รอยเตอร์ - รัฐบาลไต้หวันกล่าวหา “จีน” ว่าใช้ภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเซาตูเมและปรินซิปี เป็นเงื่อนไขกดดันให้รัฐเล็กๆ ในแอฟริกาตะวันตกแห่งนี้ยอมรับหลักการ “จีนเดียว” และประกาศตัดความสัมพันธ์กับไทเป ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบเลวร้ายลงไปอีก
การอ้างกรรมสิทธ์ของจีนเหนือเกาะไต้หวันกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา หลังจากมหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ได้แหวกธรรมเนียมการทูตรับโทรศัพท์จากประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวันเมื่อต้นเดือนนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตำแหน่งได้ติดต่อกับผู้นำไต้หวัน นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ได้ประกาศยอมรับนโยบายจีนเดียวในปี 1979
ทรัมป์ ยังออกมาตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดสหรัฐฯ จึงต้องยึดมั่นในหลัก “จีนเดียว” ที่ถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน
การก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันของ ไช่ อิงเหวิน ซึ่งเป็นผู้นำพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party) สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อปักกิ่ง ซึ่งหวาดระแวงว่าเธอคิดจะนำไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราช แม้ ไช่ จะยืนยันว่าต้องการรักษาความสัมพันธ์เชิงสันติกับจีนไว้ก็ตาม
เดวิด ลี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศได้หวัน ระบุว่า รัฐบาลไทเปจะไม่ใช้นโยบายมอบเงินช่วยเหลือต่างชาติหรือ “dollar diplomacy” อีกต่อไป หลังจากที่เซาตูเมและปรินซิปีตัดสินใจเช่นนี้
“ปักกิ่งไม่ควรใช้วิกฤตการคลังของเซาตูเมเป็นโอกาสผลักดันหลักการจีนเดียว” ลี แถลงต่อสื่อมวลชนที่กรุงไทเปวันนี้ (21)
“พฤติกรรมเช่นนี้จะไม่ช่วยให้ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบราบรื่นขึ้น”
ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันก็ออกมาระบุในทำนองเดียวกันว่า การที่จีนฉวยโอกาสกดดันให้เซาตูเมยอมรับหลักการจีนเดียวจะยิ่งบั่นทอนเสถียรภาพบริเวณช่องแคบ
“การทำเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาและความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบในระยะยาว”
รัฐบาลจีนออกมาแสดงท่าทีชื่นชมการตัดสินใจของเซาตูเม โดยไม่ประกาศชัดเจนว่าปักกิ่งได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับอดีตอาณานิคมโปรตุเกสแห่งนี้แล้วหรือยัง อีกทั้งไม่ได้เอ่ยถึงการมอบเงินช่วยเหลือแก่เซาตูเมด้วย
“เราได้ทราบคำแถลงของรัฐบาลเซาตูเมและปรินซิปี เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ซึ่งประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน รัฐบาลจีนขอแสดงความชื่นชมและยินดีที่เซาตูเมกลับคืนมาสู่หนทางที่ถูกต้องแห่งจีนเดียว” กระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุ
จีนยืนยันมาโดยตลอดว่าไต้หวันไม่มีสิทธิ์ได้รับการยอมรับในทางการทูต เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของจีน และเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในสายตาของปักกิ่ง
พรรคก๊กมินตั๋งซึ่งพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองในจีนเมื่อปี 1949 ได้หลบหนีไปยังเกาะไต้หวัน และตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองที่นั่น ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ปฏิเสธที่จะใช้กำลังบีบไต้หวันให้กลับมาอยู่ใต้อาณัติอีกครั้ง
ในทวีปแอฟริกาขณะนี้ เหลือเพียงบูร์กินาฟาโซและสวาซิแลนด์เท่านั้นที่ยังมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างเป็นทางการ ขณะที่ประธานาธิบดี ไช่ ก็เตรียมจะเดินทางไปกระชับสัมพันธ์กับฮอนดูรัส นิการากัว กัวเตมาลา และเอลซัลวาดอร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของไต้หวันในแถบอเมริกากลางในเดือนหน้า
“เรายังเหลือชาติพันธมิตรอีก 21 ประเทศ จึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี” ลี ระบุ
จีนและไต้หวันมีนโยบายกวาดต้อนพันธมิตรเข้าหาฝ่ายตนเองมานานหลายปีแล้ว โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีมอบแพกเกจเงินช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทว่าเมื่อปี 2008 ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มสงบศึกในทางการทูต และมีการลงนามข้อตกลงการค้าและเศรษฐกิจหลายฉบับภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว ซึ่งค่อนข้างเป็นมิตรกับปักกิ่ง
เซาตูเมและปรินซิเปมีเศรษฐกิจขนาดเล็กที่พึ่งพาการส่งออกโกโก้เป็นหลัก แต่ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางอ่าวกินีที่เต็มไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน ทำให้เป็นที่สนใจของต่างชาติซึ่งต้องการเข้าไปลงทุนสำรวจน้ำมันและก๊าซ
แหล่งข่าวการทูตในปักกิ่งเคยออกมาเผยก่อนหน้านี้ว่า เซาตูเมเป็นประเทศหนึ่งที่รัฐบาลจีนมุ่งมั่นจะดึงให้ออกห่างจากไต้หวัน
รัฐบาลเซาตูเมแถลงเมื่อปี 2013 ว่า จีนต้องการส่งคณะผู้แทนการค้าเข้าไปสนับสนุนการลงทุนที่นั่น หลังจากที่ตัดขาดความสัมพันธ์กันไปนานถึง 16 ปี