xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียคืนดีตุรกีโดยสมบูรณ์ “ปูติน-แอร์โดอัน” จับมือแก้วิกฤตซีเรีย-เล็งยกเลิกคว่ำบาตรการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ของตุรกี(ซ้าย) จับมือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย(ขวา) ระหว่างแถลงขาวร่วม หลังการหารือที่เมืองโซชิ ของรัสเซีย เมื่อวันพุธ(3พ.ค.)
รอยเตอร์ - ผู้นำรัสเซียและตุรกีในวันพุธ (3 พ.ค.) ย้ำกับสาธารณะต่อคำสัญญาระหว่างพวกเขาในการร่วมมือกันยุติความขัดแย้งในซีเรีย แม้เหตุก๊าซพิษโจมตีพลเรือนในเมืองแห่งหนึ่งของซีเรีย เป็นบททดสอบความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างสองชาติ ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีทั้งสองยังประกาศทิ้งวิกฤตด้านการทูตระหว่างกันไว้เบื้องหลังและกลับมาคืนดีกันโดยสมบูรณ์

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ของตุรกี ที่ต่างถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากเหล่ารัฐบาลตะวันตกต่อประวัติด้านสิทธิมนุษยชน ได้จัดทำข้อตกลงซีเรียร่วมกัน แม้ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนคนละฟากฝั่งของคู่ขัดแย้งในสงครามกลางเมือง

ทั้งสองพบปะกันที่เมืองโซชิ ดินแดนตากอากาศริมทะเลดำของรัสเซียในวันพุธ (3 พ.ค.) นับเป็นการเจอกันครั้งแรกตั้งแต่เกิดเหตุสารเคมีโจมตีเมืองข่าน ชัยคุนของซีเรีย เมื่อวันที่ 4 เมษายน

ในตอนนั้น แอร์โดอันกล่าวโทษรัฐบาลซีเรีย พันธมิตรของรัสเซีย ส่วน ปูติน บ่งชี้ว่ามันเป็นการจัดฉากเพื่อดิสเครดิตประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรีย

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหลังการหารือ ปูตินและแอร์โดอัน บอกว่าพวกเขายังพุ่งเป้าทำงานร่วมกันเพื่อยุติความขัดแย้งในซีเรีย ซึ่งแปรเปลี่ยนประเทศแห่งนี้เป็นสมรภูมิเพาะเชื้อกลุ่มนักรบอิสลามิสต์หัวรุนแรง “เรายืนหยัดอยู่เคียงข้างสหายรัสเซียของเราในการต่อสู่กับก่อการร้าย” แอร์โดอันแถลงข่าวโดยมีปูติน ยืนอยู่ข้างๆ

ผู้นำทั้งสองบอกว่าพวกยังคงหนุนหลังกระบวนการสันติภาพ ซึ่งมีขึ้นที่กรุงอัสตานา เมืองหลวงของคาซัคสถาน และมีมอสโก อังการาและเตหะราน เป็นผู้สนับสนุนร่วม แม้ว่าในการเจรจารอบล่าสุดตัวแทนจากพวกฝ่ายค้านติดอาวุธของซีเรียระบุว่าพวกเขากำลังระงับการเข้าร่วม

แอร์โดอัน และปูติน ยังส่งเสียงสนับสนุนข้อเสนอที่ได้รับการหนุนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ในการกำหนด “เซฟโซน” ในซีเรีย เพื่อปกป้องพลเรือนจากการสู้รบ

ในประเด็นก๊าซพิษ ปูตินและแอร์โดอันไม่ได้พาดพิงความเห็นต่างก่อนหน้านี้กรณีที่ฝ่ายใดควรถูกกล่าวโทษ โดยแอร์โดอันบอกว่าเขาเห็นด้วยกับปูติน ว่าใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังต้องโดนลงโทษ

รัสเซียเข้าแทรกแซงทางทหารในซีเรีย เพื่อสนับสนุนให้ อัสซาด ได้ครองอำนาจประธานาธิบดีต่อไป ส่วน ตุรกี สนับสนุนกลุ่มฝ่ายต้านติดอาวุธที่พยายามโค่นอำนาจเขา

ตุรกียิงเครื่องบินของกองทัพอากาศรัสเซียตกใกล้ชายแดนตุรกี-ซีเรียในปี 2015 ก่อวิกฤตด้านการทูตและกระตุ้นให้ต่างฝ่ายต่างออกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้า อย่างไรก็ตามในการหารือเมื่อวันพุธ (3 พ.ค.) ทั้งปูตินและแอร์โดอัน บอกว่าพวกเขาได้ทิ้งวิกฤตดังกล่าวไว้เบื้องหลังแล้ว

พวกนักการทูตบางส่วนมองว่าความเป็นพันธมิตรระหว่างแอร์โดอันและปูติน ได้มอบความหวังหรืออย่างน้อยก็เป็นโอกาสในการดึงบังเหียนคู่ขัดแย้งในสงครามซีเรียเข้าสู่การเจรจา หลังสู้รบกันมานานกว่า 6 ปี คร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นศพและประชาชนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่น

ข้อจำกัดทางการค้าบางอย่างถูกบังคับใช้ตามหลังเครื่องบินรัสเซียถูกยิงตก ก่อความระคายเคืองในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและตุรกีมาตั้งแต่นั้น อย่างไรก็ตามหลังการหารือที่เมืองโซชิในวันพุธ (3 พ.ค.) อาร์คาดี ดวอร์โควิช รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย บอกว่าตุรกี ยอมยกเลิกข้อจำกัดห้ามนำเข้าข้าวสาลีของมอสโกภายในไม่กี่วันนี้

ปูติน กล่าวระหว่างแถลงข่าวราวมว่า แม้มีความเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่ ณ ปัจจุบันรัสเซียจะยังคงข้อจำกัดบางอย่างต่อตุรกีเอาไว้ตามเดิม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการห้ามนำเข้ามะเขือเทศและคำสั่งระงับโครงการยกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวตุรกี

ประธานาธิบดีรายนี้บอกว่ารัสเซียจะกลับมาซื้อมะเขือเทศตุรกีอีก แต่จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อให้แน่ใจว่าเกษตรกรรัสเซียที่ลงเงินปลูกมะเขือเทศภายในประเทศ จะไม่ลงทุนอย่างสูญเปล่า


กำลังโหลดความคิดเห็น