เอเอฟพี - พรรครัฐบาลนิวซีแลนด์มีมติแต่งตั้ง บิลล์ อิงลิช นักการเมืองผู้มากประสบการณ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่วันนี้ (12 ธ.ค.) หลังจากที่อดีตนายกฯ จอห์น คีย์ ได้ประกาศสละตำแหน่งแบบสายฟ้าแลบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
พรรคฝ่ายขวา เนชันแนล ปาร์ตี ได้เรียกประชุมสมาชิกเพื่อยืนยันมติแต่งตั้ง อิงลิช เป็นผู้นำคนใหม่เช้าวันนี้ (12) โดยจะมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเวลลิงตัน ในช่วงบ่าย
พอลา เบนเน็ตต์ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการของรัฐ ถูกแต่งตั้งให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนตำแหน่งเดิมของอิงลิช
“บิลล์ และพอลาเป็นผู้นำที่โดดเด่น ซึ่งจะสามารถผสมผสานประสบการณ์เข้ากับแนวคิดใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี” ปีเตอร์ กู๊ดเฟลโลว์ ประธานพรรคเนชันแนล ปาร์ตี ระบุ
“ภายใต้การนำของเขาทั้งสอง ประชาชนนิวซีแลนด์จะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพอย่างที่พวกเขาปรารถนา ซึ่งเป็นรัฐบาลที่อุทิศตนทำงานเพื่อสนับสนุนครัวเรือนและภาคธุรกิจ”
กู๊ดเฟลโลว์ยืนยันว่า รัฐบาลที่มีอิงลิชเป็นผู้กุมบังเหียน “จะยังคงเดินหน้ากระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงาน และเพิ่มเม็ดเงินลงทุนเพื่อยกระดับบริการสาธารณะให้มีคุณภาพระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน สาธารณสุข หรือโครงสร้างพื้นฐาน”
อิงลิช วัย 54 ปี ถูกมองว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดที่จะมารับไม้ต่อจากคีย์ หลังจากที่เคยควบตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังมาตั้งแต่ปี 2008-2016 และสามารถทำให้ดุลงบประมาณของชาติกลับมาเป็นบวกภายหลังวิกฤตการเงินโลก
อิงลิช เป็นอดีตเกษตรกรผู้มีใบปริญญาทั้งในด้านพาณิชยศาสตร์และวรรณคดี เส้นทางการเมืองของเขาเริ่มต้นจากการเป็น ส.ส.ในปี 1990 ก่อนจะก้าวมาเป็นผู้นำพรรคเนชันแนล ปาร์ตี ในปี 2002 ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งอย่างยับเยิน
“คุณจะได้เรียนรู้จากการแพ้ มากกว่าการชนะ” อิงลิช ซึ่งเตรียมตัวลงสู้เลือกตั้งในช่วงปลายปี 2017 เพื่อคว้าชัยชนะให้แก่พรรคเป็นสมัยที่ 4 ระบุ
เขาชี้ว่า ความเจริญรุ่งเรืองและเศรษฐกิจที่เติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3 แสดงให้เห็นว่านิวซีแลนด์ยังไม่มีมวลชนที่รู้สึกเบื่อหน่ายรัฐบาล ซึ่งได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “เบร็กซิต” ในอังกฤษ หรือชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐฯ
อิงลิชยืนยันด้วยว่า สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลของเขาจะทำก็คือ มอบโอกาสให้แก่พลเมืองที่ขัดสนที่สุด
“เรามีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และเรียกได้ว่าโดดเด่นที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ชาวนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่ย่อมคาดหวังที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้” เขากล่าว
อิงลิช ซึ่งเป็นชาวคริสต์คาทอลิกและมีบุตร-ธิดารวม 6 คน ถูกมองว่าจะเป็นผู้นำที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมมากกว่าคีย์ โดยเขาเคยออกมาต่อต้านกฎหมายการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันเมื่อปี 2013 รวมถึงคัดค้านการทำแท้ง และการทำการุณยฆาตให้แก่ผู้ป่วยหนักที่สมัครใจ
อย่างไรก็ดี เขายืนยันวันนี้ (12) ว่าความศรัทธาในคริสตศาสนานิกายคาทอลิก “อาจจะมีอิทธิพลต่อผมมากพอสมควร แต่ก็ไม่ใช่คำนิยามของตัวผม” และตนพร้อมที่จะสนับสนุนให้ชาวสีม่วงได้มีสิทธิจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย