xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : เหตุยิงสังหาร “ทูตรัสเซีย” ทำ “ผู้นำตุรกี” ตกที่นั่งลำบาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตำรวจนอกเครื่องแบบตุรกีชูปืนขู่ หลังจากยิงสังหารเอกอัครราชทูตรัสเซีย อันเดรย์ คาร์ลอฟ
การยิงสังหารเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำตุรกีอย่างอุกอาจกลางหอศิลป์ในกรุงอังการา เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ธ.ค. เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ซึ่งกำลังถูกตะวันตกหมางเมินจากการกวาดล้างเครือข่ายรัฐประหาร ยิ่งตกที่นั่งลำบาก

เอกอัครราชทูต อันเดรย์ คาร์ลอฟ ถูกจ่อยิงเข้าที่กลางหลังถึง 9 นัด ขณะกำลังกล่าวเปิดนิทรรศการภาพถ่ายจากรัสเซีย

เมฟลุต เมิร์ต อัลตินตัส ตำรวจตุรกีนอกเครื่องแบบวัย 22 ปีซึ่งเป็นผู้ชักปืนออกมาสังหารทูต ประกาศก้องว่าที่ทำลงไปครั้งนี้ก็เพื่อแก้แค้นที่รัสเซียทิ้งระเบิดถล่มกบฏในเมืองอะเลปโปของซีเรีย

เจ้าหน้าที่ตุรกีและรัสเซียต่างรุมประณามการ “ก่อการร้าย” ที่อุกอาจ ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียยืนยันว่า การ “ยั่วยุ” เช่นนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกกับอังการาที่เริ่มจะดีขึ้น หลังจากทั้งสองชาติเคยปีนเกลียวเพราะถือหางคู่ขัดแย้งคนละฝ่ายในสงครามซีเรีย

รัสเซียเริ่มแทรกแซงทางทหารในซีเรียตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. ปีที่แล้ว เพื่อปกป้องรัฐบาลประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด บทบาทของมอสโกครั้งนี้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อชาวตุรกีและ แอร์โดอัน ซึ่งเป็นผู้นำรายแรกๆ ของโลกที่ออกมาเรียกร้องให้ อัสซาด สละตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตุรกีจำเป็นต้องปรับจุดยืนหลังจากที่ดามัสกัสเริ่มเป็นฝ่ายได้เปรียบ อีกทั้งกองกำลังเคิร์ดในซีเรียที่สู้รบกับกองทัพอัสซาดก็เรียกร้องขอการสนับสนุนจากชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในตุรกี ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลอังการา

ระยะหลังๆ ตุรกีได้ทำงานร่วมกับรัสเซียอย่างใกล้ชิดเพื่อปกป้องพลเรือนที่ติดอยู่ในพื้นที่สู้รบในเมืองอะเลปโป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชาวตุรกีทุกคน “ยอมรับ” บทบาทของรัสเซียในสงครามที่จ่อประชิดอยู่หน้าประตูบ้านของพวกเขา

ความจริงข้อนี้ได้รับการพิสูจน์ เมื่อมือปืนที่ยิงทูต คาร์ลอฟ ร้องตะโกนสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และขอให้ผู้คน “อย่าลืมอะเลปโป” ก่อนที่ตัวเขาเองจะถูกหน่วยความมั่นคงวิสามัญฯ

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ฟันธงว่า การฆ่าทูตรัสเซียจะไม่กระทบต่อความร่วมมือของทั้งสองชาติ

มุสตาฟา อักยอล คอลัมนิสต์ชาวตุรกี ระบุว่า “นี่ไม่ใช่ซาราเยโวในปี 1914” ซึ่งการลอบสังหารอาร์คดยุค ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ แห่งออสเตรียโดยมือปืนชาตินิยมชาวเซอร์เบียได้นำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1

“อังการาและมอสโกจะไม่ทำสงครามกันแน่นอน มีแต่จะใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งขึ้นไปเสียอีก”
ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยับ แอร์โดอัน แห่งตุรกี
กระนั้นก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นความเคลื่อนไหวด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ แอร์โดอัน ตกที่นั่งลำบาก

การที่ แอร์โดอัน ที่สั่งจับกุมและกวาดล้างผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล หลังเกิดความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวขึ้นเมื่อช่วงฤดูร้อน เป็นสิ่งที่โลกตะวันตกรับไม่ได้ และวันนี้ดูเหมือนว่าเขาอาจจะต้องยอมอ่อนข้อให้แก่รัสเซียมากขึ้น เพื่อชดเชยเหตุการณ์สังหารทูต

“เรื่องนี้มาเกิดเอาในช่วงเวลาที่แย่สุดๆ สำหรับ แอร์โดอัน ที่ผ่านมาเขาพยายามต่อรองกับ ปูติน อย่างระมัดระวังในเรื่องซีเรีย... การกระชับมิตรกับมอสโกคือความจำเป็นสำหรับเขา ในยามที่ความสัมพันธ์กับยุโรปและสหรัฐฯ กำลังตกต่ำ” เฮนรี บาร์กีย์ ผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางของสถาบัน วูดโรว์ วิลสัน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ให้ความเห็น

“ตอนนี้อำนาจต่อรองของตุรกีอาจยิ่งน้อยลงไปอีก และแน่นอนว่า ปูติน จะต้องใช้เวทีหลังม่านหาประโยชน์จากเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด ในขณะที่บอกกับสาธารณชนว่ามันจะไม่กระทบความสัมพันธ์... สิ่งที่น่าจับตามองหลังจากนี้ก็คือ แอร์โดอันจะต้องชดใช้ให้กับรัสเซียอย่างไรบ้าง”

ทำเนียบประธานาธิบดีตุรกีเผยแพร่คำแถลงถึงสื่อมวลชนว่า แอร์โดอัน ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ ปูติน เมื่อวันจันทร์ (19) และผู้นำทั้งสอง “ต่างเห็นพ้องให้มีการกระชับความร่วมมือ โดยเฉพาะด้านการปราบปรามลัทธิก่อการร้ายในวันข้างหน้า”

รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย อิหร่าน และตุรกี มีมติเห็นพ้องในวันอังคาร (20 ธ.ค.) ให้มีการค้ำประกันการเจรจาสันติภาพในซีเรีย และขยายข้อตกลงหยุดยิง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตุรกีมีแนวโน้มที่จะยอมให้มอสโกและเตหะรานซึ่งเป็นพันธมิตรของอัสซาด เป็นผู้กำหนดทิศทางอนาคตของซีเรีย

“เกมของตุรกีในซีเรียมันจบแล้ว” เซลิม ซาซัก นักวิจัยจากมูลนิธิเซนจูรี ซึ่งเป็นสถาบันคลังความคิดในนครนิวยอร์ก ระบุ

แม้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลังการสังหารทูตรัสเซีย แต่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงตุรกีรายหนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่า มือปืนผู้ก่อเหตุเป็นเครือข่ายของ เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาที่ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ และเป็นบุคคลที่อังการากล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารโค่น แอร์โดอัน เมื่อเดือน ก.ค.

ตัว แอร์โดอัน เองก็ได้ออกมายืนยันเป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธ (21 ธ.ค.) ว่า ตำรวจตุรกีที่ลอบสังหารเอกอัครราชทูตรัสเซียเป็นพลพรรคของกูเลน
เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาชาวตุรกีที่ลี้ภัยอยู่ในสหรัฐฯ และเป็นบุคคลที่อังการากล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
กูเลน เคยเป็นคนใกล้ชิดของ แอร์โดอัน ก่อนที่ทั้งคู่จะกลับกลายจากมิตรสนิทมาเป็นศัตรู เนื่องจากผู้นำตุรกีเริ่มไม่ไว้ใจขบวนการเคลื่อนไหวฮิซเม็ต (Hizmet) ของกูเลน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงในวงการสื่อ ตำรวจ และตุลาการ

รัฐบาลตุรกียังระแวงสงสัยมานานแล้วว่า กูเลน อาจทำงานให้แก่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี กูเลน ยืนยันว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหาร และได้ออกมาประณามการสังหารเอกอัครราชทูตรัสเซียด้วย

“ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับอังการาคือการโทษสาวกกูเลนว่าเป็นคนทำ เหมือนที่เคยอ้างว่านักบินที่ยิงเครื่องบินรบรัสเซียตกเกี่ยวข้องกับการก่อรัฐประหาร” ซาซัก ระบุ โดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่กองทัพอากาศตุรกียิงเครื่องบินขับไล่ Su-24 ของรัสเซียตกใกล้พรมแดนซีเรีย จนก่อวิกฤตการทูตครั้งใหญ่

การที่โลกตะวันตกแสดงตัวเป็นปฏิปักษ์กับ แอร์โดอัน และรัฐบาลตุรกียังกลายเป็นข้ออ้างให้แก่กลุ่ม “ยูเรเชียนิสต์” ซึ่งเป็นพวกชาตินิยมสุดโต่งในตุรกีที่ต้องการให้รัฐบาลตัดขาดกับตะวันตกและนาโต และหันไปคบค้าสมาคมกับมหาอำนาจอย่างรัสเซียและจีนแทน

“ด้วยการเสนอทฤษฎีสมคบคิด และการโยนความผิดให้แก่ชาติตะวันตก เราอาจได้เห็นตุรกีเอนไปซบฝ่ายรัสเซียมากขึ้นกว่าเดิม” อัยกัน เออร์เดมีร์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากมูลนิธิเพื่อการปกป้องประชาธิปไตยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุ

อย่างไรก็ตาม เออร์เดมีร์ ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคยุติธรรมและการพัฒนา (AKP) ของ แอร์โดอัน ยังต้องพึ่งพาพลเมืองมุสลิมสุหนี่เป็นฐานเสียงค้ำจุนอำนาจ และเป็นที่รู้กันว่าชาวสุหนี่ส่วนใหญ่นั้นต่อต้านการโจมตีที่รัสเซียกระทำต่อฝ่ายกบฏในซีเรีย

การที่ต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียและอิหร่าน พร้อมๆ กับควบคุมกระแสต่อต้านจากฐานเสียงชาวสุหนี่ในประเทศ เท่ากับว่าผู้นำตุรกี “กำลังเดินบนเส้นทางที่แคบและอันตราย”

ท้ายที่สุดแล้ว การสังหารทูตรัสเซียยังเป็นสัญญาณเตือนถึงวิกฤตความมั่นคงที่ตุรกีกำลังเผชิญอยู่ โดยก่อนหน้านี้เคยเหตุโจมตีรุนแรงโดยฝีมือกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดมาแล้วหลายครั้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น