xs
xsm
sm
md
lg

สุดโหด! แก๊งนักโทษคู่อริ “ฆ่าตัดหัว” กันเองในเรือนจำบราซิล ดับ 56 ราย-แหกคุกไปได้อีก 144 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - แก๊งนักโทษ 2 กลุ่มซึ่งเป็นอริกันก่อเหตุทะเลาะวิวาทและสังหารกันเองภายในเรือนจำบราซิล จนมีผู้เสียชีวิตถึง 56 ราย ขณะที่นักโทษอีก 144 คนแหกคุกหนีไปได้ เจ้าหน้าที่บราซิลเผยวานนี้ (2 ม.ค.)

เหตุจลาจลดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ (1) และลุกลามต่อเนื่องไปตลอดทั้งคืนที่เรือนจำชานเมืองมานาอุส (Manaus) เมืองเอกของรัฐอามาโซนัส

ช่างภาพเอเอฟพีรายงานว่า ศพนักโทษที่ชุ่มโชกไปด้วยเลือดและโดนไฟเผาถูกนำไปกองรวมกันบนพื้นคอนกรีต บ้างก็สุมรวมกันไว้บนรถเข็น

เซอร์จิโอ ฟอนเตส เลขาธิการฝ่ายความมั่นคงของรัฐอามาโซนัส ได้ปรับยอดผู้เสียชีวิตจากที่นับได้ครั้งแรก 60 ราย ลงมาเหลือเพียง 56 ราย

กรณีนักโทษสังหารกันเองครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในเรือนจำหลายแห่งทั่วละตินอเมริกาในรอบ 10 ปี ขณะที่ ฟอนเตส ถึงกับยกให้เป็น “การสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุด” ที่เคยเกิดขึ้นในเรือนจำของรัฐอามาโซนัส

ตำรวจบราซิลซึ่งมีอาวุธหนักครบมืออยู่ระหว่างติดตามนักโทษอีกกว่าร้อยคนที่แหกคุกหนีออกไปผ่านทางอุโมงค์ใต้ดินหลายจุด ซึ่งถูกพบบริเวณเรือนจำ อานิซิโอ โจบิม

สำนักงานของฟอนเตสระบุว่า เรือนจำแห่งนี้มีนักโทษหลบหนีไป 112 คน และยังมีผู้ต้องขังจากเรือนจำ อันโตนิโอ ตรินดาเด ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันหลบหนีออกไปอีก 72 คน ซึ่งขณะนี้สามารถตามจับกลับมาได้แล้วเพียง 40 คน

ตำรวจสามารถควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จในเช้าวันจันทร์ (2) และปลดปล่อยผู้คุม 12 คนซึ่งถูกจับเป็นตัวประกัน

“นักโทษหลายคนถูกฆ่าตัดหัว และตกเป็นเหยื่อความรุนแรง” ฟอนเตส แถลงต่อสื่อมวลชน พร้อมระบุว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นฝีมือแก๊งอาชญากรท้องถิ่น FDN ที่ต้องการข่มขู่แก๊งคู่แข่ง PCC ซึ่งก็จัดว่าเป็นเครือข่ายอาชญากรใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในบราซิล

“ระหว่างที่เจรจา นักโทษทุกคนแทบไม่มีข้อเรียกร้องอะไร... เราคิดว่าพวกเขาคงได้ทำสิ่งที่ต้องการแล้ว นั่นก็คือสังหารสมาชิกขององค์กรคู่แข่ง”

เรือนจำในบราซิลมักจะมีพวกแก๊งค้ายาเสพติดทำตัวเป็น “ขาใหญ่” และมีการขัดแย้งระหว่างนักโทษคู่อริ ไม่ต่างจากการทำสงครามภายนอกคุก

รัฐบาลแซมบ้ามีนโยบายปราบปรามการค้ายาเสพติดอย่างจริงจังมานานหลายปี แต่การจับผู้ค้ามาขังคุกก็แทบจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ขณะที่นักวิจารณ์บางรายมองว่ากลับยิ่งกระตุ้นให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกด้วย

องค์กรสิทธิมนุษยชนก็ได้ออกมาร้องเรียนเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่แออัดของนักโทษในเรือนจำบราซิล

“ปัญหาเริ่มต้นมาจากความแออัด... คุณเอานักโทษต่างแก๊งมาขังรวมกัน โดยไม่สามารถเข้าไปควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นภายในได้เลย” มาร์กอส ฟุชส์ ทนายและนักเคลื่อนไหว ให้สัมภาษณ์

ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมบราซิลระบุว่า ช่วงปลายปี 2014 มีนักโทษถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำบราซิลรวมทั้งสิ้น 622,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชายผิวดำ ซึ่งทำให้บราซิลกลายเป็นดินแดนที่มีประชากรนักโทษมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย



กำลังโหลดความคิดเห็น