รอยเตอร์/เอเอฟพี - โอเปก กลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก เห็นพ้องกันเมื่อวันพุธ (30 พ.ย.) ปรับลดการผลิตเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี เพื่อจัดการกับภาวะอุปทานล้นตลาดที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปีและกัดเซาะราคาน้ำมันลงกว่าครึ่ง
ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีพลังงานกาตาร์ในฐานะประธานโอเปกระบุว่า ทางกลุ่มจะปรับลดกำลังผลิตรายเดือนลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือ 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป เป็นเวลา 6 เดือน โดยมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายลดภาวะอุปทานล้นตลาดที่ทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำ
ที่ประชุมเห็นชอบลดกำลังผลิตลงขั้นต่ำสุดของข้อตกลงเบื้องต้นที่เห็นชอบกันในแอลจีเรียเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเป็นการลดกำลังผลิตลงจากระดับปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 33.64 ล้านบาร์เรล
โมฮัมเหมด บิน ซาเลห์ อัล-ซาดา รัฐมนตรีพลังงานกาตาร์ ระบุว่า “นี่คือก้าวย่างสำคัญ และเราคิดว่านี่คือข้อตกลงประวัติศาสตร์ ซึ่งจะช่วยคืนสมดุลแก่ตลาดและลดสต๊อกสำรองส่วนเกิน” เขากล่าว พร้อมระบุว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยเร่งอัตราเงินเฟ้อโลกให้สู่ระดับที่แข็งแกร่งขึ้น ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ
มติดังกล่าวเป็นการเห็นชอบข้อตกลงเบื้องต้นที่เห็นพ้องกันเมื่อเดือนกันยายน โดยคราวนั้นโอเปกตกลงที่จะลดกำลังผลิต แต่บอกว่าจะคุยในรายละเอียดกันภายหลัง
การเจรจาในรายละเอียดถูกลากเข้าสู่เกมเดิมพัน ระหว่าง 3 ชาติผู้ผลิตรายใหญ่ของโอเปก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย อิรัก และอิหร่าน ว่าใครควรแบกรับความรับผิดชอบมากที่สุด
อิรักบอกว่าไม่ต้องการผลิตน้ำมันน้อยลงเพราะไม่มีเงินสำหรับสู้รบกับพวกรัฐอิสลาม (ไอเอส) ขณะเดียวกันก็ยังโต้แย้งเกี่ยวกับกำลังผลิตของตนเอง ส่วนอิหร่าน ซึ่่งเพิ่งสามารถส่งออกน้ำมันได้อย่างเสรีจากข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม บอกว่าต้องการคืนกำลังผลิตสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนหน้าโดนคว่ำบาตร แม้ว่าซาอุดีอาระเบียพร้อมรับผิดชอบปรับลดกำลังผลิตมากกว่าใครก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว อิรัก ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดลำดับ 2 ของโอเปก ที่ก่อนหน้านี้เคยอึกอักที่จะลดกำลังผลิตจนเป็นอุปสรรคขัดขวางข้อตกลง ยินยอมที่จะลดกำลังผลิตลง 200,000 บาร์เรลต่อวัน เหลือ 4.351 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ประเด็นพิพาทระหว่างเตหะรานกับริยาดต้องเผชิญกับปัญหาทับซ้อนขึ้นมา เมื่อชีอะห์ อิหร่าน และสุหนี่ซาอุดีอาระเบีย ให้การสนับสนุนคนละฟากฝั่งในสงครามเยเมนและซีเรีย
ต่อจากนี้เป้าสนใจจะพุ่งไปที่ความพยายามของโอเปก ในการโน้มน้าวให้สมาชิกนอกโอเปกลดกำลังผลิตเช่นกัน โดยคาดหวังไว้ที่ 600,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ โอเปกมีกำหนดพบปะกับกลุ่มผู้ผลิตที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เพื่อหารือขอแรงสนับสนุนลดกำลังผลิตในวันที่ 9 ธันวาคม
รัฐมนตรีพลังงานกาตาร์เผยว่า พวกชาตินอกสมาชิกโอเปกหลักๆ รับปากในเบื้องต้นยอมลดกำลังผลิต 600,000 บาร์เรลต่อวัน โดยรัสเซียให้สัญญาลดกำลังผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งในเวลาต่อมารัฐมนตรีพลังงานมอสโกก็ยืนยันตามนั้น
ในขณะที่ผู้บริโภคอาจไม่ยินดีกับข้อตกลงนี้ที่จะทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น แต่การเงินการคลังของสมาชิกโอเปกคงจะดีขึ้นเล็กน้อย หลังเจ็บปวดกับราคาน้ำมันที่ตกต่ำมานาน 2 ปี