เอเจนซีส์ - กาตาร์ยืนกรานปฏิเสธข้อเรียกร้องกว่า 10 ข้อ จาก 4 ชาติอาหรับ ยันไม่กลัวถูกตอบโต้ทางทหารหลังเส้นตายวันจันทร์ (3 ก.ค.) ย้ำข้อขัดแย้งต่างๆ ต้องสะสางด้วยการเจรจา ไม่ใช่การยื่นคำขาด
ชีค โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลเราะห์มาน อัล ตานี รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ ปฏิเสข้อเรียกร้องของสี่ชาติอาหรับ ขณะเดินทางเยือนกรุงโรม โดยระบุว่า ข้อเรียกร้องเหล่านั้นเป็นการละเมิดอธิปไตยของกาตาร์
อัล ตานี ระบุว่า ทุกประเทศมีเสรีภาพในการร้องเรียนกาตาร์ หากมีหลักฐานพิสูจน์ข้อร้องเรียนนั้น แต่ความขัดแย้งใดๆ ควรแก้ไขด้วยการเจรจา ไม่ใช่การยื่นคำขาด โลกปกครองด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไม่อนุญาตให้ชาติใหญ่รังแกชาติเล็ก ไม่มีประเทศใดมีสิทธิ์ยื่นคำขาดกับประเทศอื่น
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ บาห์เรน และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ และตัดขาดทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ โดยกล่าวหาว่า กาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย หลังจากนั้น ทั้งสี่ชาติได้ยื่นข้อเรียกร้อง 13 ข้อ เพื่อคลี่คลายข้อพิพาทต่อกาตาร์ ซึ่งรวมถึงการตัดสัมพันธ์กับอิหร่านและกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ รวมทั้งปิดฐานทัพของตุรกีในกาตาร์ และปิดเครือข่ายข่าวอัล-จาซีเราะห์ ที่ชาติอาหรับกล่าวหาว่า เป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มหัวรุนแรงและพยายามแทรกแซงกิจการภายในของชาติอาหรับ
กาตาร์ซึ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ยืนยันอีกครั้งว่า พร้อมรับผลที่จะตามมาหลังผ่านพ้นเส้นตายซึ่งทาง อัล ตานี ย้ำว่า โลกมีกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่ควรละเมิด เช่นเดียวกับพรมแดนของแต่ละประเทศที่ประเทศอื่นไม่ควรรุกล้ำ
ระหว่างเยือนโรม อัล ตานี ได้พบกับแองเจลิโน อัลฟาโน รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลีที่สนับสนุนความพยายามในการเป็นตัวกลางคลี่คลายปัญหาที่นำโดยคูเวต และเรียกร้องให้ประเทศที่เกี่ยวข้องละเว้นจากการกระทำใดๆ ที่จะส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กาตาร์อาจถูกคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากชาติอาหรับ เมื่อผ่านเส้นตายเที่ยงคืนวันอาทิตย์ (2 ก.ค.) โดยกลุ่มชาติอาหรับยืนกรานไม่ผ่อนปรนข้อเรียกร้องทั้ง 13 ข้อ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอกอัครราชทูตยูเออีประจำรัสเซียให้สัมภาษณ์ว่า กาตาร์จะถูกแซงก์ชันเพิ่ม ถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง นอกจากนั้น ชาติอาหรับยังจะขอให้ประเทศคู่ค้าเลือกข้าง
อย่างไรก็ตาม อันวาร์ การ์กาช รัฐมนตรีต่างประเทศยูเออี ยืนยันว่า ทางเลือกของชาติอาหรับไม่ใช่การใช้ความรุนแรง แต่อาจเป็นการบีบให้กาตาร์ออกจากกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (จีซีซี)
จีซีซีที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก ก่อตั้งขึ้นในปี 1981 ในช่วงการปฏิวัติอิสลามของอิหร่านและช่วงเริ่มต้นสงครามอิหร่าน-อิรัก โดยมีสมาชิก 6 ชาติประกอบด้วยซาอุดีฯ ยูเออี คูเวต กาตาร์ โอมาน และ บาห์เรน
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์กล่าวในวอชิงตัน ว่า จีซีซีก่อตั้งขึ้นเพื่อรับมือภัยคุกคามจากภายนอก แต่เมื่อเกิดภัยคุกคามจากภายใน ความยั่งยืนของกลุ่มจึงกลายเป็นสิ่งที่น่าเคลือบแคลง
วิกฤตนี้ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง การนำเข้าอาหาร และทำให้สถานการณ์ในอ่าวเปอร์เซียตึงเครียดอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ยังสร้างความสับสนในภาคธุรกิจ และผลักไสกาตาร์ให้หันไปสนิทชิดเชื้อกับอิหร่านและตุรกีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกพลังงานของกาตาร์ไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด กาตาร์นั้นเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) รายใหญ่ที่สุดของโลก และยังเป็นที่ตั้งฐานทัพใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง
ความขัดแย้งนี้อุบัติขึ้นไม่กี่วันหลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ พบกับผู้นำอาหรับในริยาดห์ ซึ่งมีการเรียกร้องให้กลุ่มอาหรับสามัคคีกันเพื่อต่อต้านภัยคุกคามภายในภูมิภาคอย่างอิหร่านและกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง