เอเจนซีส์ - กองกำลังรัฐบาลอิรักเข้าสู้รบกวาดล้างพื้นที่หย่อมท้ายๆ ของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) ในเมืองโมซุลเมื่อวันจันทร์ (10 ก.ค.) ภายหลังนายกรัฐมนตรีไปตรวจเยี่ยมนครที่อยู่ในสภาพเสียหายยับเยินแห่งนี้เพื่อยกย่องทหารที่กำลังมีชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดเหนือไอเอส อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า นี่ยังไม่ใช่การตอกตะปูปิดฝาโลงนักรบญิฮาดกลุ่มนี้ที่ยังคงยึดครองพื้นที่อื่นๆ ทั้งในอิรักและซีเรีย ขณะที่ยูเอ็นระบุว่า อาจต้องใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในการฟื้นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของโมซุลที่ถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง
ในวันอาทิตย์ (9) ที่ผ่านมา สำนักงานของนายกรัฐมนตรีไฮเดอร์ อัล-อบาดีของอิรักแถลงว่า อบาดีเดินทางเยือนเมืองโมซุล “ที่ได้รับการปลดแอกแล้ว” เพื่อแสดงความยินดีต่อ “วีรบุรุษนักรบ” อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา นายกฯผู้นี้แถลงว่า ขณะที่ “ชัยชนะเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้ว” แต่ก็จะยังไม่มีการประกาศชัยชนะอย่างเป็นทางการจนกว่าจะสามารถขจัดการต่อต้านจากกลุ่มไอเอส ที่ยังเหลืออยู่เพียง 1-2 จุดเท่านั้น
เวลาเดียวกันพวกผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังคงมีเสียงปืนและระเบิดเป็นระยะในเขตเมืองเก่าของโมซุล
ทางด้าน พล.ท.ซามี อัล-อริดฮี แห่งกองกำลังต่อต้านการก่อการร้าย (ซึทีเอส) ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษชั้นนำของรัฐบาล และเป็นหัวหอกในการเข้าตีโมซุลคราวนี้ กล่าวในวันจันทร์ (10) ว่า ฝ่ายรัฐบาลกำลังเข้าสู้รบ “อย่างหนัก” กับพวกสมาชิกไอเอสที่ยังหลงเหลืออยู่ แต่ใกล้จะยุติแล้ว โดยน่าจบลงในวันนี้ (10) ได้ ทั้งนี้เขาบอกว่านักรบญิฮาดเหล่านี้ยังยืดพื้นที่ในเขตเมืองเก่าเอาไว้แค่ประมาณ 200 x 100 เมตรเท่านั้น แต่ก็ยังไม่ยอมจำนน
สำนักนายกรัฐมนตรีบอกว่า ระหว่างอยู่ในโมซุล อบาดีได้พบกับบรรดาผู้บัญชาการรบ และออกคำสั่งในการปกป้องชัยชนะและถอนรากถอนโคนไอเอส รวมทั้งฟื้นความปลอดภัยและเสถียรภาพของเมืองนี้
ทางด้านประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส, ไมเคิล ฟอลลอน รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ รวมถึงจาวาด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เป็นผู้นำโลกกลุ่มแรกๆ ที่แสดงความยินดีกับการปลดปล่อยโมซุล ขณะที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แจ้งว่า สถานการณ์การสู้รบในโมซุลยังไม่สิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ และอเมริกากำลังติดตามอย่างใกล้ชิด
แต่กระทั่งว่ากองกำลังอิรักสามารถปลดแอกในนครใหญ่อันดับ 2 ของอิรักได้ทั้งหมด ชัยชนะครั้งนี้ก็ต้องแลกกับความเสียหายใหญ่หลวงของโมซุล ผู้คนบาดเจ็บล้มตายนับพัน และประชาชนเกือบล้านต้องทิ้งบ้านเรือนหนีตาย
