xs
xsm
sm
md
lg

มองข้ามช็อตสงกรานต์ “สมาร์ทโฟน” กำลังจะตาย? (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

Elon Musk
ถึงไม่ใช่เร็ววันนี้ แต่วันหนึ่งในอนาคตย่อมเป็นวันที่สมาร์ทโฟนจะถูกวางทิ้งไว้เหมือนที่เครื่องเพจเจอร์และเครื่องแฟ็กซ์เคยเป็นมาก่อน คำถามที่หลายคนอยากรู้ก่อนคืออะไรจะมาแทนที่ เพราะแน่นอนว่าสิ่งนั้นจะต้องมีอิทธิพลกับวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างแนบแน่นเหนียวหนึบแบบที่สมาร์ทโฟนยังต้องชิดซ้าย

สัญญาณเตือนที่บอกว่าสมาร์ทโฟนจะมีอนาคตเดียวกับเครื่องแฟ็กซ์และเพจเจอร์ คือพัฒนาการของยักษ์ใหญ่ในโลกไอที ทั้งเจ้าพ่ออีลอน มัสก์ (Elon Musk), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), เฟซบุ๊ก (Facebook), แอมะซอน (Amazon) และเหล่าสตาร์ทอัปบริษัทใหม่ที่ล้วนมีส่วนทำให้เกิดรูปแบบการสื่อสารใหม่ถอดด้าม โดยเฉพาะ Elon Musk ที่มีความเคลื่อนไหวน่าสนใจมากในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ดังนั้นหากจะตอบคำถามว่า 'สมาร์ทโฟนจะตายเมื่อใด' และ 'จะเป็นอย่างไรถ้าสมาร์ทโฟนตายไป' การศึกษาภาพรวมรูปแบบการสื่อสารดิจิตอลด้วยการแบ่งเป็น 3 ระยะย่อมช่วยได้

3 ระยะนั้นคือระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งระยะหลังสุดนี่เองที่จะบอกใบ้ได้ว่าโลกหลังสมาร์ทโฟนจะมีรูปร่างอย่างไร?

***ระยะสั้น : ผู้ช่วยแจ้งเกิด

ภาพรวมของโลกสมาร์ทโฟนในช่วง 3-5 ปีนี้ คือชาวโลกมีแนวโน้มสัมผัสหน้าจอสมาร์ทโฟนน้อยลง แต่จะใช้เสียงพูดคุยตอบโต้มากขึ้น เนื่องจากนานาระบบผู้ช่วยส่วนตัวที่แจ้งเกิดและเสนอตัวควบคุมเครื่องแทนให้เมื่อผู้ใช้ส่งเสียงบอกความต้องการ

เหตุที่ภาพรวมสรุปได้เช่นนี้เห็นได้ชัดจากการเปิดตัวกาแล็กซี่ เอส 8 (Samsung Galaxy S8) เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงฮือฮาจากตลาดที่ชื่นชมดีไซน์ไร้ขอบและขุมพลังประมวลผลไร้เทียมทาน Samsung Galaxy S8 ยังเปิดตัวพร้อมระบบผู้ช่วยบิกซ์บี (Bixby) ซึ่งเป็นระบบผู้ช่วยส่วนตัวที่ซัมซุงสัญญาว่าจะถูกพัฒนาให้เป็นสุดยอดผู้ช่วยที่ทุกคนจะสามารถเอ่ยปากใช้เสียงควบคุมเครื่องและแอปพลิเคชันทั้งหมดได้ในวันหนึ่ง

ไอโฟน (iPhone) รุ่นต่อไปก็เช่นเดียวกัน มีความเป็นไปได้สูงว่า iPhone ใหม่จะมาพร้อมผู้ช่วยส่วนตัวอย่างสิริ (Siri) ที่เก่งกว่าเดิม

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณในระยะสั้นให้ฟันธงได้ว่า ระบบผู้ช่วยในสมาร์ทโฟนจะเป็นเทคโนโลยีเมนสตรีมที่มีผู้ใช้งานแพร่หลาย เนื่องจากความสะดวกรวดเร็วที่เหนือกว่าการใช้นิ้วเลื่อนแตะเมนูตามลำดับทีละหน้า

