xs
xsm
sm
md
lg

ความเชื่อมั่นใน ‘นวัตกรรมสหรัฐฯ’กำลังตกต่ำ ขณะ‘จีน’ขึ้นเป็นผู้นำเรื่อง‘เอไอ’

เผยแพร่:   โดย: แพดดี้ คอสเกรฟ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Confidence in US innovation falling; China leads way on AI
By Paddy Cosgrave
08/07/2017

ระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ เมื่อเปรียบเทียบเรื่องนวัตกรรมระหว่างจีนกับอเมริกาแล้ว อาการโอนเอียงไปในทิศทางที่แดนมังกรเป็นฝ่ายได้เปรียบกำลังเห็นจริงเห็นจังเหมือนกับดินถล่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในเรื่องของเอไอ ((artificial intelligence ปัญญาประดิษฐ์) ด้วยแล้ว สหรัฐฯถูกจีนทิ้งไปไกลแบบมองเห็นแต่ฝุ่น

เมื่อหลายเดือนก่อน ขณะที่ผมเขียนเรื่องเกี่ยวกับทิศทางของนวัตกรรมอเมริกันอยู่นั้น ผมค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ออกจะเหลือเชื่อ นั่นคือ จีนได้แซงหน้าสหรัฐฯไปแล้วในเรื่องของการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญา

การเปิดเผยภาพข้อเท็จจริงนี้ออกมาเพียงแค่กว้างๆ เช่นนี้ อาจจะไม่ได้ฟังดูเหมือนกับพสุธาสะเทือนเลื่อนลั่นอะไร แต่เมื่อคุณพินิจพิจารณาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้แบบลงรายละเอียดแล้ว คุณก็จะเริ่มค้นพบทิศทางแนวโน้มบางสิ่งบางอย่างซึ่งมีความสำคัญจริงๆ

ระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ เมื่อเปรียบเทียบเรื่องนวัตกรรมระหว่างจีนกับอเมริกาแล้ว อาการโอนเอียงไปในทิศทางที่แดนมังกรเป็นฝ่ายได้เปรียบกำลังเห็นจริงเห็นจังเหมือนกับดินถล่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น ในปี 2010 พวกบริษัทกิจการของจีนจดทะเบียนสิทธิบัตรอยู่ในระดับ 380,000 ฉบับ ขณะที่พวกบริษัทอเมริกันยังนำห่างโดยอยู่แถวๆ 470,000 ฉบับ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีก 5 ปี ปรากฏว่าจีนแซงหน้าสหรัฐฯอย่างเด็ดขาดหมดจดเสียแล้ว ด้วยการจดทะเบียนสิทธิบัตรมากกว่า 1,000,000 ล้านฉบับ เปรียบเทียบกับ 600,000 ฉบับในสหรัฐฯ แถมช่วงห่างระหว่างทั้งสองประเทศนี้เวลานี้ยังกำลังเร่งตัวด้วยฝีก้าวอันรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ แท้ที่จริงแล้ว เฉพาะปีที่แล้วปีเดียวการจดสิทธิบัตรของจีนเพิ่มจำนวนขึ้นในอัตรา 45% ส่วนการจดสิทธิบัตรของสหรัฐฯ อันที่จริงจำนวนกลับลดต่ำลงด้วยซ้ำไป

แล้วแถมยังมองไม่เห็นวี่แววเลยว่า สหรัฐฯกำลังจะไล่ตามขึ้นมาจนทันในเร็วๆ นี้

พวกบริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐฯระดับติดท็อป 1,000 กำลังลงทุนลดน้อยลงในเรื่องการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับช่วงเวลาใดๆ ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายในด้านอาร์แอนด์ดีของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบเป็นร้อยละของจีดีพี ก็อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี เมื่อนำเอาข้อเท็จจริงเหล่านี้มาบวกเข้ากับเรื่องที่เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังมีการสร้างกิจการระดับสตาร์ทอัปลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ แล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรเลยสำหรับการที่มีบางคนบางฝ่ายกำลังพูดกันว่า อเมริกาเผชิญปัญหาเรื่องนวัตกรรมไม่มีการแตกหน่อขยายตัว