รัฐบาลอิรักไม่เปิดเผยตัวเลขความสูญเสียของกองทัพ แต่เอกสารคำร้องเพื่อขอทุนสนับสนุนจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า หน่วยรบซีทีเอส สูญเสียกำลังพลถึง 40%
ไอเอสนั้นเข้ายึดครองโมซุลตั้งแต่กลางปี 2014 และประกาศตั้งรัฐกาหลิบแบบอิสลาม หรือ คอลิฟะห์ ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางในอิรักและซีเรียที่อยู่ติดกัน
หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มพันธมิตรที่นำโดยอเมริกาได้เริ่มปฏิบัติการสู้รบกับไอเอสทั้งในซีเรียและอิรัก ด้วยการโจมตีทางอากาศและส่งที่ปรึกษาไปทำงานร่วมกับกองกำลังท้องถิ่นภาคพื้นดิน
ปัจจุบัน ไอเอสสูญเสียพื้นที่ยึดครองส่วนใหญ่ โดยนอกจากโมซุลแล้ว เวลานี้กองกำลังชาวเคิร์ดและชาวอาหรับในซีเรียซึ่งได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ ก็กำลังสู้รบเพื่อขับไล่นักรบญิฮาดกลุ่มนี้ออกไปจากเมืองร็อกเกาะห์ ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองหลวงโดยพฤตินัยในซีเรียของไอเอส
สำหรับโมซุลนั้น กองกำลังต่างๆ ของฝ่ายรัฐบาลอิรักได้เปิดยุทธการมุ่งตีโมซุลคืนตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยสามารถยึดฟากตะวันออกของเมืองที่ถูกแบ่งครึ่งโดยแม่น้ำไทกริสแห่งนี้เอาไว้ได้ในเดือนมกราคมปีนี้ และจากนั้นก็เปิดฉากการสู้รบเพื่อตีฟากตะวันตกของเมืองในเดือนถัดมา
ทว่าการสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดและยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกองกำลังฝ่ายรัฐบาลอิรักเคลื่อนเข้าสู่เขต “เมืองเก่า” ที่มีประชากรหนาแน่นของฟากตะวันตก
ช่วงไม่กี่วันมานี้ กองกำลังความมั่นคงสังหารนักรบญิหาดจำนวนมากที่พยายามหลบหนีจากโมซุล เช้าวันอาทิตย์ กองบัญชาการปฏิบัติการร่วมของอิรักแถลงว่า สังหารผู้ก่อการร้าย 30 คนที่พยายามหนีข้ามแม่น้ำ
สหประชาชาติ ระบุเมื่อวันอาทิตย์ (9) ว่า พลเรือน 920,000 คนต้องทิ้งบ้านเรือนนับจากสงครามในโมซุลระเบิดขึ้นในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และการฟื้นฟูโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมืองนี้อาจต้องใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
ลิส แกรนด์ ผู้ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นแถลงว่า แม้การสู้รบจบลง แต่วิกฤตมนุษยชนยังไม่จบ
แต่ถึงแม้ยึดเมืองโมซุลกลับคืนมาได้ ก็ยังไม่ได้หมายความถึงการสิ้นสุดภัยคุกคามจากไอเอส ที่ยังคงยึดครองที่มั่นจำนวนหนึ่งในอิรัก รวมทั้งมีความสามารถที่จะก่อเหตุโจมตีด้วยระเบิด ซึ่งก็รวมถึงระเบิดฆ่าตัวตายด้วย ในพื้นที่ยึดครองของฝ่ายรัฐบาล
แพทริก มาร์ติน นักวิเคราะห์สถานการณ์อิรักจากสถาบันศึกษาสงคราม เตือนว่า การยึดเมืองโมซุลกลับคืนมาได้ไม่ใช่การปิดประตูตอกฝาโลงไอเอส เพราะถ้ากองกำลังความมั่นคงไม่ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ชัยชนะเหนือไอเอสจะยังคงอยู่ในระยะยาว รวมทั้งไม่สามารถสร้างความปรองดองระหว่างชนกลุ่มต่างๆ ในประเทศได้ ในทางทฤษฎีแล้วไอเอสยังคงสามารถฟื้นคืนชีพและกลับมายึดครองพื้นที่เขตเมืองต่างๆ อีกครั้ง