xs
xsm
sm
md
lg

ฟังก์ชันใหม่เฟซบุ๊ก ยั้งคนไลฟ์สด “ฆ่าตัวตาย” ผ่านโซเชียลฯ ได้จริงหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมากในโลกโซเชียลเลยทีเดียว เมื่อ เฟซบุ๊ก (Facebook) ดึง AI มาวิเคราะห์การถ่ายทอดสด (Live) รวมถึงการโพสต์ของผู้ใช้งานว่ารายใดมีโอกาสเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย โดยที่ AI จะวิเคราะห์ทั้งการโพสต์ของเจ้าตัวเอง รวมถึงเพื่อนๆ ที่เข้ามาคอมเม้นท์ในโพสต์นั้นๆ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายสูงแค่ไหน หลังจากพบว่ามีความเสี่ยง AI จะส่งให้ทีมพนักงานที่เป็นมนุษย์เข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง และจะมีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป

เครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือที่ว่านั้น เริ่มจากเฟซบุ๊กจะมี “ปุ่ม” ให้ผู้ที่กำลังรับชมการถ่ายทอดสด (Live) สามารถคลิกเพื่อรายงานความไม่สบายใจได้ (เช่น ถ้าเพื่อนของผู้โพสต์รู้สึกแปลกๆ ก็คลิกที่ปุ่มนี้) และเฟซบุ๊กจะมีคำแนะนำออกมาให้กับผู้ที่กำลังชมอยู่ว่าสามารถช่วยเหลือผู้ที่กำลัง Live รายนั้นได้อย่างไร?

หลายคนจึงเกิดความสงสัยและข้องใจว่า AI ย่อมาจากคำว่า artificial intelligence ที่แปลว่า ปัญญาประดิษฐ์ ง่ายๆ ก็คือ การที่คอมพิวเตอร์สามารถคิดหาเหตุผลได้ เรียนรู้ได้ ทำงานได้เหมือนสมองมนุษย์นั้น จะสามารถรับรู้ความรู้สึกและช่วยลดการฆ่าตัวตายได้จริงหรือ?

เพื่อไขข้อสงสัยดังกล่าว ทีมข่าว Manager Live ได้โทรศัพท์สอบถาม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ ต่อประเด็นดังกล่าว
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์
++ ความรู้สึกของ AI ยังไงก็แทนมนุษย์ไม่ได้

พญ.อัมพร บอกว่า ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ของโซเชียลเน็ตเวิร์กซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้ มาพร้อมประโยชน์มหาศาลแต่แฝงโอกาสที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสำหรับบางกลุ่มผู้ใช้ด้วยเหมือนกัน ความเป็นสาธารณะอย่างรวดเร็วทำให้หลายคนมีการแสดงอารมณ์อย่างเข้มข้น และถือเป็นการเร้าอารมณ์ได้อย่างดี จนบางทีคนที่อยู่ในความทุกข์ที่กำลังร้องขอความช่วยเหลืออาจจะ “ถูกเพิกเฉย” หรือว่า “ถูกซ้ำเติม” ได้ง่ายกับอันตรายที่เคลือบแฝงมากับประโยชน์ของโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ในส่วนของ AI ที่เป็นดั่งกลไกคัดกรองอารมณ์ และการเข้าถึงคนที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย หรือ ก่อความรุนแรงนั้น พญ.อัมพร เห็นด้วยและถือเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากหลักการในการช่วยเหลือสำหรับกลุ่มเป้าหมายของคนที่คิดฆ่าตัวตาย คือ การที่เข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือ หรือ การรับรู้จากสังคมโดยไว

ฉะนั้นหากตัว AI รับรู้ถึงความรู้สึกของคนที่กำลังจะฆ่าตัวตายได้เร็ว และมีกลไกของเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะทำให้กระบวนการต่อเนื่องหลังจากนั้นเกิดผลกระทบทางด้านบวก ถือเป็นการช่วยชีวิตได้มากที่สุด อันนี้ดีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ถือว่าดีที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าเวลานี้แม้ว่า AI จะก้าวไปไกลขนาดไหนก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงมนุษย์ได้ แต่ด้วยระบบการประมวลผลที่ฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถเลือกใช้คำ สามารถเรียนรู้ว่าคำที่จะสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกลึกซึ้งของคนที่มีความทุกข์ หรือคนที่ต้องการทำร้ายตัวเอง หรือต้องการก่อความรุนแรงอยู่นั้นจะออกมาในรูปแบบอย่างไรได้บ้าง

