xs
xsm
sm
md
lg

ถ้ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯจริง มันก็คือสิ่งที่ซีไอเอเคยกระทำมาในทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ เซอร์โต

Foreign Meddling in Our Vote? Remember How This Feels.
By Peter Certo
14/12/2016

ตามรายงานข่าวของวอชิงตันโพสต์ ซีไอเอประเมินว่า รัสเซียได้เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯในคราวนี้ เพื่อให้ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะ ถ้าหากเรื่องนี้เป็นความจริงแล้ว มันก็เป็นพฤติการณ์อย่างเดียวกับที่ซีไอเอเคยกระทำอยู่ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในระหว่างช่วงสงครามเย็นนั่นเอง

แม้กระทั่งในปีแห่งการเลือกตั้งของสหรัฐฯที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเรื่องราวแบบทฤษฎีสมคบคิดเฉกเช่นปีนี้ ก็ยังยากที่จะจินตนาการได้ว่า จะมีอะไรกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มเกินไปกว่าเรื่องที่กล่าวหากันว่ารัสเซียกำลังแทรกแซงการเลือกตั้งในอเมริกาด้วยการช่วยเหลือโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เป็นผู้ชนะ ทว่านี่แหละคือสิ่งที่ซีไอเอเชื่อว่าได้เกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ หรืออย่างน้อยนี่ก็เป็นสิ่งซึ่ง “พวกเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการบรรยายสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้” บอกกับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ (ดูรายละเอียดรายงานข่าวชิ้นนี้ได้ที่ https://www.washingtonpost.com/world/national-security/obama-orders-review-of-russian-hacking-during-presidential-campaign/2016/12/09/31d6b300-be2a-11e6-94ac-3d324840106c_story.html?utm_term=.af0dbc5e0167)

ขณะที่รัสเซียได้ถูกประณามมาตั้งนานก่อนหน้านี้แล้ว ว่าเป็นผู้รับผิดชอบการแฮกอีเมลแอคเคาต์ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องโยงใยกับการรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีของฮิลลารี คลินตัน แต่แรงจูงใจของพฤติการณ์เช่นนี้ยังคงถูกเก็บงำเอาไว้ในความลึกลับซ่อนเงื่อน ทว่าตามรายงานข่าวชิ้นนี้ของวอชิงตันโพสต์ พวกเจ้าหน้าที่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ได้เสนอต่อรัฐสภาอเมริกันเมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับ “ข่าวกรองชิ้นหนึ่งซึ่งมาจากแหล่งข่าวหลายๆ แหล่ง และกำลังมีเนื้อหาเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ” โดยเนื้อหาสำคัญของข่าวกรองดังกล่าวนี้ระบุว่า “เป้าหมาย (ในการแฮก) ของฝ่ายรัสเซียคือการทำให้ทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง”

เวลานี้ซีไอเอยังไม่ได้นำเอาหลักฐานดังกล่าวนี้มาเสนอต่อสาธารณชนใดๆ ทั้งนั้น รวมทั้งยังมีรายงานระบุว่าซีไอเอ กับ เอฟบีไอ (สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ) มีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้ว่าอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะมีข้อสรุปที่แน่นอนชัดเจน แต่ข้อกล่าวหาลักษณะเช่นนี้ย่อมเรียกร้องให้ต้องมีการสอบสวนสาธารณะอย่างจริงจัง

แม้กระทั่งชาวรีพับลิกันบางคนที่หนุนหลังทรัมป์อยู่ ก็ยังดูเหมือนเห็นพ้องด้วยกับการจัดการสอบสวน “พวกรัสเซียนะไม่ได้เป็นเพื่อนมิตรของเราหรอก” มิตช์ แมคคอนเนลล์ (Mitch McConnell) ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ (แมคคอนเนลล์ เป็นผู้นำของพวกวุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกัน เนื่องจากในปัจจุบันพรรคนี้ครองเสียงข้างมากอยู่ในสภาสูง ตำแหน่งของเขาจึงเรียกว่าผู้นำเสียงข้างมาก) กล่าวในขณะประกาศว่าเขาสนับสนุนให้รัฐสภาจัดการไต่สวนเรื่องนี้ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.vox.com/policy-and-politics/2016/12/12/13919604/mitch-mcconnell-russia-trump) ส่วน จอห์น แมคเคน (John McCain) วุฒิสมาชิกคนสำคัญของรีพับลิกันอีกคนหนึ่งบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือ “การสงคราม” (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.nytimes.com/2016/12/12/us/politics/donald-trump-transition.html)

ช่างเป็นตลกร้ายที่ทำเอาหัวเราะไม่ออกได้ถึงขนาดนี้เชียวนะ ลองคิดดูเถอะ ซีไอเอกำลังกล่าวหาว่ารัสเซียกำลังทำการแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างเสรีและยุติธรรมของเรา เพื่อที่จะทำให้ผู้สมัครฝ่ายขวาซึ่งดูจะให้ผลประโยชน์แก่พวกเขามากกว่า ได้เป็นผู้ชนะขึ้นครองอำนาจ ทั้งๆ ที่ระหว่างช่วงสงครามเย็น พฤติการณ์เช่นนี้แหละคือสิ่งที่ซีไอเอกระทำกับประเทศอื่นๆ ในโลก (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2016/10/13/the-long-history-of-the-u-s-interfering-with-elections-elsewhere/?utm_term=.7e16831f6ccf)

ชาวอเมริกันส่วนใหญ่บางทีอาจจะไม่ทราบประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่จำนวนมากในโลกแล้ว นี่คือส่วนสำคัญยิ่งยวดของวอชิงตันที่พวกเขามองเห็นกันอยู่ แม้กระทั่งจนถึงทุกวันนี้

ในระหว่างช่วงหลายๆ ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่มอสโกกับวอชิงตันแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลบารมีในทั่วโลก เมืองหลวงทั้งสองแห่งนี้ต่างพยายามใช้กลวิธีต่อการเลือกตั้งในต่างประเทศทุกๆ ครั้งที่พวกเขาสามารถเอามือสอดแทรกเข้าไปได้

ตั้งแต่ยุโรปไปจนถึงเวียดนาม และจากชิลีไปจนถึงฟิลิปปินส์ พวกสายลับอเมริกันจัดส่งกระเป๋าเอกสารที่บรรจุเอาไว้ด้วยเงินสดไปให้เหล่านักการเมืองที่สหรัฐฯคัดเลือกมากับมือ หรือไม่ก็เปิดการรณรงค์ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามหัวเอียงซ้ายทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์กับอเมริกัน ตลอดจนเร่งระดมเผยแพร่กระจายเรื่องราว “ข่าวปลอม” ทั้งหลายเฉกเช่นพวกข่าวที่กล่าวหารัสเซียซึ่งกำลังกระจายกันเกลื่อนกลาดอยู่ในอเมริกาขณะนี้

นักรัฐศาสตร์ โดฟ เลวิน (Dov Levin) ได้รวบรวมข้อมูลและประมาณการว่า รัสเซียกับสหรัฐฯได้เข้าแทรกแซงในการเลือกตั้งรวม 117 การเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าวนี้ ทั้งนี้เฉพาะในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.washingtonpost.com/news/monkey-cage/wp/2016/09/07/sure-the-u-s-and-russia-often-meddle-in-foreign-elections-does-it-matter/?utm_term=.15720abd1ed4) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้สมัครที่ซีไอเอเลือกสรรเอาไว้เกิดเป็นผู้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็ดูจะยิ่งทวีความเลวร้าย

ในอิหร่าน เมื่อ โมฮัมหมัด มอสซาเดกซ์ (Mohammad Mossadegh) ผู้นำที่ขึ้นครองอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน พยายามที่จะเวนคืนแหล่งน้ำมันสำรองซึ่งบริษัทบีพี (BP) ครอบครองอยู่กลับมาเป็นของประเทศชาติ สายลับซีไอเอผู้มีนามว่า เคอร์มิต รูสเวลต์ (Kermit Roosevelt) ก็นำการปฏิบัติการเพื่อขับไล่มอสซาเดกซ์ลงจากอำนาจ และเชิดชูพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Shah Mohammad Reza Pahlavi) ขึ้นแทนที่ หลังจากนั้นหน่วยตำรวจลับของพระเจ้าชาห์ได้ทรมานพวกที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบปกครองของพระองค์เป็นจำนวนนับพันนับหมื่นคน จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิวัติอิสลามขึ้นในปี 1979

