การประชุม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือเส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพและมีผู้นำจาก 29 ประเทศเข้าร่วม รวมทั้งผู้แทนของรัฐบาลญี่ปุ่น สะท้อนถึงบารมีของแดนมังกรที่นานาชาติไม่อาจจะปฏิเสธได้ และญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนท่าทีจากการตั้งแง่มาเป็นการร่วมมือกับจีนเพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
การประชุม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ” (Belt and Road Forum for International Cooperation) ครั้งแรก ที่จัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 14-15 พ.ค. โดยมีผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล จาก 29 ประเทศ รวมทั้งกลุ่มผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ และผู้นำภาคธุรกิจ เข้าร่วมการประชุม จีนได้ผลักดันแนวคิดริเริ่มนี้ตั้งแต่ปี 2556 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เชื่อมเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้แถลงสรุปผลการประชุมว่า ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประเทศต่างๆมากกว่า 100 ประเทศ ซึ่งร่วมกันรับรอง “คำสัญญาสร้างระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง สร้างเขตการค้าที่เปิดกว้างและเปิดเสรี ต่อต้านลัทธิคุ้มครองการค้าในรูปแบบต่างๆ”
บทบาทของจีนที่ป่าวประกาศเรื่องการค้าเสรีอาจย้อนแย้งกับความเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ แต่กลับโดดเด่นมากขึ้นเมื่อสหรัฐอเมริกา ผู้นำแห่งโลกเสรี อยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศว่า “อเมริกาต้องมาก่อน”
บทบาทของจีนที่ส่งสารที่ส่งเสริมการค้าเสรีได้รับการตอบรับอย่างดีจากบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และกำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายปกป้องทางการค้าของชาติตะวันตก ดังนั้น ประเทศเศรษฐกิจใหม่จำนวนมากขึ้นจึงเข้าร่วมในแนวคิด “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” อย่างเต็มใจ
ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น วิเคราะห์ว่า ถึงแม้แนวคิด “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” จะประสบปัญหามากมายในการดำเนินการโครงการต่างๆ แต่จีนเชื่อว่าตนได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และก็ถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะว่าควรจะดำเนินการไปในทิศทางใดต่อจากนี้
เศรษฐกิจจีนยังไม่ประสบความสำเร็จในการลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมหนัก และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงเนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปโครงสร้าง รัฐบาลจีนจึงพยายามใช้ประโยชน์จากแนวคิดนี้ ซึ่งจะมีประเทศต่างๆ ในเอเชียกลางซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์เข้าร่วมด้วย
ยุคนี้ใครหน้าไหนกล้าปฏิเสธจีน ?
การผงาดขึ้นของแดนมังกรทำให้ประเทศต่างๆไม่อาจปฏิเสธข้อเสนอของจีนได้ ไม่เพียงแต่เรื่อง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” เท่านั้น ก่อหน้านี้จีนได้ก่อตั้ง ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือ AIIB เพื่อเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินหลักในการพัฒนาในพื้นที่นี้ โดยถึงแม้จะมีเสียงค่อนขอดจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ที่ญี่ปุ่นเป็นแกนนำว่า AIIB มีหลักประกันเรื่องความโปร่งใสเพียงใด?
แต่จนถึงขณะนี้มีประเทศเข้าร่วมใน AIIB มากถึง 77 ประเทศ และจะเพิ่มเป็น 85 ประเทศในสิ้นปีนี้ โดยประเทศต่างๆต้องวางเงินสนับสนุนก้อนหนึ่งไว้กับธนาคารที่จีนจัดตั้งขึ้นนี้ด้วย
นายกฯญี่ปุ่นส่งสาส์นส่วนตัว เชิญผู้นำจีนเยือน
ในการประชุม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ญี่ปุ่นได้ส่งนายโทชิฮิโร นิไค เลขาธิการพพรคเสรีประชาธิปไตย เข้าร่วมประชุม โดยนายกฯชินโซ อะเบะได้ฝากสาส์นไปถึงประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน แสดงความหวังที่ผู้นำจีนจะเดินทางเยือนญี่ปุ่นในปีหน้า ในโอกาสครบรอบ 40ปีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีน
จดหมายของนายอะเบะยังระบุว่า ญี่ปุ่นต้องการมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรและมั่นคงกับจีนในทุกมิติ และสนับสนุนแนวคิด “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน
ปัญหาเรื่องพื้นที่พิพาทหมู่เกาะเซ็นกากุ และความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายอะเบะ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันค่อนข้างเย็นชา ผู้นำทั้ง 2ชาติยังไม่เคยได้เดินทางเยือนอย่างเป็นทางการเลย ได้แต่พบกันในเวทีประชุมระหว่างประเทศเท่านั้น
แน่นอนว่า เรื่องข้อพิพาทต่างๆนั้นเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ที่ทั้งฝ่ายจีนและญี่ปุ่นหยิบมาใช้เพื่อหวังผลในประเทศ และทุกประเทศย่อมเห็นผลประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ แต่ในภาษาตจีนมีสุภาษิตว่า “น้ำไกลไม่อาจดับไฟใกล้” ซึ่งในยามที่ญี่ปุ่นเผชิญทั้งภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และเศรษฐกิจที่ซบเซา การมีเพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ย่อมดีกว่าพันธมิตรแดนไกล ที่ “มือถือสากปากถือศีล”.