รอยเตอร์ - พฤติกรรมการสูบบุหรี่ทำให้เศรษฐกิจโลกสูญเงินปีละกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจคร่าชีวิตผู้คนเพิ่มขึ้นอีก 1 ใน 3 ภายในปี 2030 ผลวิจัยโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุวันนี้ (10 ม.ค.)
มูลค่าความสูญเสียดังกล่าวมากกว่าเงินภาษีที่รัฐบาลทั่วโลกได้จากการจำหน่ายยาสูบ ซึ่ง WHO ประเมินว่าอยู่แค่ราวๆ 269,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2013-2014
“จำนวนผู้เสียชีวิตจากบุหรี่คาดว่าจะเพิ่มจาก 6 ล้านคนเป็น 8 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2030 โดยกว่าร้อยละ 80 เป็นประชากรในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง (LMICs)” ผลการศึกษาระบุ
รายงานชิ้นนี้เผยด้วยว่า ผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในกลุ่มประเทษ LMICs และแม้ว่าอัตราความชุกของการสูบบุหรี่ (smoking prevalence) ในหมู่ประชากรโลกจะลดลง ทว่าจำนวนสิงห์อมควันกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ที่สามารถป้องกันได้
“การสูบบุหรี่ทำให้โลกต้องสูญเสียผลิตภาพ และสิ้นเปลืองงบประมาณด้านสาธารณสุขไปกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี” งานวิจัยความยาว 688 หน้ากระดาษซึ่งผ่านการกลั่นกรองจากผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์กว่า 70 คน ระบุ
มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และแม้รัฐบาลแต่ละชาติจะมีมาตรการส่งเสริมให้คนเลิกสูบบุหรี่ และลดอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากบุหรี่ แต่วิธีการส่วนใหญ่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
“รัฐบาลมักกลัวว่าการควบคุมยาสูบจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ความกังวลเช่นนี้ไม่มีหลักฐานใดๆ รองรับ วิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว และถึงเวลาที่เราต้องลงมือทำอย่างจริงจังเสียที”
นโยบายที่ไม่สิ้นเปลืองและได้ผลดีมากก็คือ การขึ้นภาษีและเพิ่มราคาจำหน่ายบุหรี่ การห้ามสูบบุหรี่อย่างครอบคลุม ห้ามผู้ผลิตทำการตลาด และพิมพ์ภาพเตือนพิษภัยบนซองบุหรี่ที่เห็นได้ชัดเจน
รัฐบาลควรนำเงินภาษีที่ได้จากบุหรี่ไปอุดหนุนมาตรการป้องกันที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า เช่น จัดทำสื่อโฆษณาให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ และสนับสนุนบริการช่วยคนให้เลิกสูบบุหรี่และรักษาผู้ป่วย เป็นต้น
WHO พบว่า รัฐบาลทั่วโลกจัดสรรงบประมาณเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ไม่ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2013-2014
กฎหมายควบคุมบุหรี่ยังเผชิญอุปสรรคจากข้อพิพาททางการค้า หลังจากที่คิวบา อินโดนีเซีย ฮอนดูรัส และสาธารณรัฐโดมินิกัน ได้คัดค้านกฎหมายการใช้ซองบุหรี่แบบเรียบ (plain packaging) ในออสเตรเลีย ซึ่งบังคับให้บุหรี่ทุกยี่ห้อต้องใช้บรรจุภัณฑ์เป็นมาตรฐานเดียวกัน และห้ามพิมพ์โลโก้ที่โดดเด่น หรือใช้สีสันสะดุดตาเกินไป