เอไอ: แนวหน้าของสมรภูมินวัตกรรม

แนวโน้มที่ผมกล่าวมานี้ ไม่ใช่ว่าดำเนินไปโดยที่ในสหรัฐฯมองไม่เห็นกันเลย ในระยะเดือนท้ายๆ ของคณะบริหารประธานาธิบดีบารัค โอบามา รัฐบาลสหรัฐฯได้ตีพิมพ์รายงานต่างหากจากกัน 2 ชิ้น (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://obamawhitehouse.archives.gov/blog/2016/12/20/artificial-intelligence-automation-and-economy) ซึ่งชี้ว่า สหรัฐฯไม่ได้เป็นผู้นำของโลกอย่างไร้ข้อกังขาอีกต่อไปแล้วในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับเอไอ และแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่จีนก้าวผงาดขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายสำคัญรายหนึ่งในสาขานี้ (ดูเพิ่มเติมที่ https://www.theatlantic.com/technology/archive/2017/02/china-artificial-intelligence/516615/) รายงานเหล่านี้เสนอแนะให้เพิ่มงบประมาณใช้จ่ายในเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเครื่องจักร และส่งเสริมเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯกับพวกผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเพื่อปลดล็อกไขกุญแจให้แก่ศักยภาพต่างๆ ในเรื่องของเอไอ ทว่าถึงแม้มีความพยายามต่างๆ เหล่านี้ ในการสำรวจความคิดเห็นของพวกผู้ก่อตั้ง, ซีอีโอ, นักลงทุน, และนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีระดับท็อปทั้งของสหรัฐฯและนานาชาติจำนวน 1,268 คนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีถึง 91% บอกว่า พวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯ “มีการเตรียมตัวน้อยเกินไปอย่างชนิดเป็นอันตรายถึงชีวิต” (fatally underprepared) ในเรื่องผลกระทบที่เอไอจะมีต่อระบบนิเวศของสหรัฐฯ(ดูเพิ่มเติมที่ https://docs.google.com/document/d/1nos4j8bSrxLX0j3EFNLde4dBShr93SKNdDz7fuNBV04/edit)

ไอเอดูจะกลายเป็นแนวหน้าของสมรภูมิแห่งนวัตกรรมระหว่างตะวันออกกับตะวันตกไปแล้วในขณะนี้ และอิทธิพลของจีนกำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ

จีนแสดงให้เห็นว่ามีความสนใจมากขึ้นทุกทีในโลกแห่งกิจการสตาร์ทอัปของอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาเอไอ บริษัทวิจัย ซีบี อินไซต์ส (CB Insights) พบว่า มีกิจการของจีนเข้าร่วมในการออกเงินทุนให้แก่พวกสตาร์ทอัปอเมริกันเป็นมูลค่าเกือบๆ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทีเดียวเมื่อปีที่แล้ว (ดูเพิ่มเติมที่ https://www.nytimes.com/2017/03/22/technology/china-defense-start-ups.html) ขณะที่ตัวเลขต่างๆ เมื่อเร็วๆ นี้บ่งชี้ให้เห็นว่าพวกบริษัทจีนกำลังลงทุนอยู่ในบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์สหรัฐฯ 51 แห่ง คิดมูลค่ารวมกันประมาณ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ฐานะครอบงำของจีนและท่าทีของนักลงทุนสหรัฐฯ

การที่จีนขึ้นมาอยู่ในฐานะครอบงำแวดวงเอไอใหม่ๆ หมาดๆ เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะต้องเซอร์ไพรซ์อะไรกันใหญ่โต อันที่จริงแล้วแดนมังกรมีการลงทุนอย่างมหาศาลในด้านเอาต์พุตการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา และจวบจนถึงเวลานี้ความพยายามเหล่านี้ก็กำลังให้ดอกให้ผลอย่างดงามเหลือเชื่อ

ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีทั้ง 3 ของจีน ซึ่งได้แก่ ไป่ตู้ (Baidu), ตีตี (Didi), และ เทนเซนต์ (Tencent) ต่างได้จัดตั้งห้องแล็บวิจัยเอไอของพวกเขาเองขึ้นมากันทุกเจ้าแล้ว (ดูเพิ่มเติมที่ https://www.theatlantic.com/technology/archive/2017/02/china-artificial-intelligence/516615/) โดยเฉพาะอย่างยิ่งไป่ตู้ กำลังก้าวเดินไปหลายก้าวมากเพื่อทำให้ตนเองอยู่ในกลุ่มแสงชี้นำทางในสาขานี้ได้อย่างมั่นคงหนักแน่น ณ ห้องแล็บเอไอของไป่ตู้ในซิลิคอนแวลลีย์ นักพัฒนาจำนวน 200 คนของบริษัทกำลังบุกเบิกเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ (driverless car technology), พจนานุกรมแสดงผลเป็นภาพ (visual dictionaries), และซอฟต์แวร์จดจำอัตลักษณ์บุคคลด้วยการสแกนใบหน้าและการพูด (facial- and speech-recognition software) เพื่อแข่งขันกับสิ่งที่พวกคู่แข่งอเมริกันจะเสนอออกมา ในทำนองเดียวกัน เทนเซนต์กำลังให้ความอุปถัมภ์โดยให้ทุนการศึกษาการวิจัยในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของจีนบางแห่ง ด้วยการให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลอันใหญ่โตมหึมาของ วีแชท (WeChat) โดยในเวลาเดียวกันนั้นก็เป็นการเปิดทางให้เทนเซนต์เข้าไปติดต่อเชื่อมโยงกับงานวิจัยชั้นเยี่ยมที่สุดและคนที่มีความรู้ความสามารถดีเลิศที่สุดซึ่งกำลังออกมาจากสถาบันการศึกษาเหล่านี้ (ดูเพิ่มเติมที่ https://www.theatlantic.com/technology/archive/2017/02/china-artificial-intelligence/516615/)

แม้กระทั่งในระดับรัฐบาล งบประมาณใช้จ่ายเพื่อการวิจัยก็กำลังเติบโตขึ้นในอัตราระดับตัวเลขสองหลักต่อปี กล่าวกันว่าจีนกำลังจัดเตรียมแผนการริเริ่มมูลค่านับพันนับหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อผลักดันงานด้านไอเอภายในประเทศให้ก้าวหน้าไปอีก (ดูเพิ่มเติมที่ https://www.nytimes.com/2017/05/27/technology/china-us-ai-artificial-intelligence.html) ทั้งด้วยโครงการซึ่งมุ่งทำงานที่ใหญ่โตยากเย็น, การให้เงินทุนแก่พวกสตาร์ทอัป, และการสนับสนุนการวิจัยทางวิชาการ ตั้งแต่การให้คำมั่นสัญญาที่จะใช้งบประมาณด้านเอไอเป็นมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเมืองเซียงถาน (Xiangtan) ที่แทบไม่มีใครรู้จัก ไปจนถึงมาตรการให้การอุดหนุนพวกกิจการเอไอ ในเมืองซูโจว (Suzhou) และเมืองเซินเจิ้น (Shenzhen) ซึ่งระดับสูงสุดอาจจะให้กันถึงรายละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรวมแล้วแดนมังกรจึงกำลังมีการใช้จ่ายเงินนับพันล้านหมื่นล้านเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่การพัฒนาทางด้านเอไอ

เมื่อเปรียบเทียบกับในสหรัฐฯ ในร่างงบประมาณประจำปี 2018 ที่เสนอโดยคณะบริหารประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปรากฏว่า การใช้จ่ายของมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Foundation) ในรายการให้เงินทุนสำหรับโครงการการพัฒนาเอไอสหรัฐฯ ได้ถูกตัดลงมา 10% ถึงแม้คณะบริหารชุดก่อนได้เคยให้คำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มงบประมาณในเรื่องนี้ก็ตาม

ท่าทีของพวกนักลงทุนสหรัฐฯดูเหมือนสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลห่วงใยที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ปรากฏว่า 28%ของนักลงทุนที่เราสำรวจความคิดเห็นเอาไว้ก่อนหน้างาน RISE ของเราในฮ่องกงปีนี้ ระบุว่าจีนคือตัวคุกคามสำคัญที่สุดต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีสหรัฐฯ นี่ถือเป็นตัวเลขที่มีความหมายสำคัญในขณะที่อิทธิพลของจีนยังคงขยายใหญ่ขึ้นทุกที อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ก่อให้เกิดความเซอร์ไพรซ์มากขึ้นไปอีกก็คือ 50% ของผู้ที่ตอบคำถามการสำรวจคราวนี้ทั้งหมด เชื่อว่าสหรัฐฯจะสูญเสียฐานะการเป็นผู้ครอบงำอุตสาหกรรมเทคของโลกไปให้แก่จีนภายในระยะเวลา 5 ปี

