาราสีพวกผู้แทนประเทศภาคีที่เข้าประชุมใหญ่

ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา FCTC ลงมติตัดสินใจกันโดยยึดหลักฉันทามติ นั่นคือให้ทุกชาติภาคีเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้หากส่งอิทธิพลต่อคณะผู้แทนแม้เพียงของประเทศเดียว ก็สามารถที่จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่โตได้ สนธิสัญญาฉบับนี้มีเนื้อหาสำคัญอยู่ประการหนึ่งซึ่งมุ่งหมายที่จะกีดกันอุตสาหกรรมยาสูบไม่ให้เข้ามาแผ่อิทธิพลในหมู่พวกผู้แทนมากเกินสมควร โดยในมาตราที่รู้จักเรียกขานกันว่า มาตรา 5.3 (Article 5.3) ระบุว่า ชาติต่างๆ ควรพิทักษ์คุ้มครองนโยบายด้านสาธารณสุขของพวกตนจากกลุ่มผลประโยชน์ยาสูบ ในคู่มือแนวทางปฏิบัติที่ออกประกอบมากับมาตรา 5.3 เสนอแนะว่า ประเทศต่างๆ ควรมีปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมนี้ต่อเมื่อ “มีความจำเป็นอย่างยิ่ง” เท่านั้น

ทว่าในมาตรานี้เอง (ซึ่งจริงๆ แล้วมีความยาวเพียงแค่ 1 ประโยค) ก็บรรจุช่องโหว่ซึ่งฟิลิป มอร์ริส ฉวยคว้านำไปหาประโยชน์ กล่าวคือ ประโยคข้อความของมาตรานี้ปิดท้ายด้วยวลีว่า “โดยสอดคล้องกับกฎหมายระดับชาติ” ตรงนี้เองเปิดทางให้พวกกลุ่มพลังสนับสนุนยาสูบโต้แย้งว่า การทำการล็อบบี้ใดๆ ก็ตามซึ่งถือเป็นเรื่องถูกกฎหมายในประเทศหนึ่งๆ ย่อมสามารถที่จะกระทำได้เช่นกันเมื่อเป็นการมีปฏิสัมพันธ์กับพวกผู้แทนของประเทศนั้นๆ พวกเขายังโต้แย้งต่อไปอีกว่ามีประโยคหนึ่งในเอกสารที่เกี่ยวข้อง นั่นคือคู่มือแนวทางปฏิบัติสำหรับมาตรา 5.3 อนุญาตให้ดำเนินปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว ตราบเท่าที่กระทำกันแบบโปร่งใส

และแล้วก็เป็นที่ชัดเจนว่า ประเทศหนึ่งซึ่งอยู่ในบรรดาเป้าหมายของบริษัท ก็คือ เวียดนาม

ในวันเดียวกับที่การประชุมใหญ่มอสโกสิ้นสุดลง ค็อดเดอร์มานน์ได้รับอีเมลฉบับหนึ่งจากเพื่อนร่วมงานของเขาที่ชื่อ เหวียน แทง กี (Nguyen Thanh Ky) ซึ่งเป็นผู้บริหารกิจการเกี่ยวกับบริษัทในระดับนำคนหนึ่งที่ดูแลรับผิดชอบเวียดนาม กีกล่าวว่าเขาได้ร่วม “รับประทานอาหารกลางวันพร้อมพูดคุยซักถามกันอย่างละเอียด” (debrief lunch) กับทางคณะผู้แทนของเวียดนาม และมีผลที่ออกมาในทางดีซึ่งต้องการที่จะรายงานให้ทราบ: กล่าวคือ คณะผู้แทนเวียดนามเห็นด้วยและสนับสนุนการนำเอา “มาตรการต่างๆ ที่อยู่ในระดับพอประมาณและสมเหตุสมผล” มาดำเนินการภายใน “กรอบเวลาที่กระทำได้ในทางปฏิบัติ” เขาเขียนเอาไว้เช่นนี้ ทว่าเขาไม่ได้แจกแจงลงรายละเอียดว่าได้มีการหารือกันเกี่ยวกับมาตรการใดบ้าง

ระหว่างการประชุมที่มอสโก คณะผู้แทนเวียดนามขึ้นพูดอยู่บ่อยครั้ง บันทึกทบทวนซึ่งรวบรวมโดยพวกกลุ่มหนุนการควบคุมยาสูบที่ได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ของการประชุมคราวนี้ แสดงให้เห็นว่าทัศนะความคิดเห็นที่เวียดนามแสดงออกมานั้น บ่อยครั้งทีเดียวเป็นการสะท้อนจุดยืนเกี่ยวกับระเบียบกฎหมายควบคุมยาสูบของทางฟิลิป มอร์ริส เป็นต้นว่า ช่างเหมือนกับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่รายนี้เป็นอย่างมาก ทางผู้แทนเวียดนามก็กล่าวว่าการขึ้นภาษีบุหรี่ให้สูงขึ้นจะนำไปสู่การลักลอบขายบุหรี่เถื่อนผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น, เหมือนกับฟิลิป มอร์ริสอีก พวกเขาบอกว่า FCTC ควรถอยออกมาไม่เข้าไปอยู่ในข้อพิพาททางการค้า, และก็เหมือนกับฟิลิป มอร์ริสเช่นกัน พวกเขาคัดค้านข้อเสนอต่างๆ ที่จะให้กำหนดขนาดขอบเขตอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำหรับเรื่องความรับผิดทางกฎหมายของบริษัทยาสูบ

ในที่สุดแล้วคู่มือแนวทางปฏิบัติของ FCTC ในเรื่องการจัดเก็บภาษียาสูบ ก็มีข้อหนึ่งซึ่งระบุว่าองค์การอนามัยโลกเสนอแนะให้จัดเก็บภาษีอย่างต่ำที่สุด 70% รวมอยู่ด้วย ถึงแม้นั่นเป็นอะไรที่ฟิลิป มอร์ริส คัดค้าน แต่สำหรับข้อเสนอที่จะให้ FCTC เข้าไปแสดงบทบาทเกี่ยวข้องกับข้อพิพาททางการค้านั้นกลับถูกลดทอนน้ำหนักจนอ่อนลงไปมาก, และพวกมาตรการที่จะทำให้เรื่องความรับผิดทางกฎหมายของพวกบริษัทบุหรี่มีความแข็งแกร่งหนักแน่นยิ่งขึ้นนั้น ก็ถูกชะลอเลื่อนช้าออกไป

สำนักข่าวรอยเตอร์ได้ตั้งคำถามต่างๆ ในเรื่องเหล่านี้ แต่กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามไม่ได้ตอบกลับมา

การแอบนัดพบกันอย่างลับๆ

เอกสารภายในหลายชิ้นของฟิลิป มอร์รัส แสดงให้เห็นว่า ในทันทีที่การประชุมใหญ่ FCTC ณ กรุงมอสโก สิ้นสุดลง บริษัทก็หันไปสู่การประชุมใหญ่ครั้งต่อไป ซึ่งก็คือ การพบปะในปี 2016 ที่เมืองหลวงของอินเดีย

พรีเซนเทชั่นเพาเวอร์พอยต์ปี 2014 ได้กล่าวสรุปให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องระบุหนทางต่างๆ ซึ่งจะใช้ในการรวบรวมข่าวกรองระหว่างการประชุมใหญ่ที่นิวเดลี ในเอกสารเพื่อการวางแผนปี 2015 ซึ่งเป็นเอกสารแยกออกไปต่างหากอีกชิ้นหนึ่งนั้น บริษัทพูดเกี่ยวกับการจัดให้มีพวกเกษตรกรออกมาประท้วงในช่วงเวลาใกล้จะมีการประชุม และแล้วก็มีการประท้วงเช่นว่านั้นเกิดขึ้นมาจริงๆ อยู่หลายครั้ง โดยที่ครั้งหนึ่งเป็นการประท้วงที่บริเวณหน้าสำนักงานองค์การอนามัยโลกในนิวเดลี สำนักข่าวรอยเตอร์ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยตัดสินได้ว่า ฟิลิป มอร์ริส อยู่เบื้องหลังการชุมนุมประท้วงเหล่านี้หรือไม่

ขณะที่พวกบริษัทยาสูบใหญ่รายอื่นๆ ก็ได้ส่งคนของพวกเขาไปยังนิวเดลีในเดือนพฤศจิกายน 2016 ด้วยเหมือนกัน แต่ฟิลิป มอร์ริส โดดเด่นผิดเพื่อนในเรื่องการใช้วิธีอำพรางปิดลับ พวกผู้บริหารจากบริษัทนี้ไม่ได้ลงนามขอเข้าไปร่วมในที่ประชุม พร้อมๆ กับเพื่อนร่วมงานในอุตสาหกรรมยาสูบของพวกเขา ณ ศูนย์การประชุมซึ่งใช้เป็นที่จัดการประชุมใหญ่ FCTC ที่เมืองหลวงของอินเดียคราวนี้ นอกจากนั้นแล้วยังไปพำนักอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างศูนย์ประชุมออกไปเป็นระยะทางขับรถประมาณ 1 ชั่วโมง

การไม่เปิดเผยตัวและระยะทางที่ห่างไกลออกไปเช่นนี้ ช่วยให้ฟิลิป มอร์ริส สามารถที่จะเข้าไปถึงตัวพวกผู้แทนได้อย่างปิดลับ ในวันที่ 2 ของการประชุมใหญ่ มีรถตู้โตโยต้าสีขาวคันหนึ่งแล่นออกไปจากบริเวณด้านหน้าของโรงแรมไฮแอต รีเจนซี (Hyatt Regency) ซึ่งทางฟิลิป มอร์ริส ไปจัดตั้งห้องปฏิบัติการของตนเอาไว้ แล้วบ่ายหน้าไปยังสถานที่ประชุมใหญ่ชาติภาคีสนธิสัญญา FCTC ผู้โดยสารคนหนึ่งในรถตู้คันนั้นคือ กี ผู้บริหารกิจการเกี่ยวกับบริษัทของฟิลิป มอร์ริส จากเวียดนาม

คนขับรถของกีได้พูดจากับตำรวจจนสามารถผ่านด่านกั้นที่บริเวณด้านนอกของศูนย์การประชุม ซึ่งใช้เป็นจุดตรวจบัตรอนุญาตให้เข้าที่ประชุมที่ออกโดย FCTC โดยที่เขาบอกกับตำรวจว่าเขากำลังขับรถให้ “คณะวีไอพี” คนขับผู้นี้เล่าให้รอยเตอร์ฟังในเวลาต่อมา

อีกไม่กี่นาทีถัดจากนั้น ชายในชุดสูทสีเข้มผู้หนึ่งได้เดินออกมาจากศูนย์การประชุม ผ่านรถตู้สีขาวซึ่งจอดอยู่ และไปหยุดที่บริเวณหัวมุมถนนแห่งหนึ่ง รถตู้คันนั้นได้เลี้ยวโค้งกลับ และผู้สื่อข่าวรอยเตอร์คนหนึ่งมองเห็นชายชุดสูทผู้นั้นรีบขึ้นไปในรถอย่างรวดเร็ว เขาคือ เหวียน วินห์ ก๊วก (Nguyen Vinh Quoc) เจ้าหน้าที่รัฐบาลเวียดนาม ซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสคนหนึ่งของคณะผู้แทนเวียดนามในการประชุมใหญ่ FCTC ครั้งนี้

คนขับรถซึ่งมีชื่อว่า คิชอเร กุมาร (Kishore Kumar) เล่าขณะให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้ปล่อยชายทั้ง 2 คนลงจากรถที่โรงแรมท้องถิ่นแห่งหนึ่ง กุมารกล่าวว่ายังมีอีกหลายๆครั้งในสัปดาห์นั้น ที่เขาขับรถพา กี ไปรอรับคนจากโรงแรม ฟอร์มูล 1 (Hotel Formule1) อันเป็นที่พักราคาประหยัดซึ่งคณะผู้แทนเวียดนามพักอาศัยกันอยู่ระหว่างการประชุมใหญ่

ทั้ง กี และ ก๊วก ต่างไม่ได้ตอบอะไรเมื่อถูกรอยเตอร์สอบถามเพื่อขอให้แสดงความเห็น

เมื่อถูกรอยเตอร์ถามถึงเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่าง กี กับพวกผู้แทนเวียดนาม แอนดริว โคฟ ผู้บริหารของฟิลิป มอร์ริส ได้ใช้กำปั้นทุบโต๊ะตัวที่นั่งกันอยู่ในบาร์แห่งหนึ่งของโรงแรมซึ่งพวกผู้แทนของบริษัทกำลังพักอยู่ เขากล่าวว่ารอยเตอร์ควรจะโฟกัสที่เรื่องความพยายามต่างๆ ของอุตสาหกรรมยาสูบในการพัฒนาสิ่งที่เขาเรียกว่า ผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยง ซึ่งก็คือพวกผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยสารนิโคตินออกมาโดยไม่มีการเผาไหม้ยาสูบ และซึ่งทางฟิลิป มอร์ริส กลาวว่าช่วยลดอันตรายลงได้

ครั้นเมื่อถูกจี้ถามเกี่ยวกับการพบปะกับพวกผู้แทนเวียดนาม เคฟก็ทุบโต๊ะอีกครั้งและพูดว่า “ผมโกรธนะที่คุณกำลังโฟกัสที่เรื่องนี้ แทนที่จะเป็นเรื่องประเด็นปัญหาจริงๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อผู้คนจริงๆ”

ในอีเมลที่ส่งตามมาภายหลัง เคฟกล่าวว่า “พวกตัวแทนจากฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ได้พบปะกับพวกผู้แทนจากเวียดนาม” ระหว่างการประชุมใหญ่ที่นิวเดลี “เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านนโยบาย และการกระทำเช่นนี้มีความสอดคล้องอย่างเต็มที่กับกระบวนวิธีภายในของพีเอ็มไอ (ฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล) และกับกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของเวียดนาม”

เคฟยังกล่าวในการให้สัมภาษณ์แยกต่างหากหลายๆ ครั้งว่า พวกผู้แทนนั้นมีความลังเลที่จะพบปะอย่างเปิดเผยกับทางฟิลิป มอร์ริส เนื่องจากพวกเขาหวั่นเกรงว่าจะถูก “ระบุชื่อและสร้างความอับอายให้” โดยพวกกลุ่มต่อต้านการสูบบุหรี่

“เขาเลิกทาสกันไปตั้งนานแล้ว”

มีผู้แทนบางรายตั้งคำถามข้องใจเกี่ยวกับขนาดขอบเขตอิทธิพลของฟิลิป มอร์ริส ที่มีต่อมติการตัดสินใจต่างๆ ในการประชุมใหญ่ ณ กรุงมอสโก และระบุว่าบรรดาผู้เข้าร่วมประชุมไม่เห็นด้วยกันจริงๆ ในประเด็นปัญหาหลายอย่างหลายประการ นันทวรรณ วิจิตรวาทการ ผู้แทนคนหนึ่งจากประเทศไทย เป็นผู้ที่ได้กำกับดูแลการถกเถียงอภิปรายจำนวนมาก ในฐานะที่เธอเป็นประธานของคณะกรรมการชุดหนึ่งของ FCTC ณ การประชุมใหญ่มอสโก เธอบอกว่าพวกผู้แทนมีความคิดเห็นแตกต่างกัน พร้อมกับยกตัวอย่างเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า (e-cigarettes) ซึ่งเธอมองว่าถึงแม้บริษัทกำลังล็อบบี้เรื่องนี้กันอย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะกำหนดผลลัพธ์ซึ่งจะออกมาได้

ขณะเดียวกัน บรรดาเอกสารของฟิลิป มอร์ริส ที่ถูกเปิดเผยออกมาเหล่านี้ ก็ทิ้งคำถามเอาไว้โดยที่มิได้มีคำตอบ ในบางกรณี เอกสารเห่านี้แสดงให้เห็นว่าบริษัทกำลังบ่มเพาะฟูมฟักแผนการที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์การต่อต้านการสูบบุหรี่ หรือเพื่อเฝ้าติดตามพวกนักเคลื่อนไหว ทว่าก็ไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนเสมอไปว่าแผนการเหล่านี้มีขนาดขอบเขตแค่ไหนหรือจะดำเนินการกันอย่างไร หรือกระทั่งว่าไม่ได้ระบุรายละเอียดอะไรเหล่านี้เอาเลย พรีเซนเทชั่นเพาเวอร์พอยต์ปี 2014 เรียกร้องให้ดำเนินการ “สอดส่องอย่างประสบผลสำเร็จ” ต่อประดาผู้รณรงค์เรียกร้องให้ควบคุมยาสูบทั้งหลาย และบอกว่าได้มีการจัดตั้ง “ทีมโปรเจ็กต์ระดับโลก” (global project team) ขึ้นมาแล้วเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ข้อนี้ ทว่าก็ไม่ได้มีการแจกแจงว่าจะมีการใช้วิธีการอะไรกันบ้าง

มีอยู่เหมือนกันในบางกรณี ที่ความพยายามในการล็อบบี้ของฟิลิป มอร์ริส ประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เป็นต้นว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 รัฐสภายูกันดาได้ผ่านกฎหมายต่อต้านยาสูบฉบับใหม่ๆ รวดเดียวหลายฉบับ โดยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสนธิสัญญา FCTC ทั้งหมดที่ยังจะต้องทำต่อไปก็เพียงแค่ลายเซ็นของประธานาธิบดีโยเวรี มูเซเวนี (Yoweri Museveni) แล้วชาติแอฟริกาเล็กๆ แห่งนี้ก็จะกลายเป็นผู้นำรายหนึ่งของทวีปนี้ในการนำเอาสนธิสัญญา FCTC ชนิดที่ตีความอย่างเข้มงวดกวดขันมาปฏิบัติ

ทางฟิลิป มอร์ริส ได้ส่งผู้บริหารคนหนึ่งซึ่งเป็นชายผิวขาวอายุยังหนุ่มแน่น ไปบอกกล่าวประธานาธิบดีวัย 70 กว่าปีผู้นี้ ซึ่งเมื่อนานมาแล้วได้มีบทบาทช่วยเหลือโค่นล้มจอมเผด็จการ อีดี อามิน (Idi Amin) ถึงเหตุผลว่าทำไมการออกกฎหมายยาสูบเช่นนี้จึงเป็นความคิดที่แย่เอามากๆ เชลา เอ็นเดียนาบังกี (Sheila Ndyanabangi) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชั้นนำของยูกันดาในประเด็นปัญหายาสูบซึ่งเข้าร่วมการพบปะหารือคราวนั้นด้วย กล่าวถึงวิธีการของผู้บริหารฟิลิป มอร์ริส คนนี้ว่ากำลังพยายามเล็กเชอร์ให้รัฐบุรุษผู้นี้ฟัง

“เขาบอกว่า 'ยาสูบในยูกันดาจะแพงเกินไป' และ 'มันจะไม่สามารถแข่งขันได้' เอ็นเดียนาบังกีกล่าว คำบอกเล่าของเธอได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลยูกันดาผู้หนึ่งซึ่งก็อยู่ในที่พบปะหารือเช่นกัน

มูเซเวนีจ้องมองอยู่ชั่วขณะหนึ่งไปที่ตัวผู้บริหารฟิลิป มอร์ริส และตัวแทนคนหนึ่งซึ่งมาจากบริษัทรับซื้อยาสูบรายใหญ่ที่มาพร้อมกับผู้บริหารคนนี้ จากนั้นประธานาธิบดีก็ประกาศว่า “เขาเลิกทาสกันมาตั้งนานแล้ว” จากนั้นความเงียบเข้าปกคลุมห้องนั้นอยู่เป็นเวลานานทีเดียว เอ็นเดียนาบังกีย้อนระลึกเหตุการณ์ แล้วมูเซเวนีก็บอกว่ายูกันดาไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาสูบ และการพบปะเป็นอันสิ้นสุดลง ประธานาธิบดีผู้นี้ได้ลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าวในเดือนกันยายนปีนั้นเอง

ทางสำนักงานของมูเซเวนีไม่ได้ตอบอะไรเมื่อรอยเตอร์ขอให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

ผลักดันให้ชาติต่างๆ เปลี่ยนตัวผู้แทน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การล็อบบี้ของอุตสาหกรรมยาสูบก็กำลังชะลอความก้าวหน้าของการปฏิบัติตามสนธิสัญญา ณ การประชุมใหญ่ทุกรอบ 2 ปี การอภิปรายถกเถียงกันได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น ในมอสโก มีการโฟกัสอย่างแข็งขันที่เรื่องการค้าและภาษี “คุณสามารถมองเห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมว่า การแทรกแซงกำลังโฟกัสอย่างมากมายเหลือเกินไปที่แง่มุมต่างๆ ในทางการค้า หลายครั้งหลายหนทีเดียวที่กระทั่งนำเอาเรื่องการค้ามาอยู่เหนือเรื่องสุขภาพ” ดา คอสตา อี ซิลวา แห่งสำนักงานเลขาธิการ FCTC กล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้ว

องค์ประกอบของคณะผู้แทน FCTC ซึ่งรัฐบาลต่างๆ ส่งมาร่วมการประชุมก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยที่จำนวนของผู้แทนซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณสุขกำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น เรื่องนี้ตรงกับสิ่งที่ฟิลิป มอร์ริส และพวกบริษัทยาสูบอื่นๆ ต้องการอยู่แล้ว กล่าวคือ ฟิลิป มอร์ริส ตลอดจน บริติช อเมริกัน โทแบคโค ต่างพยายามหาทางเปลี่ยนแปลงสมดุลของคณะผู้แทนของชาติภาคีต่างๆ โดยมุ่งให้มีผู้แทนที่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขลดน้อยลง และเพิ่มจำนวนสมาชิกที่มาจากกระทรวงอย่างเช่นการคลังและพาณิชย์ หน่วยงานประเภทนี้ อดีตผู้บริหารฟิลิป มอร์ริส กล่าวว่าเป็นพวกที่ได้รับผลประโยชน์จากการจัดเก็บภาษียาสูบ และให้น้ำหนักแก่ความกังวลห่วงใยด้านสุขภาพน้อยกว่าพวกหน่วยงานด้านสาธารณสุข

“กระทรวงสาธารณสุขต้องการเพียงแค่ให้ห้ามยาสูบเท่านั้นแหละ ขณะที่สำหรับกระทรวงการคลังแล้ว มีความสนใจมากกว่ากับเรื่องอย่างเช่นเราจะสามารถหาเงินกู้เพิ่มขึ้นได้ยังไง หรือทำอย่างไรจึงจะจัดหารายรับให้ได้มากๆ ตามที่เราสามารถทำได้” เขากล่าว

จุดมุ่งหมายในความพยายามของฟิลิป มอร์ริส ตามที่ระบุไว้ในพรีเซนเทชั่นเพาเวอร์พอยต์ว่าด้วยกิจการเกี่ยวกับบริษัทเมื่อปี 2014 คือ “การผลักดันพวกประเด็นด้านยาสูบให้ห่างออกมา” จากกระทรวงสาธารณสุข และสาธิตให้เห็นว่ามีผลประโยชน์สาธารณะที่กว้างไกลกว่านั้นซึ่งควรจะต้องคำนึงด้วย – ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ “ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับยาสูบ”

เคฟ ผู้บริหารกิจการเกี่ยวกับบริษัทของฟิลิป มอร์ริส ยืนยันว่าเป็นความจริงที่บริษัทกำลังพยายามโน้มน้าวชักชวนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะผู้แทน เขากล่าวว่าพวกเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพไม่ได้มีความพรักพร้อมที่จะรับมือกับความสลับซับซ้อนของประเด็นปัญหาอย่างเช่นเรื่องการจัดเก็บภาษี

“คุณกำลังมองที่เรื่องการค้าของเถื่อน, คุณกำลังมองที่ระบบการจัดเก็บภาษี, คุณกำลังมองที่กฎหมายระหว่างประเทศ” เขาบอก “คราวนี้มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลอยู่แล้วว่าในแต่ละด้านเหล่านี้ อย่างเช่นถ้าคุณต้องการจัดการกับเรื่องการค้าและการลักลอบขนบุหรี่, การค้าของเถื่อนกันอย่างแท้จริงแล้ว คุณจะไปหาใคร? คุณจะไม่ไปที่กระทรวงสาธารณสุขหรอก”

รอยเตอร์ได้วิเคราะห์บัญชีรายชื่อของสมาชิกคณะผู้แทนที่ได้รับการรับรองให้เข้าร่วมการประชุมใหญ่จำนวนทั้งสิ้นเกือบๆ 3,500 คน ในการประชุม FCTC 7 ครั้งที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2006 ผลการวิเคราะห์พบว่าเมื่อปี 2006 มีผู้แทนที่มาจากด้านสาธารณสุขมากกว่า 6 คนต่อผู้แทนที่มาจากด้านเกี่ยวข้องกับการเงินการคลังทุกๆ 1 คน พอมาถึงการประชุมใหญ่ที่นิวเดลีปีที่แล้ว อัตราส่วนนี้ได้หล่นลงมาอยู่ในระดับที่ว่า มีผู้แทนด้านสุขภาพจำนวนเกินกว่า 3 คนเล็กน้อยต่อผู้แทนที่มาจากด้านเกี่ยวข้องกับการเงินทุก 1 คน ทั้งนี้จำนวนผู้แทนซึ่งมาจากสาขาการเงิน, เกษตร, และการค้า ได้เพิ่มขึ้นจากไม่กี่สิบคนเมื่อปี 2006 กลายเป็นมากกว่า 100 คนแล้วในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้

ยกตัวอย่างคณะผู้แทนของเวียดนาม ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปชัดเจนโดดเด่น ณ การประชุมใหญ่ FCTC ครั้งแรกในปี 2006 ในจำนวนผู้แทน 4 คนของเวียดนามไม่มีใครเลยที่มาจากกระทรวงการคลังหรือกระทรวงพาณิชย์ พอมาถึงปี 2014 ในกรุงมอสโก เวียดนามมีจำนวนผู้แทนทั้งหมด 13 คน ปรากฏว่าอย่างน้อยที่สุด 4 คนมาจากกระทรวงซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านการเงิน รวมทั้งตัวหัวหน้าคณะผู้แทนด้วย เมื่อรอยเตอร์สอบถามเกี่ยวกับเรื่องผู้แทนนี้ ก็ไม่ได้รับคำตอบจากกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามแต่อย่างใด

ดา คอสตา อี ซิลวา กล่าวว่าไม่ได้คัดค้านการมีผู้แทนที่มาจากพวกกระทรวงด้านการค้า แต่เธอเห็นว่าโฟกัสอันดับแรกของพวกเขาจำเป็นที่จะต้องเป็นเรื่องสุขภาพ นอกจากนั้นเธอยังแสดงความวิตกเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะผู้แทนของเวียดนามด้วย ในจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งส่งถึงนายกรัฐมนตรีเวียดนามเมื่อปลายปี 2015 เธอเรียกร้องให้ถอนพวกลูกจ้างพนักงานของอุตสาหกรรมยาสูบออกไปจากคณะผู้แทน เธอเขียนว่า ถ้าหากไม่ถอนคนเหล่านี้ออกไป เ เวียดนามก็น่าจะ “ไม่สามารถแสดงบทบาทส่วนของตนอย่างเต็มที่ในการอภิปรายถกเถียงเรื่องต่างๆ”

ในปี 2016 เวียดนามส่งคณะผู้แทนจำนวน 11 คนไปร่วมการประชุมใหญ่ที่นิวเดลี โดยในจำนวนนี้ 6 คนมาจากพวกหน่วยงานด้านสุขภาพ รวมทั้งตัวหัวหน้าคณะด้วย

นักเคลื่อนไหวต่อสู้ให้มีการควบคุมยาสูบบางราย ซึ่งเข้าร่วมการประชุมหารือที่นิวเดลีในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วด้วย กล่าวว่ามันเป็นการประชุมใหญ่ครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา เมื่อพิจารณาจากมุมมองในเรื่องการผ่านบทบัญญัติต่อต้านการสูบบุหรี่ฉบับใหม่ๆ

แมตธิว ไมเออร์ส (Matthew Myers) ผู้เป็นประธานของกลุ่ม “รณรงค์เพื่อลูกหลานที่ปลอดยาสูบ” (Campaign for Tobacco-Free Kids) บอกว่ามีหลายประเทศทีเดียวที่มาเข้าร่วมโดยเตรียมตัวตั้งใจที่จะคอยสกัดกั้นไม่ให้เกิดการปฏิบัติการขึ้นมา เขากล่าวด้วยว่าเขาได้ยินผู้แทนหลายคนเสนอข้อโต้แย้งแบบที่ “ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา”

ตัวอย่างเช่น ผู้แทนจากไนจีเรียคนหนึ่ง ขอให้ตัดวลีที่พูดถึง “การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของยาสูบ” (the tobacco epidemic) ออกไปจากร่างข้อเสนอว่าด้วยความรับผิดสำหรับอันตรายที่เกี่ยวข้องสืบเนื่องจากยาสูบ” ทั้งนี้ตามข้อความต่างๆ ซึ่งกลุ่มต่อต้านการสูบบุหรี่จดบันทึกกันเอาไว้

เมื่อถูกถามความเห็นในเรื่องนี้ คริสเตียนา อุโคลิ (Christiana Ukoli) หัวหน้าคณะผู้แทนไนจีเรียที่เข้าร่วมประชุมใหญ่ในนิวเดลี กล่าวว่า “คณะผู้แทนไนจีเรียขอแยกตัวเองอย่างแข็งขันออกจากคำแถลงเช่นนี้”

การประชุมใหญ่นิวเดลีในที่สุดแล้วก็สิ้นสุดลงเหมือนอย่างตอนที่มันเริ่มต้นขึ้นมา โดยที่พวกเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสนธิสัญญาไม่ได้ทราบเลยว่าฟิลิป มอร์ริส อยู่ที่ไหนหรือทำอะไรไปบ้าง บริษัทได้ส่งทีมผู้บริหารทีมหนึ่งบินเข้ามา, ใช้รถตู้ที่เหมือนๆ กันจำนวนหนึ่งคอยรับส่งพวกเจ้าหน้าที่ในนิวเดลี และแล้วก็ออกไปจากเมืองโดยไร้ร่องรอยให้ติดตามสืบสาว


กำลังโหลดความคิดเห็น