หากถามว่า ณ เวลานี้ AI จะมาแทนความรู้สึกจริงๆ ของอารมณ์มนุษย์แบบเจาะจง ตรงนี้คิดว่า “คงเป็นไปไม่ได้ 100%” ทว่าอย่างน้อยๆ ถ้าช่วยแบ่งเบาได้ในระดับหนึ่งก็ยังดีกว่าที่ไม่มีตัวช่วยใดๆ เลย ซึ่งหมอเชื่อว่าการแบ่งเบาในระดับหนึ่งจะยังคงมีการพัฒนาต่อเนื่องไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งตรงนี้เราต้องยุติธรรมกับทุกๆ ระบบด้วย

“แม้แต่ในระบบของคนจริงๆ ระบบในการช่วยเหลือของมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันเอง บางครั้งสัญญาณเตือนภัยที่ไม่ชัดเจนอาจทำให้คนที่รับฟังเข้าใจได้ไม่หมดเหมือนกัน”

++ อยากฆ่าตัวตายแต่ลังเลจึงต้อง Live สด

แก่นของคนที่ “อยากฆ่าตัวตาย” หรือ “ทำร้ายตัวเอง” อยู่ที่คนส่วนใหญ่หรือเวลาคิดจะทำสิ่งเหล่านี้มักจะ “มีความลังเล พะวักพะวง” อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ปรากฎตนเองอยู่กับผู้ช่วยเหลือ คนเหล่านี้มักจะกำลังดิ้นรนกับตัวเองว่า จแสวงหาความช่วยเหลือกับตัวเองอย่างไร ควรจะแสวงหาความช่วยเหลือดีมั้ย

“การมาปรากฎตัวเองอยู่ในโซเชียลมีเดีย น่าจะเป็นไปได้ว่าบุคคลนั้น “ยิ่งมีความลังเล” และกำลังแสวงหาคำตอบต่างๆ ถ้าหากตัว AI เข้ามาช่วยกรองจากคำพูดที่เราพบอยู่เสมอๆ บุคคลกลุ่มคนเหล่านี้ หรือการแสดงออกอื่นใดที่บ่งบอกได้ถึงการจะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย อันนี้น่าจะเป็นคุณูปการต่อการช่วยเหลือผู้ที่มีความทุกข์ได้ ซึ่งความช่วยเหลือสำหรับคนที่มีความทุกข์ถึงขั้นจะฆ่าตัวตายขนาดนี้ “การรับฟัง” สิ่งที่เขาพูดอยู่นั้นคือการช่วยเหลือที่ดีที่สุด” พญ.อัมพรกล่าวเสริม

++ อกหักรักคุดสาเหตุฮิตคิดสั้นผ่านโซเชียล

แทบไม่อยากเชื่อว่าในแต่ละเดือนหนึ่งมีคนฆ่าตัวตายด้วยการ Live ถึง 1-2 รายต่อเดือน พญ.อัมพร บอกว่า ส่วนใหญ่คนที่ทำพฤติกรรมเช่นนี้จะอยู่ในวัยทำงาน สาเหตุมาจากเรื่องของความรัก อกหัก รักคุด และการสูญเสีย ซึ่งมีตั้งแต่กลุ่มที่ตั้งใจสูงมากๆ ถึงกลุ่มที่มีความลังเลอย่างมากในการคิดทำร้ายตัวเองด้วยการคิดสั้นผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งพฤติกรรมที่คนเหล่านี้กระทำนั้นเพียงเพราะต้องการ “ร้องขอความเห็นใจ” เท่านั้น!

อย่างที่ทราบกันดีว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กมีลักษณะพิเศษบางอย่างของการที่คนๆ หนึ่งจะรู้สึกเปิดเผยความรู้สึกของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง หรือเทียบกับการไปยืนบอกใครคนหนึ่ง กับการระบายออกมาในโซเชียล จะมีความแตกต่างกัน

“คนๆ หนึ่งพูดคุยความทุกข์กับอีกคนแบบตัวต่อตัว ตาประสานตา มักจะรู้สึกเหมือนถูกควบคุมด้วยสายตาท่าที ทำให้เกิดความรู้สึกถูกปิดกั้นชั่วคราว แตกต่างกับคนที่เขียนระบายความทุกข์ในโซเชียล เขาสามารถเขียน“ระบาย” และ “เวิ่นเว้อ” ไปเรื่อยๆ แต่ในความเวิ่นเว้อนี้เขาไม่สามารถรับรู้ได้ครบถ้วน และไม่สามารถรับรู้ได้ว่าคนอื่นนั้นรู้เรื่องของเขามากกว่าที่เขาคิด” พญ.อัมพรปิดท้าย

ยังไงต้องดูกันต่อไปว่าฟังค์ชันใหม่ล่าสุดของเฟซบุ๊กตัวนี้ จะสามารถลดการเสียชีวิตผ่านโลกโซเชียลได้มากน้อยแค่ไหน...




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น