ความมั่นอกมั่นใจในฐานะการครอบงำเทคโลกของสหรัฐฯ กำลังล่มสลายลงแล้ว

งาน RISE: จุดเชื่อมโยงระหว่างตะวันออกกับตะวันตก

เมื่อ 4 ปีก่อน ผมต้องการที่จะก่อตั้งเวทีการประชุมหารือขึ้นมาสักเวทีหนึ่งซึ่งสามารถที่จะเชื่อมต่ออุดช่วงห่างช่องว่างระหว่างตะวันออกกับตะวันตก และก็เป็นตู้กระจกอวดโชว์นวัตกรรมที่กำลังเกิดขึ้นในทั่วทั้งตลาดทั้งสอง มาถึงเวลานี้งาน RISE กำลังกลายเป็นงานเทคระดับนำหน้าในเอเชียไปแล้ว โดยที่กำลังต้อนรับผู้เข้าร่วมเป็นจำนวน 15,000 คนในปีนี้ เรานั้นตระหนักรับทราบดีว่าเทคโนโลยีนั้นมีธรรมชาติที่เป็นเรื่องระดับโลกอย่างแท้จริง ผมคิดว่างาน RISE เป็นงานที่ทรงความสำคัญอยู่โดยตลอดเรื่อยๆ ไป เพื่อที่เราจะได้ทำการสำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง ด้วยการพิจารณาระดับของนวัตกรรมที่เรากำลังมองเห็นอยู่ทั้งจากจีน, จากสหรัฐฯ, และจากทุกหนทุกแห่งตลอดทั่วทั้งโลก

ผมคิดว่าในระยะปานกลางแล้ว ถือเป็นความสุขุมรอบคอบทีเดียวสำหรับเราที่อย่างน้อยที่สุดจะต้องคอยติดตามเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของนวัตกรรมอเมริกัน ประวัติศาสตร์นั้นบอกกับเราว่าสิ่งที่ทำให้สหรัฐฯแตกต่างออกไปจากคนอื่น ได้แก่ศักยภาพของสหรัฐฯที่จะแก้ไขเส้นทางของตัวเองให้กลับมาอยู่ในความถูกต้อง ผมไม่มีข้อสงสัยข้องใจใดๆ เลยว่าสหรัฐฯจะต้องค้นพบเส้นทางใหม่ แต่สำหรับที่เป็นอยู่ในตอนนี้แล้ว จีนกำลังเป็นผู้ที่นั่งอยู่ในที่นั่งคนขับแล้ว

แพดดี้ คอสเกรฟ เป็นซีอีโอและผู้ก่อตั้ง “เว็บ ซัมมิต” (Web Summit) ซึ่งได้กลายเป็นเวทีประชุมหารือด้านเทคที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป โดยสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วม 53,000 คนจาก 136 ประเทศในปีที่แล้ว แพดดี้ยังบริหารการจัดงานด้านนวัตกรรมงานอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งในตลอดทั่วโลก --รวมทั้งเวทีประชุมหารือ RISE ซึ่งจัดขึ้นที่ฮ่องกงตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา งาน RISE ปีนี้จัดขึ้นในฮ่องกงระหว่างวันที่ 11-13 กรกฎาคม ซึ่งนำเอาพวกผู้นำด้านเทคและผู้เข้าร่วมราว 15,000 คนจากเอเชียและส่วนอื่นๆ ของโลกมาชุมนุมกัน ทั้งนี้ RISE เป็นงานที่จัดขึ้นโดยทีมงานซึ่งอยู่เบื้องหลังงานเว็บ ซัมมิต

หมายเหตุผู้แปล

นอกจากข้อเขียนของแพดดี้ คอสเกรฟ ผู้จัดงาน RISE ฮ่องกง แล้ว หลิน หว่านเซี่ย ผู้สื่อข่าวของเอเชียไทมส์ยังได้รายงานข่าวผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมงาน RISE ฮ่องกงปีนี้ เกี่ยวกับปัญหาสำคัญๆ ที่เผชิญหน้าแวดวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (ไอเอ) จึงขอเก็บความนำมาเสนอเอาไว้ในที่นี้:

กระทั่งผู้คนในแวดวงเทคก็รู้สึกกังวลว่าอาจจะตกงานเพราะ‘เอไอ’
โดย หลิน หว่านเซี่ย

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Even the tech community is worried about AI stealing jobs
By Lin Wanxia, @wxlin1220
14/07/2017

พวกผู้จัดงานเวทีประชุมหารือ RISE ในฮ่องกงปีนี้ สอบถามผู้เข้าร่วมงานด้วยคำถามใหญ่ๆ รายล้อมอุตสาหกรรมเทค 4 ข้อด้วยกัน ผลปรากฏว่าเรื่องการรังเกียจคนมีอายุ, การดูหมิ่นเพศหญิง, และความกังวลว่าจะตกงาน คือความรู้สึกวิตกห่วงใยที่เด่นชัดที่สุดในหมู่พวกเขาเหล่านี้

วันที่ 11 – 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนรวม 14,281 คนจาก 90 ประเทศมาชุมนุมกันที่ฮ่องกงเพื่อเข้าร่วมงาน RISE 2017 ซึ่งเป็นเวทีประชุมหารือประจำปีสำหรับพวกสตาร์ทอัปทางด้านเทค ทางผู้จัดงานได้สอบถามความคิดเห็นของพวกเขาด้วยคำถามใหญ่ 4 ข้อที่แวดล้อมอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งดูเหมือนกำลังเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว ต่อไปนี้คือผลลัพธ์อย่างไม่เป็นทางการก่อนการสรุปจริงของการสำรวจนี้ซึ่งเอเชียไทมส์แอบไปสอดส่องมา

จีนจะแซงหน้าซิลิคอนแวลลีย์ได้ไหม?

ในอดีตที่ผ่านมา จีนถูกกล่าวหาอยู่เป็นประจำว่ากำลังก็อปปี้ไอเดียต่างๆ จากโลกตะวันตก และกำลังนำเอาไอเดียที่ลอกเลียนมาเหล่านี้มาใช้งานกันอย่างสนุกสนาน อย่างไรก็ดีช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ ผู้คนทั้งหลายกลับเริ่มหันมาพิจารณาทบทวนกันใหม่ว่า ตราประทับ “นักลอกเลียน” ที่ประเคนให้แก่จีนนั้น ยังคงถูกต้องเป็นธรรมอยู่หรือไม่ในเวลานี้ และใช่หรือไม่ว่าแดนมังกรได้ก้าวผงาดขึ้นมาเป็น “ผู้ส่องแสงนำทาง” (trailblazer) รายหนึ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีไปแล้ว

ผลโพลในงาน RISE บ่งบอกให้เห็นว่า ผู้ตอบคำถามจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งนิดหน่อย มีความศรัทธาต่อนวัตกรรมทางเทคจากจีนซึ่งกำลังเติบโตขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งกว่าที่พวกเขามีความเชื่อมั่นต่อการค้นพบใหม่ๆ ทางเทคในดินแดนที่เคยถือกันว่าเป็นผู้นำหน้าของแวดวงนี้อย่าง ซิลิคอนแวลลีย์

“สมัยก่อน พวกบริษัทอินเทอร์เน็ตจำนวนมากจะพากันจัดประเภทพวกเขาเองว่า เป็นบริษัทจีนที่เหมือนๆ กับ กูเกิล หรือ ทวิตเตอร์ อะไรทำนองนี้ เมื่อเวลาที่พวกเขาเดินทางไปต่างประเทศ” จิง อุลริช (Jing Ulrich) รองประธานของ เจ. พี. มอร์แกน เชส (เอเชียแปซิฟิก) (J.P. Morgan Chase (Asia Pacific)) กล่าว “มาถึงตอนนี้ บริษัทจีนจำนวนมากกลับกำลังกลายเป็นผู้นำตัวจริงในโลกแห่งเทคโนโลยีไปแล้ว ไม่ว่าจะในด้านการชำระเงินผ่านมือถือ, ไฟแนนซ์ทางอินเทอร์เน็ต, การผลิตโดรน, สื่อสังคมแบบใหม่, และปัญญาประดิษฐ์”

นอกเหนือจากกำลังขยับปิดช่องว่างที่อยู่ห่างจากโลกตะวันตกให้แคบลงเรื่อยๆ แล้ว อุลริชเสริมว่านวัตกรรมต่างๆ ทางด้านเทค ของจีนยังกำลัง “แพร่กระจาย” ยังส่วนอื่นๆ ของโลกอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โตโกพีเดีย (Tokopedia) เว็บไซต์อีคอมเมิร์ชที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย กำลังทำมาร์เก็ตติ้งตัวเองในฐานะที่เป็น “เถาเป่าแห่งอินโดนีเซีย” (Taobao of Indonesia) ขณะที่ เพย์ทีเอ็ม (Paytm) ถูกเรียกว่าเป็น “อาลีเพย์แห่งอินเดีย” (Alipay of India) ทั้งนี้ เถาเป่า และ อาลีเพย์ ต่างก็เป็นผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงของกลุ่มอาลีบาบา (Alibaba Group) ของจีน

ปริญญาจากมหาวิทยาลัยมีความสำคัญแค่ไหน?

ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีไม่ได้ถึงขนาดกำจัดความนับถือที่ผู้คนให้แก่ปริญญาบัตรจากสถาบันการศึกษาออกไปอย่างหมดสิ้นสมบูรณ์ ผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่า ปริญญาจากมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งยวด –ถึงแม้ไม่ใช่สำหรับตำแหน่งทุกๆ ตำแหน่งก็ตามที

ประชาคมเทคโนโลยีมีปัญหาอะไรบ้าง?

สำหรับประชาคมเทคแล้ว ปัญหาเรื่องชนชั้นและชาติพันธุ์ที่ทำให้เกิดการต่อสู้ดิ้นรนกันมาอย่างยาวนานเหลือเกินแล้วนั้น เป็นปัญหาที่เล็กน้อยเอามากๆ สำหรับอุตสาหกรรมนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับแนวความคิดเหยียดเพศ (sexism) และการกีดกันรังเกียจเนื่องจากอายุ (ageism)

ปัญหาการเหยียดเพศ ซึ่งก็คือการดูถูกดูหมิ่นผู้หญิงและการล่วงละเมิดทางเพศต่อสตรี เป็นสิ่งที่มีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/technology/2017/apr/27/tech-industry-sexism-racism-silicon-valley-study) แต่มันถึงขนาดที่พวกบริษัทเทคทั้งหลายจำเป็นต้องใช้มาตรการกำหนดโควตาด้วยเกณฑ์เพศภาวะขึ้นมา เพื่อทำให้มีตัวแทนของเพศต่างๆ อยู่ในตำแหน่งระดับชั้นต่างๆ อย่างสมดุลหรือเปล่า?

“ฉันไม่เชื่อในเรื่องการกำหนด โควตา” นี่เป็นความเห็นของ เมลิสซา กูซี (Melissa Guzy) หุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง (founding partner) ของ อาร์เบอร์ เวนเจอร์ส (Arbor Ventures) ในรายการถกเถียงอภิปรายรายการหนึ่งของงาน RISE ปีนี้ “สิ่งที่เราจำเป็นต้องมี คือการที่ต้องมีผู้หญิงมากขึ้นเข้าศึกษาเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์, คณิตศาสตร์, และสถิติศาสตร์ แล้วจากนั้นพวกเธอก็จะสามารถได้งานในบริษัทเทคทั้งหลาย และสร้างคุณูปการในหนทางที่มีความหมาย”

ปัญญาประดิษฐ์จะทำให้ผู้คนต้องตกงานไหม?

ผู้ที่ตอบคำถามสำรวจความคิดเห็นคราวนี้จำนวนมากมายท่วมท้นทีเดียวคิดว่า เอไอน่าที่จะขโมยตำแหน่งงานไปจากมนุษย์ และจะทำให้งานของมนุษย์ลดน้อยลงไปในเร็ววันนี้ด้วย ความกังวลใจในเรื่องที่เอไอกำลังขโมยตำแหน่งงานของเราไปนั้น ดูเหมือนมีความรุนแรงเอามากๆ แม้กระทั่งในประดาพวกซึ่งเวลานี้กำลังทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์เองด้วยซ้ำ

รอน เบเตือง (Ron Baetiong) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ แชตบอตพีเอช (ChatbotPH) บริษัทนักพัฒนาแชตบอตรายหนึ่งซึ่งตั้งฐานอยู่ในฟิลิปปินส์ หยิกยกตำแหน่งงานในคอลล์เซ็นเตอร์ และงานตอบรับโทรศัพท์ทั้งหลาย มาชี้ว่าเป็นงานประเภทหนึ่งซึ่งอยู่ในฐานะเปราะบางมากและน่าที่จะถูกปัญญาประดิษฐ์กำจัดสิ้นสูญไปในเร็วๆ นี้

“ผมอาจจะเป็นคนหนึ่งซึ่งช่วยเหลือให้พวกเขาต้องตกงาน” เบเตือง กล่าว “แต่ผมเชื่อว่ามนุษย์น่ะสามารถใช้ชีวิตซึ่งดีกว่าการทำงานที่มีลักษณะซ้ำซากน่าเบื่อหน่ายแบบเครื่องยนต์กลไกนะ”


กำลังโหลดความคิดเห็น