รอยเตอร์/เอเอฟพี – วัยรุ่นอายุ 17 ปีผู้หนึ่งปลิดชีวิตตนเองด้วยความช่วยเหลือของแพทย์ไปแล้วในเบลเยียม ถือเป็นผู้เยาว์คนแรกที่กระทำการดังกล่าว ภายหลังมีการแก้ไขกฎหมายในปี 2014 ซึ่งเปิดทางอนุญาตให้กระทำการุณยฆาตแก่ประชาชนทุกช่วงอายุ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติพิจารณาเรื่องการุณยฆาตแถลงในวันเสาร์ (17 ก.ย.)
วิม ดิสเทลมานส์ ประธานคณะกรรมการควบคุมและประเมินผลว่าด้วยการุณยฆาตของรัฐบาลกลางเบลเยียม บอกกับรอยเตอร์ว่า ผู้เยาว์ผู้นี้อายุ 17 ปี และแพทย์ท้องถิ่นผู้หนึ่งได้ส่งกรณีของเขามาให้คณะกรรมการของเขาพิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เขาไม่ให้รายละเอียดอะไรอื่นๆ มากไปกว่านี้
เบลเยียมออกกฎหมายยอมรับให้กระทำการุณยฆาตอย่างถูกกฎหมายได้ตั้งแต่ปี 2002 และเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้แก้ไขกฎเกณฑ์ซึ่งอนุญาตให้ผู้เยาว์กระทำการฆ่าตัวตายภายใต้การช่วยเหลือของแพทย์ได้เช่นกัน เมื่ออยู่ในสถานการณ์ทางการแพทย์ที่หมดหวัง และได้รับความยินยอมจากผู้เยาว์คนนั้นอย่างชัดเจน
นับแต่นั้นมา ประเทศนี้ก็กลายเป็นชาติเดียวในโลกซึ่งยินยอมให้ผู้เยาว์ทุกช่วงอายุกระทำการุณยฆาตได้ ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเนเธอร์แลนด์นั้น การปฏิบัติในเรื่องเช่นนี้จะถือว่าถูกกฎหมายสำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
ดิสเทลมานส์กล่าวในคำแถลงผ่านทางอีเมล์ว่า กฎหมายเบลเยียมให้คำจำกัดความเรื่องการุณยฆาตเอาไว้อย่างเข้มงวดมาก ผู้เยาว์ต้องมีสติสัมปชัญญะ และสามารถกระทำการตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผลได้ในตอนที่พวกเขาขอฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือของแพทย์ ทั้งนี้ยังต้องผ่านการปรึกษาหารือกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ รวมทั้งต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองอีกด้วย
ขณะที่กฎหมายเรื่องนี้ของเบลเยียมระบุว่า ผู้เยาว์ผู้นั้นยังจะต้องอยู่ใน “สถานการณ์ทางการแพทย์ระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ โดยมีอาการเจ็บปวดทางกายภาพอยู่เรื่อยๆ และยากที่จะทนทาน ซึ่งไม่สามารถที่จะขจัดบรรเทาได้ และซึ่งจะเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้น”
ตอนที่มีการอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายนี้ พวกสมาชิกรัฐสภาเบลเยียมลงมติว่า ไม่ให้นำเอาเรื่องความเจ็บปวดทรมานทางจิตใจ บรรจุไว้ในรายการปัจจัยต่างๆ สำหรับการตัดสินวินิจฉัยอนุญาตให้ผู้เยาว์ทำการุณยฆาต ถึงแม้สำหรับผู้ใหญ่แล้ว ยินยอมให้คำนึงถึงเรื่องนี้ได้
การออกเสียงแก้ไขเมื่อปี 2014 คราวนั้น มีสมาชิกรัฐสภาลงมติเห็นชอบ 86 เสียง และคัดค้าน 44 เสียง ในประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกกันมาช้านาน
ขณะที่ผลโพลที่กระทำกันไม่กี่เดือนก่อนหน้าการโหวตวาระสุดท้ายของรัฐสภา บ่งบอกให้เห็นว่าชาวเบลเยียมถึงสามในสี่ เห็นด้วยให้ขยายการอนุญาตทำการุณยฆาตครอบคลุมไปถึงผู้เยาว์ด้วย
จาคเกอลีน เฮอร์เรมานส์ สมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการแห่งชาติพิจารณาเรื่องการุณยฆาต บอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ภายหลังมีการแก้ไขกฎหมายแล้ว ได้มีผู้เยาว์ยื่นขอฆ่าตัวตายด้วยความเมตตากรุณานี้อยู่หลายราย ทว่าไม่เคยมีกรณีไหนผ่านการพิจารณา จนกระทั่งรายผู้เยาว์วัย 17 ปีผู้นี้
ในช่วง 10 ปีนับจนถึงปี 2013 จำนวนกรณีการุณยฆาตในเบลเยียมได้เพิ่มสูงขึ้น จากประมาณ 1,000 ราย ขึ้นไปเป็น 8,752 ราย ทั้งนี้ตามตัวเลขข้อมูลของทางการ
นอกจากเบลเยียมแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศซึ่งมีกฎหมายอนุญาตให้กระทำการุณยฆาต ทว่ามีเนื้อหารายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่ โดยกฎหมายของเบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, โคลอมเบีย, และลักเซมเบิร์ก ยินยอมให้ผู้ใหญ่เลือกเสียชีวิตด้วยความเมตตากรุณาได้ ซึ่งปกติแล้วกระทำกันในรูปที่แพทย์เป็นผู้ฉีดยากดประสาท “บาร์บิทูเรต” ในปริมาณที่ทำให้ถึงตาย
ส่วนกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ล เยอรมนี, ญี่ปุ่น, และแคนาดา การฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือของแพทย์จะถือว่าถูกกฎหมาย เฉพาะกรณีที่บุคคลผู้นั้นกระทำการขั้นสุดท้ายด้วยตนเองเท่านั้น
นักกีฬาพาราลิมปิกเหรียญเงินยอมรับ กำลังคิดทำการุณยฆาต
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มารีเก เวอร์วูร์ต นักกีฬาพาราลิมปิกชาวเบลเยียม กล่าวระหว่างไปร่วมการแข่งขันในเมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ว่า เธอกำลังพิจารณาที่จะขอทำการุณยฆาต เพื่อหลบหนีจากชีวิตที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดทางกายภาพที่ทนรับไมไหว เพียงแต่ว่าในขณะนี้ยังไม่ได้สินใจอย่างแน่นอน
เวอร์วูร์ต ซึ่งชนะได้เหรียญเงินในการแข่งขันวีลแชร์หญิง 400 เมตร ในพาราลิมปิกเกมส์คราวนี้ ตัดทอนน้ำหนักของรายงานข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ ที่บอกว่าเธอวางแผนจะทำการุณยฆาตหลังเดินทางกลับจากบราซิล
“ดิฉันมีเอกสารต่างๆ (เกี่ยวกับการขอทำการุณยภาพ) ของดิฉันอยู่ในมือแล้ว แต่ดิฉันยังคงกำลังชื่นชอบทุกๆ ชั่วขณะทุกๆ ช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ อยู่ ถ้าเมื่อไหร่มาถึงช่วงเวลาที่ดิฉันมีวันอันเลวร้ายมากกว่าวันดีๆ แล้ว ดิฉันก็มีเอกสารการุณยฆาตของดิฉันอยู่แล้ว ทว่าเวลานั้นยังไม่ได้มาถึง” เธอกล่าวในการแถลงข่าวที่เมืองรีโอเดจาเนโร