เอเอฟพี – อินโดนีเซียออกกฤษฎีกาเปิดทางให้ทางการสามารถแบนกลุ่มที่ต่อต้านอุดมการณ์ของรัฐ ในความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่ามุ่งเป้ากลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรงในประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมากที่สุดในโลก
กฎหมายฉบับนี้ที่ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ลงนามเมื่อวันจันทร์ (10) มีขึ้นในขณะที่กำลังมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับอิทธิพลของกลุ่มเคร่งจารีตในแดนอิเหนาซึ่งประชากรส่วนใหญ่ดำเนินรอยตามอิสลามสายกลาง
กฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐบาลสั่งสลายกลุ่มใดๆ ก็ตามที่ท้าทายปัญจศีล หลักปรัชญาแห่งรัฐที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคมและความอดทนอดกลั้น
ปัญจศีลถูกพิจารณาว่าเป็นปัจจัยร่วมสำหรับประเทศที่เป็นบ้านของชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์ ฮินดู และพุทธ
รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง วิรันโต กล่าวในวันนี้ (12) ว่า ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มบางกลุ่มกำลังคุกคามการดำรงอยู่ของชาติและสร้างความขัดแย้งในสังคม อย่างไรก็ตาม วิรันโตและกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุชื่อองค์กรใดอย่างเจาะจง
แต่นักเคลื่อนไหวหลายคนกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้มีจุดประสงค์เพื่อสลายกลุ่ม ฮิซบ์ อัต-ตาห์รีร์ อินโดนีเซีย (เอชทีไอ) เครือข่ายท้องถิ่นของกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรงที่พยายามรวมชาวมุสลิมทั้งหมดเป็นคอลิฟะห์
เมื่อเดือนพฤษภาคมรัฐบาลระบุว่า พวกเขาต้องการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อสลายกลุ่มนี้
“กฤษฎีกานี้เป็นเพียงทางลัดเดียวที่จะสลายกลุ่มเอชทีไอเพราะว่าหากพวกเขาใช้กฎหมายเอ็นจีโอฉบับเก่า มันจะใช้เวลานาน” บีวีตรี ซูซานตี ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย บอกกับเอเอฟพี
องค์กรจำนวนมากที่แพร่กระจายแนวคิดต่างๆ เช่นอเทวนิยมและคอมมิวนิสต์ก็ถูกแบนภายใต้กฤษฎีกานี้เช่นกัน
กลุ่มสิทธิเตือนว่า กฤษฎีกานี้อาจปิดกั้นสถาบันทางประชาธิปไตยทั้งหลาย “การแบนองค์กรใดๆ ก็ตามอย่างเข้มงวดบนพื้นฐานทางด้านแนวคิดรวมถึงปัญจศีลเป็นการกระทำแบบเผด็จการที่บ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพของการสมาคมและการแสดงออก” แอนเดรียส ฮาร์ซาโน นักวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ในจาการ์ตา บอกกับเอเอฟพี
แอสฟินาวาตี ประธานมูลนิธิ อินโดนีเซีย ลีเกิล เอด กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวนี้ “เป็นความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย” วิรันโตปฏิเสธว่า กฤษฎีกานี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อปิดกั้นกลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