xs
xsm
sm
md
lg

‘ทีมงาน’ด้าน‘จีน’ของ‘ทรัมป์’ระดับเกรดA จะช่วยเสริมสัมพันธ์วอชิงตัน-ปักกิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดั๊ก สึรุโอกะ

Pottinger, Branstad could help cement US role in China’s OBOR
By Doug Tsuruoka
04/06/2017

เดนนิส ไวล์เดอร์ อดีตที่ปรึกษาประจำทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์เอเชียไทมส์ว่า คณะบริหารประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทีมงานรับผิดชอบนโยบายด้านจีน ที่เป็นบุคลากรระดับเกรดเอ และเรื่องนี้จะส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางการทูตและทางธุรกิจกับปักกิ่ง

การที่ แมตธิว พอตติงเกอร์ (Matthew Pottinger) และ เทอร์รี แบรนสตัด (Terry Branstad) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำกำหนดนโยบายต่อปักกิ่งของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นที่สหรัฐฯจะเข้ามีส่วนร่วมในแผนการริเริ่ม “หนึ่งแถบเศรษฐกิจหนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road หรือ OBOR) ของจีน ตลอดจนใช้ท่าทีต่างตอบแทนในประเด็นปัญหาต่างๆ ทางด้านการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง นี่เป็นความเห็นของ เดนนิส ไวล์เดอร์ (Dennis Wilder) ซึ่งเป็นมือทำงานด้านจีนผู้มีผลงานและประสบการณ์อันโดดเด่น

ทั้งนี้พอตติงเกอร์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของสหรัฐฯไปเข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนที่กรุงปักกิ่งเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันเขามีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยพิเศษของประธานาธิบดี และเป็นผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเอเชียตะวันออกในสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ การไปปรากฏตัวของพอตติงเกอร์ในเวทีประชุมที่ปักกิ่งคราวนั้นคือการส่งสัญญาณครั้งแรกว่าวอชิงตันตระหนักรับทราบความสำคัญของแผนการ OBOR ในฐานะความริเริ่มทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมหลายๆ ภูมิภาค

ในความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง วุฒิสภาสหรัฐฯได้ลงมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม รับรองการที่ประธานาธิบดีทรัมป์เสนอชื่อ เทอร์รี แบรนสตัด ผู้เพิ่งพ้นตำแหน่งผู้ว่าการมลรัฐไอโอวาหมาดๆ ให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีน

สำหรับไวล์เดอร์นั้นเคยเป็นผู้ช่วยพิเศษของประธานาธิบดีและผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เขายังเคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์อาวุโสด้านการทหารของจีนให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency หรือ CIA) และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ในโครงการเอเชียศึกษา ณ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) ในกรุงวอชิงตัน

ไวล์เดอร์ให้สัมภาษณ์ ดั๊ก สึรุโอกะ บรรณาธิการประจำกองบรรณาธิการของเอเชียไทมส์เมื่อเร็วๆ นี้ ในเรื่องที่ว่าพอตติงเกอร์และแบรนสตัดจะช่วยเหลือกำหนดรูปโฉมของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯอย่างไรบ้าง

เอเชียไทมส์: การที่คณะบริหารทรัมป์ตัดสินใจส่ง แมตธิว พอตติงเกอร์ ไปเป็นผู้สังเกตการณ์ของการประชุมระดับสูง OBOR ในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน?

ไวล์เดอร์: มันมีความสำคัญมาก พอตติงเกอร์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจีนระดับท็อปตัวจริงของคณะบริหารชุดนี้

เอเชียไทมส์: การที่สหรัฐฯเข้าร่วมการประชุมคราวนี้ เป็นการส่งสัญญาณแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมในโครงการ OBOR ใช่หรือไม่?

ไวล์เดอร์: ผมคิดว่าคณะบริหารชุดนี้มีความสนอกสนใจอย่างที่สุดใน OBOR ตราบเท่าที่ฝ่ายจีนมีการใช้วิธีปฏิบัติแบบระดับนานาชาติในบางเรื่องบางด้านที่ชัดเจน แต่ที่ยังคงเป็นประเด็นปัญหาอยู่ก็มี เป็นต้นว่า มีความโปร่งใสแค่ไหนในกระบวนการของการคัดเลือกบริษัทที่เกี่ยวข้อง? มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมหรือไม่สำหรับการประมูลแข่งขันกันเหล่านี้? มีระบบการให้ความสนับสนุนทางการเงินสำหรับชาติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่? เงื่อนไขต่างๆ อยู่ในลักษณะไม่เป็นภาระผูกพันจนเกินควรและพวกเขามีความสามารถที่จะชำระคืนใช่หรือไม่?

เอเชียไทมส์: พอตติงเกอร์จะนำความสามารถพิเศษอะไรบ้างเข้ามาในงานนี้?

ไวล์เดอร์: ผมอยู่ในที่ประชุมเดียวกันกับเขาในทำเนียบขาวเมื่อเร็วๆ นี้ กับอธิการบดีของมหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) ของจีน พอตติงเกอร์พูดภาษาจีนในตลอดทั้งการประชุมเลย เขาเคยไปศึกษาที่ปักกิ่ง เขาเคยไปศึกษาในไต้หวัน และเขายังคงศึกษาภาษาต่อมาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นนี่คือบุคคลซึ่งมีความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในเรื่องว่าด้วยจีน เขายังเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์ในจีนมาก่อนให้กับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลด้วย เขามีความสนใจในด้านวัฒนธรรมของประเทศนั้นอย่างลึกซึ้ง ผมจะขอเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ให้ฟังเลยนะ เขาบอกกับอธิการบดีชิงหวาว่า เวลานี้เขากำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง (หนังสือภาษาจีน) ว่าด้วยยุคจ้านกว๋อ (ประมาณปี 475 ก่อน ค.ศ. ถึงปี 221 ก่อน ค.ศ. ในยุคนั้นอำนาจส่วนกลางของราชวงศ์โจวตกต่ำมาก ขณะที่มีรัฐต่างๆ 7 รัฐเรืองอำนาจและต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่กัน ในที่สุดรัฐฉินเป็นผู้ชนะ เจ้าผู้ครองฉินสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งถือเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีน –ผู้แปล)

เอเชียไทมส์: การที่มีความเป็นไปได้ที่พวกบริษัทสหรัฐฯจะเข้าไปร่วมใน OBOR เป็นสาเหตุดึงดูดให้ทำเนียบขาวเกิดความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ใช่หรือไม่

ไวล์เดอร์: ถูกต้องที่สุด –และเราทราบกันดีว่าพวกบริษัทสหรัฐฯอย่างเช่น เจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric หรือ GE) ให้ความสนใจเป็นอย่างมากที่จะเข้าอยู่ในส่วนหนึ่งของโครงการ OBOR เรามีบริษัทโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมากๆ อยู่บ้างเหมือนกันในสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ชัดเจนสำหรับทรัมป์อยู่แล้ว การสร้างตำแหน่งงานสำหรับพลเมืองสหรัฐฯและบริษัทสหรัฐฯคือเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ เรากำลังจะได้เห็นบริษัทพวกนี้มองในเชิงรุกเพื่อหาลู่ทางโอกาสต่างๆ ผมคิดว่าคณะบริหารชุดนี้กำลังจะสนับสนุนพวกเขาในเรื่องนี้ –ก็อย่างที่แมตต์ พอตติงเกอร์ ได้เอ่ยถึงเรื่องนี้เอาไว้ในการประชุมที่ทำเนียบขาวเมื่อเร็วๆ นี้

เอเชียไทมส์: พอตติงเกอร์เป็นตัวเลือกที่ดีหรือไม่ สำหรับการนั่งในตำแหน่งดูแลเรื่องจีนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ?

ไวล์เดอร์: เมื่อพิจารณาจากมุมมองภาพรวมในเรื่องภูมิหลังเกี่ยวกับจีนแล้ว พอตติงเกอร์เป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยม สิ่งที่เขายังจะต้องคอยศึกษาเรียนรู้จะเป็นเรื่องที่ว่าระบบราชการอเมริกันสามารถส่งผลกระทบกระเทือนต่อนโยบายได้อย่างไรบ้าง –เนื่องจากเขาไม่เคยทำงานในตำแหนน่งระดับนี้ในรัฐบาลสหรัฐฯมาก่อน เขาจะต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจว่ากลไกด้านนโยบายการต่างประเทศและด้านความมั่นคงระดับชาติของสหรัฐฯซึ่งมีขนาดใหญ่มากและสลับซับซ้อนมากนั้นทำงานกันอย่างไร แต่อย่างที่ผมระบุไว้ก่อนหน้านี้แหละ ผมคิดว่าเราโชคดีมากที่ได้บุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถระดับเขามานั่งในตำแหน่งนี้

เอเชียไทมส์: พอตติงเกอร์เป็นทหารเก่าและก็เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งมีความคิดเห็นในทางแข็งกร้าวต่อจีน เรื่องนี้จะเป็นผลร้ายต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯหรือไม่?

ไวล์เดอร์: ผมเคยทำงานในคณะบริหารบุช ซึ่งเป็นคณะบริหารที่บางคนอาจจะบอกว่าเป็นคณะบริหารที่มีแนวทางแข็งกร้าวต่อจีน แต่สิ่งที่ผมพบอยู่เสมอจากฝ่ายจีนก็คือ พวกเขามีความประทับใจในความตรงไปตรงมาซึ่งพวกที่ถูกเรียกว่าเป็นพวกแข็งกร้าว นำเอามาสู่ที่ประชุมสนทนาระหว่างสหรัฐฯกับจีน

เอเชียไทมส์: แล้ว เทอร์รี แบรนสตัด จะมีประสิทธิภาพแค่ไหน เมื่อเวลานี้เขาเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีนอย่างเป็นทางการแล้ว?