คุณสมบัติใดก็ตามที่ 'สะดวก' นั้นมีโอกาสสูงที่จะชนะใจผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่แล้ว เห็นได้ชัดเจนจากความนิยมของสมาร์ทโฟนที่เกิดขึ้นได้เพราะความสะดวกสบาย ที่ผ่านมา ชาวดิจิตอลส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปในท้องตลาดนั้นเป็นอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ที่สามารถพกพาติดตัวไปได้ทุกที่ ขนาดเหมาะมือนั้นยิ่งหนุนให้สมาร์ทโฟนน่าพกพา เนื่องจากสมาร์ทโฟนสามารถช่วยงานประจำวันได้หลากหลาย ผลจากนานาแอปพลิเคชันที่นำฟีเจอร์กล้องและเซ็นเซอร์จีพีเอสมาประยุกต์ใช้จนทำให้ชาวโลกมีชีวิตที่ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับยุคที่โลกมีแต่โทรศัพท์บ้าน
สัญลักษณ์บริการ Bixby ของซัมซุง
อีกปัจจัยที่ทำให้สมาร์ทโฟนได้รับความนิยม คือความสามารถที่ถอดแบบจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แทนที่จะต้องพกพาเมาส์ คีย์บอร์ด และหน้าจอใหญ่โต สมาร์ทโฟนสามารถรวมทุกอย่างแถมยังมอบประสบการณ์เสมือนจริงและหน้าจอสัมผัสที่ใช้ง่าย ล่าสุดคือการส่งเสียงถามหรือขอให้เครื่องเอ่ยคำตอบกลับมาหรือทำงานตามที่บอก

ไม่เพียงสมาร์ทโฟนหลักของโลกที่จะมีผู้ช่วยส่วนตัว แต่วันนี้อุปกรณ์ที่ผู้ใช้สามารถใช้เสียงสั่งการเครื่องอย่างลำโพงอัจฉริยะ Amazon Echo, เครื่องเกม Sony PlayStation VR รวมถึงนาฬิกา Apple Watch นั้นเริ่มมียอดขายเพิ่มขึ้น สะท้อนว่าเรามีโอกาสได้เห็นกองทัพบริการใหม่ที่จะรองรับเสียงพูดเพิ่มขึ้นแน่นอนในอนาคต

***ระยะกลาง : ไม่ต้องพึ่งโทรศัพท์

ถัดออกไปอีก 5 ปี มีความเป็นไปได้สูงว่าอุปกรณ์ที่สามารถฉายภาพและเสียงโดยไม่ต้องพึ่งพาสมาร์ทโฟนนั้นจะมีจำหน่ายมากมายในตลาด โดยภาพและเสียงอาจถูกฉายผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริงอย่าง VR หรือ AR ก็ได้ รวมถึงภาพ 3D ที่ยังเป็นการทดลองอยู่ในขณะนี้
อุปกรณ์สวมศีรษะ Gear VR
Galaxy S8 ถูกประกาศวางจำหน่ายพร้อมอุปกรณ์สวมศีรษะ Gear VR รุ่นใหม่ที่เป็นผลผลิตจากการร่วมพัฒนากับบริษัทในเครือ Facebook อย่างโอคูลัส (Oculus) ขณะที่ iPhone ใหม่ก็ถูกมองว่าจะมาพร้อมระบบ AR ซึ่งเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่ AR จะเป็นเทคโนโลยีเมนสตรีมที่มีผู้ใช้งานแพร่หลาย ทั้งหมดนี้ชัดเจนว่าบริษัทไอทีกำลังเริ่มแนะนำตัวเทคโนโลยีใหม่ ให้ผู้ใช้คุ้นเคยกับภาพเสมือนจริงเหล่านี้

ในขณะที่รอให้คุ้นเคย Microsoft, Facebook, Google รวมถึงบริษัทในเครือ Google อย่างเมจิกลีป (Magic Leap) ต่างก็ลุยพัฒนาอุปกรณ์สวมศีรษะที่ฉายภาพ AR ได้โดยไม่ต้องมีสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อ (standalone augmented-reality headset) โดยรายงานระบุว่าอุปกรณ์นี้จะสามารถฉายภาพ 3 มิติไปที่ดวงตาโดยตรง จุดนี้แม้แต่ Apple ก็มีข่าวลือว่ากำลังพัฒนาระบบนี้อยู่เช่นกัน

