xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบของบุหรี่ ต่อยารักษาโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By: Pharmchompoo

วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม กำลังมาถึงอีกครั้ง บุหรี่เป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุข เช่นเดียวกับเรื่องสุรา โดยที่มีการประมาณการณ์กันว่ามีนักสูบหน้าใหม่เกิดขึ้นราว 2-3 แสนคน/ปี และเสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ชั่วโมงละ 6 คน เป้าหมายของการรณรงค์คือ การลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะนักสูบที่อายุต่ำกว่า 19 ปี เพราะมีหลักฐานว่าผู้ที่ติดบุหรี่ส่วนใหญ่ เริ่มสูบก่อนอายุ 19 ปี (เครือข่ายเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบและมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่) และให้ผู้ที่ติดบุหรี่อยู่เดิม พยายามเลิกบุหรี่ให้ได้ คงไม่ต้องกล่าวถึงโรคแทรกซ้อน ผลเสียจากการสูบบุหรี่ แต่ในบทความนี้จะพูดถึงผลกระทบของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำกับการกินยารักษาโรค ซึ่งหลายคนอาจจะคาดไม่ถึง

การสูบบุหรี่สามารถเพิ่มความขยันขันแข็งของเอนไซม์ที่ใช้ในการทำลายยา (cytochrome) ทำให้ระดับยาที่ใช้ในการรักษาโรคบางชนิดลดต่ำลง กินยาเข้าไป 100 ออกฤทธิ์ได้เพียง 10 อะไรแบบนั้น เสียค่ายาเปล่าๆ แถมยาบางชนิด 1 เม็ดยังมีราคาแพงมากกว่าบุหรี่ 1 ซองเสียด้วยซ้ำ มาดูกันว่ายาอะไรที่บุหรี่ส่งผลกระทบไปถึง

ยานอนหลับ alprazolam ทำให้ฤทธิ์นอนหลับของ alprazolam ลดลง

ยารักษาอาการทางจิตเวช เช่น chlorpromazine, clozapine, haloperidol ทำให้ฤทธิ์ที่จะได้รับจากยาลดลง

ยารักษาโรคมะเร็ง erlotinib บุหรี่ทำให้ระดับยา erlotinib ลดลงไปถึง 2 เท่า ทำให้ฤทธิ์ในการรักษามะเร็งลดลง

ยารักษาอาการซึมเศร้า fluvoxamine การสูบบุหรี่ทำให้คนติดรู้สึกผ่อนคลายก็จริง แต่ทำให้ฤทธิ์รักษาอาการซึมเศร้าจากยาลดลงไปด้วยอย่างมากมาย

ยารักษาอาการหอบหืด หรือถุงลมโป่งพอง theophylline บุหรี่ทำให้ยา theophylline ถูกขจัดออกจากร่างกายเร็วขึ้นเกือบ 100% ทำให้ต้องเพิ่มขนาดยา

นอกจากยาที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ยังมียาอีกพะเรอเกวียนที่ถูกกระทบโดยการสูบบุหรี่ เช่น ยากันเลือดแข็งตัว heparin, ยา propranolol ที่ใช้กินเพื่อแก้ใจสั่น หรือ กินป้องกันอาการปวดหัวไมเกรน

ที่ควรทราบอีกคือ ผู้หญิงที่สูบบุหรี่และกินยาเม็ดคุมกำเนิดไปด้วย มีความเสี่ยงสูงมากในการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง คือลิ่มเลือดอุดตัน (thromboembolism) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ซึ่งถ้าไม่ตายก็พิการ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวจะสูงในผู้หญิงที่สูบบุหรี่มากกว่า 15 มวน/วัน และอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป

เลิกบุหรี่เสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อตัวของคุณเองและคนรอบข้าง
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน

อ้างอิง :
http://www.tobaccowatch.in.th/
http://www.ashthailand.or.th/th/no_tobacco_day_page.php?id=885
https://smokingcessationleadership.ucsf.edu/sites/smokingcessationleadership.ucsf.edu/files/Drug-Interactions-with-Tobacco-Smoke.pdf

กำลังโหลดความคิดเห็น