ไวล์เดอร์: ก่อนที่ เทอร์รี แบรนสตัด จะได้รับคัดเลือกนั้น ข้อเสนอแนะข้อหนึ่งที่ผมจะบอกกับคณะบริหารชุดไหนๆ ก็ตามทีคือ พวกเขาควรต้องเลือกคนที่จะขึ้นเป็นเอกอัครราชทูตประจำจีน ซึ่งเป็นคนที่มีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นั่นเป็นเพราะผมได้เฝ้ามอง คลาร์ก แรนด์ต (Clark Randt) ซึ่งผมพบว่าทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งตลอดเวลา 8 ปีที่อยู่ในปักกิ่งภายใต้ประธานาธิบดีบุชในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ แรนด์ต มีประสิทธิภาพก็เพราะเขาเคยเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับประธานาธิบดีที่มหาวิทยาลัยเยล พวกเขาเป็นเพื่อนเก่าแก่มานมนาน สิ่งที่เพื่อนเก่าแก่คนหนึ่งสามารถทำได้ขณะที่เอกอัครราชทูตแทบทุกคนไม่สามารถทำได้ก็คือ การหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาและพูดจาอย่างตรงไปตรงมากับประธานาธิบดีของสหรัฐฯ

ทางฝ่ายจีนก็จะทราบเช่นกันว่าเมื่อ เทอร์รี แบรนสตัด พูด เขาพูดแทนประธานาธิบดี นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ...

เอเชียไทมส์: ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างแบรนสตัดกับทรัมป์เป็นยังไงบ้าง?

ไวล์เดอร์: ทั้งหมดที่คุณจะต้องรู้ก็คือว่า ลูกชายของแบรนสตัดได้เข้าทำงานที่ทำเนียบขาวแล้วในตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อกับกระทรวงพาณิชย์ ลูกชายของแบรนสตัดคือผู้จัดการการรณรงค์หาเสียงให้ทรัมป์ในรัฐไอโอวา ทรัมป์ชนะที่ไอโอวาประมาณ 9 จุด ทรัมป์กำลังพูดออกมาแล้วว่าเขาจะเดินทางไปยังไอโอวาเพื่อช่วย เทอร์รี แบรนสตัดในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้

สิ่งต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่า เขาเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯคนแรกที่ทรัมป์ไว้เนื้อเชื่อใจ ภายหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง เขาถามแบรนสตัดว่าสนใจตำแหน่งงานในประเทศจีนไหม ทั้งหมดนี่ถือเป็นลางดีมากสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน และสำหรับการมีสายท่อติดต่อที่ดีมากในปักกิ่ง

เอเชียไทมส์: การที่แบรนสตัดมีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับสี จิ้นผิง ก็ถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ด้วยใช่ไหม?

ไวล์เดอร์: เทอร์รี แบรนสตัด รู้จักประธานาธิบดีสีมาตั้งแต่ปี 1985 ผมคิดว่าเรื่องสายสัมพันธ์ส่วนตัวในนโยบายการต่างประเทศนั้นมักถูกบางคนให้น้ำหนักต่ำกว่าความเป็นจริงนะ ผมเห็นมาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่าว่าปัจเจกบุคคลและสายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างพวกผู้นำนั้นสร้างความแตกต่างขึ้นมาอย่างมหึมาทีเดียวในความเข้าใจกันระดับระหว่างประเทศ การทูตแบบส่วนตัวประเภทนี้ถือเป็นเครื่องหมายแสดงคุณภาพของพวกตระกูลบุช และผมคิดว่ามันจะเป็นเครื่องหมายแสดงคุณภาพของทรัมป์ด้วยเช่นเดียวกัน

เอเชียไทมส์: แบรนสตัดจะนำเอาความสามารถพิเศษอะไรบ้างเข้ามายังตำแหน่งนี้ ?

ไวล์เดอร์: หนึ่งในความสามารถของแบรนสตัด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อคณะบริหารชุดนี้ด้วย ได้แก่การที่เขาเป็นเซลส์แมนผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งสำหรับรัฐไอโอวา เขาได้ช่วยเหลือพวกเกษตรกรชาวไอโอวาให้ได้ตลาดการเกษตรอันกว้างใหญ่มหึมาในประเทศจีน เขาคือบุคคลซึ่งรู้ว่าจะทำข้อตกลงด้านการค้าให้สำเร็จได้อย่างไร เขารู้ว่าจะใช้วิธีไหนในการโปรโมตส่งเสริมความสนใจต่อสินค้าและธุรกิจของอเมริกันขึ้นในประเทศจีน นี่จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งทีเดียวของสิ่งที่เขาจะนำมาสู่ตำแหน่งนี้

เอเชียไทมส์: อะไรคือความท้าทายใหญ่ที่สุดซึ่งแบรนสตัดจะต้องเจอในฐานะที่เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำจีน?

ไวล์เดอร์: อันดับที่หนึ่งในบัญชีรายการเลย และก็ไม่ใช่เรื่องยากด้วยที่จะมองเห็น ก็คือเรื่องเกาหลีเหนือ ฝ่ายจีนกำลังให้ความช่วยเหลือในเรื่องเกาหลีเหนืออยู่แล้ว เกาหลีเหนือไม่ได้ทำการทดลองนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ผมให้เครดิตบางส่วนแก่ฝ่ายจีนนะสำหรับการหยุดยั้งไม่ให้ฝ่ายเกาหลีเหนือดำเนินการทดสอบทั้งเรื่อง ICBM (ขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีป) และเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นผมคิดว่าฝ่ายจีนกำลังออกแรงกดดันบางอย่างบางประการ แต่ยังจำเป็นที่จะต้องกดดันให้มากขึ้นอีก

สิ่งที่เราต้องการจากฝ่ายจีนในตอนนี้ และสิ่งที่ เทอร์รี แบรนสตัด จะต้องทำเพื่อให้มีแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นต่อเกาหลีเหนือ ก็คือทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าเกาหลีเหนือจะต้องทำการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์เพื่อยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของพวกเขา

เรื่องความท้าทายอย่างที่สองสำหรับแบรนสตัด ได้แก่ตำแหน่งงานของสหรัฐฯ เขาจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนผลประโยชน์ต่าง ๆ ของอเมริกัน, บริษัทต่างๆ ของอเมริกัน เขาจำเป็นที่จะต้องมองหาทางเปิดตลาดของจีนที่เวลานี้ยังคงปิดอยู่ ฝ่ายจีนทราบดีอยู่แล้วว่าตลาดด้านต่างๆ เหล่านี้คืออะไร มันก็อย่างเช่น ไอที, การเงิน, บริการด้านต่างๆ ตลาดของสหรัฐฯนั้นเปิดกว้างกว่ามากให้แก่การลงทุนโดยตรงจากจีน ยิ่งกว่าในหลายๆ ด้านของเศรษฐกิจของพวกเขาที่เปิดประตูต้อนรับสหรัฐฯ

เอเชียไทมส์: ด้านส่วนตัวของโดนัลด์ ทรัมป์ มีผลกระทบอย่างไรบ้างต่อความสัมพันธ์กับจีน?

ไวล์เดอร์: เนื่องจากตระกูลทรัมป์นั้นทำงานด้วยวิถีทางอย่างที่พวกเขาทำอยู่ในตอนนี้ ฝ่ายจีนนั้นจริงๆ แล้วมีความสบายอกสบายใจมากกับสภาพนี้นะ ตระกูลทรัมป์แทบจะเหมือนกับตระกูลของคนจีนในด้านต่างๆ จำนวนมาก อย่างเช่นการมีลูกเขยเข้ามาอยู่ในธุรกิจด้วย และลูกๆ เข้าทำงานในบทบาทสำคัญๆ ให้กับพ่อ

ดั๊ก สึรุโอกะ เป็นบรรณาธิการประจำกองบรรณาธิการ (Editor-at-Large) ของเอเชียไทมส์ เขาเป็นอดีตบรรณาธิการใหญ่ (Editor in Chief) ของเอเชียไทมส์ รวมทั้งเคยทำงานให้ฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิกรีวิว, นิวสวีก, เอเชียไทมส์ที่เป็นเอดิชั่นตีพิมพ์ดั้งเดิม, และสื่อสำคัญอื่นๆ ทั้งนี้เขาเคยทำหน้าที่รายงานข่าวทั้งจากญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย, และที่อื่นๆ อีกในเอเชีย

หมายเหตุผู้แปล

ดั๊ก สึรุโอกะ บรรณาธิการประจำกองบรรณาธิการเอเชียไทมส์ ยังได้สัมภาษณ์ เดวิด ดอลลาร์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันบรูกกิ้งส์ หน่วยงานคลังสมองที่มีอิทธิพลสูงในกรุงวอชิงตัน ในเรื่องที่คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทียอมรับและเข้าร่วม “โครงการเส้นทางสายไหมใหม่” หรือที่เรียกกันว่าโครงการหนึ่งแถบเศรษฐกิจหนึ่งเส้นทางของจีน บทสัมภาษณ์นี้มีเนื้อหาเป็นการเพิ่มแง่มุมจากบทสัมภาษณ์ เดนนิส ไวล์เดอร์ จึงขอเก็บความนำมาเสนอไว้ในที่นี้ ดังนี้:

ไม่ต้องห่วง‘จีน’จ่ายไหว‘โครงการเส้นทางสายไหมใหม่’ แต่ควรต้องดึง‘อินเดีย’เข้าร่วมด้วย
โดย ดั๊ก สีรุโอกะ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

OBOR affordable, India participation vital: Brookings fellow
By Doug Tsuruoka
14/06/2017

เดวิด ดอลลาร์ อดีตเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกและผู้แทนกระทรวงการคลังสหรัฐฯประจำกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นเวลานี้นักวิจัยอาวุโสของสถาบันบรูกกิ้งส์ แสดงความคิดเห็นว่าโครงการแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 ของจีนนั้น ไม่ได้ต้องใช้จ่ายเงินเป็นหลักหลายล้านล้านดอลลาร์อย่างที่บางฝ่ายพูดๆ กัน และฐานะของแดนมังกรในปัจจุบันสามารถที่จะแบกรับประคับประคองไหว อย่างไรก็ดี เขาบอกว่าจำเป็นมากที่จะต้องดึงเอาอินเดียเข้ามาร่วมกับโครงการนี้

แผนการริเริ่มแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21 (The Silk Road Economic Belt and the 21st-century Maritime Silk Road) ของจีน ซึ่งยังเรียกขานกันอย่างย่อๆ ว่า โครงการหนึ่งแถบเศรษฐกิจหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road ใช้อักษรย่อว่า OBOR) บ้าง, แผนการริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทาง (Belt and Road Initiative ใช้อักษรย่อว่า BRI) บ้าง เป็นโครงการซึ่ง อยู่ในระดับที่จีนเองสามารถแบกรับได้ และจะไม่สูงทะลุระดับหลักล้านล้านดอลลาร์อย่างที่บางฝ่ายบอก นี่เป็นความเห็นของ เดวิด ดอลลาร์ (David Dollar) อดีตเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลก และผู้แทนของกระทรวงการคลังสหรัฐฯประจำกรุงปักกิ่ง

ดอลลาร์ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่สถาบันบรูกกิ้งส์ (Brookings Institution) หน่วยงานคลังสมองชื่อดังที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ประมาณการเอาไว้ว่าโครงการ OBOR ไม่ควรที่จะมีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี อันเป็นการลงทุนระดับที่แดนมังกรสามารถรับมือไหวถ้าหากดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนยังคงอยู่ภายในพิสัยขณะปัจจุบัน

ทว่าดอลลาร์เตือนว่า อินเดียซึ่งจวบจนถึงเวลานี้ยังคงลังเลที่จะร่วม OBOR นั้น จะต้องเข้ามาร่วมด้วยถ้าหากจะให้แผนการของจีนนี้ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ให้น้ำหนักอะไรนักแก่ความเป็นไปได้ที่ฝ่ายจีนจะเข้าร่วมในแผนการของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการบูรณะซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ

ดอลลาร์ ให้สัมภาษณ์ ดั๊ก สึรุโอกะ บรรณาธิการประจำกองบรรณาธิการของเอเชียไทมส์ เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เหล่านี้เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งขอเรียบเรียงนำมาเสนอดังต่อไปนี้:

เอเชียไทมส์: สหรัฐฯจะช่วยให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่แผนการ OBOR ซึ่งมีการประมาณการว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายจะสูงถึงระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือไม่ เพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือจากฝ่ายจีนในการบูรณะซ่อมสร้างและการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ?

ดอลลาร์: คำตอบโดยพื้นฐานเลยต่อคำถามนี้ก็คือ “ไม่” ก่อนอื่นเลยนะครับ ผมไม่คิดหรอกว่าการลงทุนในโครงการ OBOR มันจะไปถึงหลักล้านล้านดอลลาร์ จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ ตัวเลขจริงๆ น้อยกว่าจำนวนที่พูดกันนั่นมากมายมหาศาลเลย

หน่วยงานทางการเงินที่เป็นผู้นำสำหรับโครงการนี้ คือ ธนาคารพัฒนาประเทศจีน (China Development Bank) เท่าที่ธนาคารแห่งนี้รายงานเอาไว้ก็คือจนถึงขณะนี้ได้ปล่อยเงินกู้ออกไปเป็นจำนวน 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงระยะเวลาหลายๆ ปี มันเป็นตัวเลขที่ใหญ่โตพอประมาณ แต่มันก็ทำให้ยากที่จะเชื่อว่าตัวเลขนี้จะพุ่งพรวดไปจนถึงหลักหลายล้านล้านได้ เว้นแต่ว่าคุณกำลังพูดถึงระยะเวลายาวนานตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป

เอเชียไทมส์: สหรัฐฯจะช่วยเหลือในการให้ความสนับสนุนทางการเงินขนาดนี้ไหม?

ดอลลาร์: โชคร้ายนะครับที่สหรัฐฯไม่ได้เป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนรายใหญ่ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเลย หนทางเดียวเท่านั้นที่สหรัฐฯสามารถร่วมส่วนในเรื่องเช่นนี้ได้ ก็คือผ่านทางธนาคารโลก และ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) ทว่าสหรัฐฯก็แสดงความลังเลไม่อยากเปิดทางให้สถาบันทั้งสองนี้เพิ่มบทบาทของพวกเขาโดยผ่านการเพิ่มเงินทุน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะมองว่าสหรัฐฯจะแสดงบทบาทอะไรเยอะแยะในการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการ OBOR

เอเชียไทมส์: แล้วสหรัฐฯจะเป็นฝ่ายหันไปขอให้ฝ่ายจีนช่วยเหลือในการให้ความสนับสนุนทางการเงินและในการเข้าร่วมแผนการบูรณะซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐฯของทรัมป์หรือไม่?

ดอลลาร์: มีการพูดจาเกี่ยวกับเรื่องนี้กันนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง แต่ผมนะจัดอยู่ในประเภทสงสัยข้องใจครับ ว่าพวกบริษัทของจีนมีความได้เปรียบในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบอย่างแท้จริงใดๆ หรือไม่ในอเมริกานี่

มีนักวิจารณ์แสดงความเห็นทางสื่อของสหรัฐฯบางคนชี้ให้เห็นว่า เงินทุนนะมีราคาถูกเอามากๆ เลยในขณะนี้ สหรัฐฯสามารถที่จะกู้ยืมโดยที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในระดับที่เป็นศูนย์ในทางปฏิบัติด้วยซ้ำไป ดังนั้นปัญหาด้านความสนับสนุนทางการเงินจึงไม่มี –สำหรับในสหรัฐฯแล้ว อันที่จริงมันเกิดความซับซ้อนยุ่งยากขึ้นมาในเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ก็เนื่องจากมุมมองทางด้านระเบียบกฎหมายมากกว่า

ผมคิดว่าประเด็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่งก็คือ ชาวอเมริกันมีความลังเลไม่ค่อยยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อใช้โครงสร้างพื้นฐานด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ถ้าหากคุณยอมรับว่าคุณจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการเข้าไปใช้ถนนหนทางแล้ว มันก็จะเป็นเรื่องง่ายดายเลยที่จะหาเงินทุนสนับสนุนการซ่อมสร้างถนนหนทางในสหรัฐฯ ทว่าพวกเราดูเหมือนลังเลไม่ค่อยยินดีที่จะจ่ายเงินในเรื่องเช่นนี้ ดังนั้นผมจึงมองไม่เห็นว่าจีนสามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้นะครับ

เอเชียไทมส์: คณะบริหารทรัมป์พูดเป็นนัยๆ ว่าสหรัฐฯจะยินดีให้ความร่วมมือเพิ่มขึ้นมากในประเด็นปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ถ้าหากจีนให้คำมั่นสัญญาอย่างใหญ่โตที่จะสร้างโรงงานในสหรัฐฯซึ่งว่าจ้างคนงานชาวอเมริกัน คุณคิดว่าการแลกเปลี่ยนในลักษณะเช่นนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่?

ดอลลาร์: แน่นอนอยู่แล้วว่า เราจะได้เห็นจีนเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯอย่างมากมาย แต่ส่วนใหญ่ที่สุดอยู่ในรูปของการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (mergers and acquisitions) –ดังนั้นมันก็จะไม่ได้มีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ อะไร มันไม่ได้อยู่ในประเภทของการลงทุนในโครงการใหม่ (greenfield investment) อย่างเช่นที่โตโยต้าและบริษัทอื่นๆ ได้เคยทำมาในอดีต

เราอาจจะเริ่มได้เห็นฝ่ายจีนทำการลงทุนในโครงการใหม่กันอยู่บ้าง ทว่าก็มีอะไรต่ออะไรหลายอย่างที่ยังคอยทัดทานต่อต้านเรื่องอย่างนี้อยู่ ความสามารถอันยอดเยี่ยมในด้านอุตสาหกรรมการผลิตของจีนนั้น จำนวนมากทีเดียว (มีพื้นฐานอยู่ที่การติดต่อเชื่อมโยง) อิงอยู่กับสายโซ่มูลค่าระดับโลก (global value chains) โดยที่สายโซ่มูลค่าระดับโลกเหล่านี้บริหารจัดการโดยพวกบริษัทตะวันตก หรือไม่ก็โดยพวกบริษัทญี่ปุ่นและเกาหลี ดังนั้นผมคิดว่า มันเป็นการจำกัดศักยภาพของจีนที่จะมาทำการลงทุนในโครงการใหม่

แต่ผมก็มีความแน่ใจว่าจะได้เห็นการลงทุนเช่นนี้เพิ่มขึ้นมาบ้าง และนั่นก็จะเป็นการสร้างกลุ่มผลประโยชน์ใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งทำให้มองเห็นได้ว่าการบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีนนั้น มันกำลังเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์

เอเชียไทมส์: ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ของจีน และเอดีบีที่นำโดยญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ กำลังแข่งขันซึ่งกันและกันในเอเชีย ทั้งสองสถาบันนี้สามารถที่จะร่วมมือกันในการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่พวกโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในเอเชียได้หรือไม่ และคุณมองเห็นสัญญาณใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างหรือไม่?

ดอลลาร์: ผมคิดว่าอันที่จริงแล้วมีความร่วมมือกันเป็นอย่างดีทีเดียวระหว่าง AIIB กับ ADB พวกเขากำลังร่วมกันปล่อยเงินกู้สนับสนุนโครงการต่างๆ หลายโครงการ นี่คือวิธีการอันสมเหตุสมผลอยู่แล้วในการกระจายความเสี่ยง แล้วมันก็มีความต้องการเงินกู้อยู่เยอะแยะ กำลังมองหาแหล่งให้ความสนับสนุนทางการเงินที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไป ดังนั้นผมจึงคิดว่า AIIB มีการเริ่มต้นการดำเนินงานที่ดีทีเดียว และก็จะทำให้เกิดมีการแข่งขันที่ให้ผลดีขึ้นมานิดๆ หน่อยๆ กับทาง ADB แต่ว่าเราก็ยังเห็นพวกเขากำลังร่วมมือกันนิดๆ หน่อยๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นเป็นผลบวกสำหรับเอเชีย

เอเชียไทมส์: ผลประกอบการทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของจีน เพียงพอหรือไม่ที่จะประคับประคองขนาดโครงการของ OBOR เอาไว้ได้?

ดอลลาร์: อย่างที่ผมพูดไปแล้ว ตัวเลขบางตัวที่กำลังพูดกันในเวลาถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับโครงการ OBOR นะ มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลย ระดับอันแท้จริงของกิจกรรมนั้นแน่นอนทีเดียวว่าไม่ได้เกินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี จีนสามารถแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายขนาดนี้ได้

แหล่งที่มาของความสนับสนุนทางการเงินของจีนสำหรับโครงการนี้ ที่บอกว่าสามารถแบกรับไหวนั้น ก็คือดูที่ความได้เปรียบทางบัญชีดุลสะพัดของจีน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงระหว่าง 200,000 ล้าน ถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี นี่ทำให้ยังมีเงินทุนสำหรับสนับสนุนเรื่องอื่นๆ อีกด้วยซ้ำ อย่างเช่น การลงทุนของจีนที่กำลังเข้าไปยังสหรัฐฯและยุโรป ดังนั้นผมจึงคิดว่าระดับของการที่จีนไปลงทุนภายนอกประเทศในปัจจุบันจะยังคงประคับประคองแบกรับกันต่อไปได้ ตราบเท่าที่พวกเขามีความได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดขนาดนี้ –ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นภาพสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงที่สุดอยู่แล้ว

เอเชียไทมส์: อินเดียมีการส่งสัญญาณอะไรบ้างไหมในเรื่องเกี่ยวกับการเข้าร่วมในโครงการ OBOR และความร่วมมือของนิวเดลีในแผนการนี้ของจีนมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน?

ดอลลาร์: อินเดียยังคงมีท่าทีในทางลบเอามากๆ พวกเขามีความตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่าประตูหลักที่ออกจากจีนนั้น มันจะผ่านปากีสถานซึ่งครอบคลุมถึงดินแดนหลายๆ ส่วนที่อินเดียกับปากีสถานยังพิพาทช่วงชิงกันอยู่ นั่นคือในแคชเมียร์ นี่ตามความเข้าใจของผมนะครับ นอกจากนั้นแล้วอินเดียยังมีความไม่สบายใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับด้านบางด้านในโครงการภาพรวมของฝ่ายจีนด้วย

เอเชียไทมส์: คุณคิดว่าจะมีทางอุดช่องว่างความแตกต่างเช่นนี้ได้อย่างไรบ้าง?

ดอลลาร์: เนื่องจาก OBOR จริงๆ แล้วเป็นโครงการที่ต้องจัดอยู่ในประเภทครอบคลุมทั่วทั้งเอเชีย ดังนั้นคุณจะต้องมีการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีกันใหม่ระหว่างอินเดียกับจีน บางทีจีนอาจจะต้องยอมรับสิ่งที่เป็นความอ่อนไหวของอินเดียในบางจุด แต่ตราบใดที่เรื่องเช่นนี้ยังไม่ได้บังเกิดขึ้นมา มันก็จะต้องมีข้อจำกัดในเรื่องขนาดของโครงการแถบเศรษฐกิจและเส้นทาง

เอเชียไทมส์: ทำไมคุณถึงคิดอย่างนั้น?

ดอลลาร์: มีการประมาณการต่างๆ ว่าโครงสร้างพื้นฐานประเภทไหนบ้างที่จำเป็นต้องมีในเอเชีย ในการประมาณการเหล่านี้ทั้งหมดนั้น ส่วนที่ใหญ่มหึมาส่วนหนึ่งเลยคือความต้องการในอินเดีย ดังนั้นถ้าอินเดียไม่ได้ยอมรับเข้าร่วมในโครงการนี้ด้วยแล้ว ก็คงต้องพูดกันตรงๆ ว่า ตัวเลขของประชาชนเหล่านั้นที่กำลังพูดถึงอ้างอิงกันอยู่ จำนวนเยอะแยะเลยยังไม่ได้อยู่ในโครงการ

เอเชียไทมส์: คณะบริหารโอบามานั้นพยายามที่จะเมินเฉยมองข้าม OBOR สภาพเช่นนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ภายใต้ทรัมป์ และน่าจะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นมาบ้าง?

ดอลลาร์: มันกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ในการประกาศดอกผลที่เก็บเกี่ยวกันมาแล้วเป็นอันดับแรกก่อนเพื่อนเลย (ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน) เมื่อสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น ได้มีการใส่เข้าไปในข้อตกลงดังกล่าวด้วยว่าสหรัฐฯตระหนักรับทราบเรื่องโครงการ OBOR สหรัฐฯยังตกลงเห็นชอบที่จะส่งคณะผู้แทนระดับค่อนข้างสูงทีเดียวไปยังการประชุมของหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเมื่อเดือนพฤษภาคม (เวทีประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ Belt and Road Forum for International Cooperation)

คณะผู้แทนชุดนี้นำโดย แมตต์ พอตติงเกอร์ (Matt Pottinger) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย (Asia Director) ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) นี่นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯแสดงการตระหนักรับทราบโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางแบบนี้ ซึ่งในบางแง่บางมุมก็เป็นเพียงแค่การแสดงความตระหนักรับรู้ความเป็นจริงเท่านั้น แต่การทำเช่นนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่หลักแหลม

ทว่าในเวลาเดียวกันนั้นผมก็มีความวิตกเรื่องที่คณะบริหารทรัมป์ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ผมมองว่า TPP เป็นตัวที่เสริมซึ่งกันและกันกับ OBOR

เอเชียไทมส์: TPP จะสามารถเป็นตัวเสริมซึ่งกันและกันกับ OBOR ยังไงได้บ้าง?

ดอลลาร์: โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกำลังให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงสร้างพื้นฐานในทางกายภาพจำนวนมากมาย ทว่าการบูรณาการระบบเศรษฐกิจต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างแท้จริงนั้น ยังจำเป็นต้องดำเนินกระบวนการประสานพวกระเบียบกฎหมายต่างๆ และการบริหารจัดการด้านศุลกากรที่สอดคล้องไปในทางเดียวกันอีกด้วย ยิ่งในโลกสมัยใหม่ด้วยแล้ว เรายังกำลังพยายามทำลายพวกกำแพงขวางกั้นพวกบริการต่างๆ, เรื่องการค้าและการลงทุน

TPP นั้นมี “ซอฟต์แวร์” อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในเวลาบูรณาการทางเศรษฐกิจ แล้วยังมีพวกประเทศอย่างเช่นเวียดนามและมาเลเซีย ซึ่งกำลังมองไปทางจีนเมื่อต้องการหาความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของพวกเขา แต่พวกเขาก็ยังกำลังมองไปทางสหรัฐฯด้วยในเวลาจัดทำกำหนดกฎระเบียบสำหรับการค้าและการลงทุนระดับโลก แล้วเวลานี้สหรัฐฯกลับกำลังถอนตัวออกมาจากสิ่งเหล่านี้ ผมพบว่าเรื่องนี้น่ากังวลใจ

ดั๊ก สึรุโอกะ เป็นบรรณาธิการประจำกองบรรณาธิการ (Editor-at-Large) ของเอเชียไทมส์ เขาเป็นอดีตบรรณาธิการใหญ่ (Editor in Chief) ของเอเชียไทมส์ รวมทั้งเคยทำงานให้ฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิกรีวิว, นิวสวีก, เอเชียไทมส์ที่เป็นเอดิชั่นตีพิมพ์ดั้งเดิม, และสื่อสำคัญอื่นๆ ทั้งนี้เขาเคยทำหน้าที่รายงานข่าวทั้งจากญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย, และที่อื่นๆ อีกในเอเชีย

กำลังโหลดความคิดเห็น