เรื่องนี้ผู้บริหาร Microsoft 'อเล็กซ์ คิปแมน' (Alex Kipman) เคยให้สัมภาษณ์นักข่าวบิสสิเนสอินไซเดอร์ ว่าเทคโนโลยี AR จะทำให้ชาวโลกไม่ต้องการสมาร์ทโฟน ทีวี หรืออุปกรณ์อื่นใดที่มีหน้าจอและลำโพง ระบบนี้ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องพกอะไรไว้ในกระเป๋ากางเกงเมื่อต้องการโทรศัพท์ แชตกับเพื่อน ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง หรือเล่นเกม แต่ก็สามารถรับภาพและเสียงได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม จุดหักเหที่อาจทำให้โลกไม่ยอมรับเทคโนโลยีภาพเสมือนจริงแบบไม่พึ่งโทรศัพท์ คือความรู้สึกของผู้ใช้ที่ยังต่อต้านเทคโนโลยีเสมือนจริงเหล่านี้ เหตุผลหลักคือเพราะเทคโนโลยีเสมือนจริงนั้นทำให้ภาพดิจิตอลทับซ้อนกับภาพของโลกจริงแบบเป็นเนื้อเดียว จุดแข็งที่หลายคนมองว่าเป็นจุดอ่อนของเทคโนโลยีนี้จึงถูกมองว่ายังต้องมีการปรับให้เกิดความสมดุลย์ในระดับที่ผู้บริโภครับได้มากกว่านี้

***ระยะยาว : ส่งภาพเข้าสมอง?

แม้จะฟังดูบ้าบอเหลือเชื่อเกินไป แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า (หรือบวกลบมากน้อยกว่านั้น) เราอาจเห็นอุปกรณ์จิ๋วที่อาจเป็นแค่แว่นตาบางเฉียบธรรมดาหรืออะไรก็ได้ที่ทำให้ชาวโลกเป็นหนึ่งเดียวกับระบบดิจิตอลแบบทั้งสะดวกและสบาย

เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากกรณีที่ Elon Musk ซีอีโอของบริษัทชื่อก้องโลกอย่างเทสล่า (Tesla) และสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เปิดตัวบริษัทใหม่ในชื่อนูราลิงก์ (Neuralink) บนความหวังผสานคอมพิวเตอร์เข้ากับสมองมนุษย์ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

มีการคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีสำคัญของบริษัทใหม่แห่งนี้น่าจะเป็นนูรอลเลซ (Neural lace) ซึ่งเป็นชื่อที่เจ้าพ่อเทสล่าเคยพูดถึงในงานประชุมและบนทวิตเตอร์ส่วนตัว จุดเด่นของ Neural lace คือการเป็นชิ้นส่วนที่สามารถปลูกถ่ายลงไปในสมองมนุษย์ และสามารถเชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ได้

รายงานของรอยเตอร์วิเคราะห์ว่า Neural lace อาจทำให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดและดาวน์โหลดข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์และสมองได้โดยตรง เนื่องจากเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา Neuralink ได้ประกาศรับผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสมองเข้าทำงานในบริษัทแล้ว
สมาร์ทโฟนอาจชิดซ้ายตกกระป๋อง?
อย่างไรก็ตาม การเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์และสมองยังเป็นฝันที่ไม่มีใครออกมายืนยันว่าทำได้จริง ที่สำคัญ ไม่มีการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการของบริษัทใหม่นี้ปรากฏออกมาแต่อย่างใด มีเพียงรายงานที่ระบุว่า บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในแคลิฟอร์เนีย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2016 และเป็นบริษัทที่ทำการวิจัยด้านการแพทย์ จึงไม่อาจยืนยันได้ว่า แท้จริงแล้ว ผลงานของบริษัท Neuralink นี้จะออกมาในลักษณะใด

ก่อนหน้านี้ เจ้าพ่อเทสล่าเคยให้ความเห็นว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ artificial intelligence ซึ่งเป็นเบื้องหลังของระบบผู้ช่วยเสียงและระบบภาพเสมือนจริง ทำให้มนุษย์ต้อง augment หรือแต่งเติมตัวเองเพื่อให้ทันกับการพัฒนาของคอมพิวเตอร์ด้วย ไอเดียนี้มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งฝ่ายหลังมองว่าเป็นภาพฝันในนิยายเสียมากกว่า

แต่ถ้าฝันนี้เป็นจริงเมื่อไร สมาร์ทโฟนชิดซ้ายตกกระป๋องในวันนั้นแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น