ในกัวเตมาเล เมื่อ จาโคโบ อาร์เบซ (Jacobo Arbez) ผู้ได้รับเลือกตั้งมาอย่างเป็นประชาธิปไตย พยายามที่จะทำให้สภาพการยึดกุมที่ดินในกัวเตมาลาอย่างเหนียวแน่นของบริษัทยูไนเต็ดฟรุตคอมพานี (United Fruit company) ซึ่งมีฐานอยู่ในสหรัฐฯ ได้ผ่อนคลายลงมาเสียที ปรากฏว่าซีไอเอได้เข้าหนุนหลังก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากอาร์เบซ ในสงครามกลางเมืองยาวนานหลายสิบปีที่ติดตามมาหลังจากนั้น กองกำลังความมั่นคงซึ่งสหรัฐฯหนุนหลังอยู่ ถูกกล่าวหาว่าดำเนินการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชาวพื้นเมืองกัวเตมาลา (ดูรายละเอียดได้ที่ http://cja.org/what-we-do/litigation/the-guatemala-genocide-case/)

ในชิลี หลังจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือก ซัลวอดอร์ อาเญนเด (Salvador Allende) ผู้สมัครแนวสังคมนิยมให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ ซีไอเอได้เป็นหัวหอกในการทำรัฐประหารอย่างเลือดนองแผ่นดิน เพื่อสถาปนา เอากุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) จอมเผด็จการฝ่ายขวาขึ้นสู่อำนาจ และระบอบปกครองของเขาก็ได้ดำเนินการทรมานตลอดจนทำให้ชาวชิลีหลายหมื่นคนหายสาบสูญไป (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.amnesty.org/en/latest/news/2013/09/chile-years-pinochet-s-coup-impunity-must-end/) โดยที่ เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในช่วงนั้น เคยเปล่งคำพูดอย่างตั้งใจว่า “ผมมองไม่เห็นเลยว่าทำไมเราจำเป็นต้องยืนเฉยๆ และเฝ้าดูประเทศใดประเทศหนึ่งกลายเป็นคอมมิวนิสต์ สืบเนื่องจากการไร้ความรับผิดชอบของประชาชนของประเทศน้นเอง” (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.democracynow.org/2006/12/14/ask_kissinger_about_pinochet_http_seattlepinwsourcecom_opinion_295792_amy14html)

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างซึ่งเป็นที่ทราบกันดีมากทีสุดอยู่แล้วเท่านั้น

ผมไม่ได้ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์เหล่านี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการแก้ตัวให้รัสเซีย จากการที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งของเรา โดยที่หากข้อกล่าวหานี้เป็นความจริงแล้ว ก็ย่อมเป็นเรื่องที่เราต้องเดือดดาลโกรธเกรี้ยว ผมเพียงแค่อยากเสนอแนะว่า บางทีมาถึงเวลานี้เราอาจจะทราบแล้วว่ามันรู้สึกอย่างไรเมื่อเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นมา เราควรที่จะจดจำความรู้สึกดังกล่าวเอาไว้ ในขณะที่ทรัมป์ ผู้ซึ่งพูดด้วยความนิยมชมชื่นต่อการปกครองเผด็จการในประเทศต่างๆ ตั้งแต่รัสเซียไปจนถึงอียิปต์ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.politico.com/story/2016/09/donald-trump-egypt-228393) ไปจนถึงฟิลิปปินส์และเลยไกลไปกว่านั้น (ดูรายละเอียดได้ที่ http://qz.com/857918/the-authoritarian-leaders-who-are-eagerly-awaiting-a-trump-presidency/) กำลังก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ

ในเวลาเดียวกันนั้น ผู้คนจำนวนมากในโลกต้องรู้สึกผ่อนคลายโล่งอกกันแน่ๆ เมื่อได้เห็นซีไอเอหยุดพักจากการบ่อนทำลายประชาธิปไตยในต่างแดน เพื่อหันมาพิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยในบ้านตนเอง

(ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก อาเธอร์เวิร์ดส์ (OtherWords) สิ่งพิมพ์ที่มุ่งเผยแพร่บทวิจารณ์และการ์ตูนแนวความคิดแบบก้าวหน้า ในเครือของสถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies) กลุ่มคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีแนวคิดแบบก้าวหน้า)

ปีเตอร์ เซอร์โต เป็นผู้จัดการด้านบรรณาธิการ (editorial manager) ของ สถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies) และเป็นบรรณาธิการของจุลสาร Foreign Policy In Focus ของสถาบันแห่งนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น