xs
xsm
sm
md
lg

ราคาน้ำมันโลก “อ่อนแรง” หลังพุ่งพรวดถึง 6% จากข่าว “โอเปก” ตกลงลดปริมาณผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i> โมฮัมเหม็ด บิน ซาเลห์  อัล-ซาดา รัฐมนตรีพลังงานของกาตาร์และประธานคนปัจจุบันของโอเปก แถลงข่าวที่กรุงแอลเจียร์ ภายหลังการประชุมโอเปกอย่างไม่เป็นทางการในวันพุธ (28 ก.ย.) ซึ่งเห็นพ้องกันว่าจะลดการผลิตน้ำมันดิบของบรรดารัฐสมาชิกโอเปกลงมาประมาณ 750,000 บาร์เรลต่อวัน </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ราคาน้ำมันตลาดโลกที่กระโจนขึ้นพรวด สืบเนื่องจากรายงานข่าวที่ว่าองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) สามารถทำข้อตกลงตัดลดการผลิตกันได้ กลับอ่อนแรงแห้งเหี่ยวลงเสียแล้วในวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) ขณะเดียวกับที่พวกนักวิเคราะห์ต่างแสดงความสงสัยข้องใจความสามารถของกลุ่มนี้ ที่จะแก้ไขคลี่คลายภาวะซัปพลายน้ำมันล้นเกินได้อย่างหนักแน่นจริงจัง

ภายหลังการพบปะประชุมกันโดยที่มีรัสเซีย ชาติผู้ผลิตนอกโอเปกรายสำคัญเข้าร่วมด้วยนั้น องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันก็แถลงข่าวช็อกตลาดเมื่อวันพุธ (28) ว่า พวกตนเห็นพ้องต้องกันในแผนการลดกำลังการผลิตลงมาราว 750,000 บาร์เรลต่อวัน

การหารือคราวนี้มีขึ้นข้างเคียงการประชุม “เวทีอภิปรายด้านพลังงานระหว่างประเทศ” (International Energy Forum) ที่กรุงแอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรีย ขณะที่พวกผู้ผลิตน้ำมันของโลกต่างพยายามแสวงหาหนทางในการดันราคาให้สูงขึ้น ภายหลังที่ดำดิ่งลงมาจากระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2014 จนอยู่เกือบ ๆ ขีดต่ำสุดรอบ 13 ปีที่ระดับไม่ถึง 30 ดอลลาร์ในตอนเริ่มต้นปี 2016 ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่สุดมาจากภาวะซัปพลายล้นเกินท่วมท้นตลาด

ตามคำแถลงของ โมฮัมเหม็ด บิน ซาเลห์ อัล-ซาดา รัฐมนตรีพลังงานของกาตาร์ และประธานคนปัจจุบันของโอเปก ข้อตกลงโดยสรุปคราวนี้จะจำกัดผลผลิตจากบรรดาชาติโอเปกลงมาให้อยู่ระหว่าง 32.5 ล้าน ถึง 33 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับปัจจุบันซึ่งประมาณการกันว่าอยู่ที่ 33.2 ล้านบาร์เรล

ทว่า รายละเอียดที่แต่ละชาติจะได้รับโควตาผลิตแค่ไหนและต้องลดการผลิตกันเท่าใดนั้น ที่ประชุมตกลงให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อกำหนดเรื่องนี้ แล้วมาหารือกันให้ชัดเจนแน่นอนในการประชุมอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีน้ำโอเปกที่กรุงเวียนนา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์การ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้ยังจะจัดการหารือกับพวกประเทศผู้ผลิตนอกโอเปกอีกด้วย รวมทั้งรัสเซีย ซึ่งเวลานี้เป็นผู้สูบน้ำมันดิบออกมามากเป็นอันดับ 2 ของโลก

พวกนักวิเคราะห์อย่างเช่น อเล็กซ์ เฟอร์เบอร์ แห่ง ซีเอ็มซี มาร์เกตส์ ให้ความเห็นว่า เวลานี้ตลาดจะต้องจับตามองว่าพวกผู้ผลิตนอกตลาด อย่างเช่น รัสเซีย, สหรัฐฯ และแคนาดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย จะตัดลดการผลิตของพวกตนลงด้วยหรือไม่
<i>บรรยากาศปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถานในวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) ทั้งนี้ราคาน้ำมันพุ่งแรงทีเดียว ภายหลังข่าวโอเปกตกลงกันจะลดการผลิตลง  ทว่าไม่นานหลังจากนั้นราคาก็กลับอ่อนตัวลง ด้วยความไม่มั่นใจว่าพวกชาติผู้ผลิตทั้งหลายจะสามารถแก้ไขภาวะซัปพลายน้ำมันล้นตลาดได้จริงๆ </i>
ขณะเดียวกัน พวกนักวิเคราะห์ยังเห็นกันว่า ข้อตกลงที่แอลเจียร์เกิดขึ้นได้ หลังจากซาอุดีอาระเบีย ผู้เป็นพี่เบิ้มของโอเปก ยินยอมให้อิหร่าน คู่แข่งผู้ต่อสู้กันมาอย่างขมขื่นของตน ได้รับยกเว้นจากแผนตัดลดการผลิตคราวนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเตหะรานอยู่ระหว่างฟื้นเพิ่มผลผลิตภายหลังถูกนานาชาติแซงก์ชันคว่ำบาตรไม่ให้ส่งออกน้ำมันอยู่เป็นเวลาหลายปี

การประกาศลดการผลิตอย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกในรอบ 8 ปี ของโอเปกคราวนี้ ส่งผลผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งพรวดขึ้นไปราว 6% ในวันพุธ (28) ส่วนพวกบริษัทพลังงานทั่วโลกก็ได้เห็นราคาหุ้นของพวกตนวิ่งฉิวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ราคาหุ้นของพวกบริษัทพลังงานดูเหมือนจะมีความเข้มแข็ง ราคาน้ำมันดิบกลับอ่อนแอหมดแรงอย่างรวดเร็ว โดย ณ เวลาประมาณ 09.15 น.วันพฤหัสบดี (29) ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับราว 16.15 น. เวลาเมืองไทย) มาตรวัดราคาน้ำมันของสหรัฐฯ ซึ่งได้แก่ สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต เพื่อการส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ได้ลดต่ำลงมา 34 เซ็นต์ อยู่ที่ 46.71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนต์ มาตรวัดราคาน้ำมันแถบทะเลเหนือของอังกฤษ ก็ตกลงมา 45 เซ็นต์ อยู่ที่ 48.24 บาร์เรล เมื่อเทียบกับราคาปิดในวันพุธ (28)

กำลังโหลดความคิดเห็น