xs
xsm
sm
md
lg

คิวบาเริ่มไว้อาลัย “คาสโตร” 9 วัน นักศึกษาตะโกนคำขวัญ ‘ฟิเดลจงเจริญ’ ผู้นำโลกมีทั้งสรรเสริญและประณาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>นักศึกษาจุดเทียนไว้อาลัย ฟิเดล คาสโตร ผู้นำการปฏิวัติคิวบา ที่มหาวิทยาลัยฮาวานา ในกรุงฮาวานา, คิวบา วันเสาร์ (26 พ.ย.) ที่ผ่านมา </i>
รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - กลุ่มนักศึกษาชาวคิวบาออกมาโบกธงและตะโกนพร้อมๆ กันว่า “เราคือฟิเดล” เมื่อวันเสาร์ (26 พ.ย.) เพื่อสดุดีผู้นำนักปฏิวัติ “ฟิเดล คาสโตร” ขณะที่ช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัย 9 วันเริ่มต้นขึ้นสำหรับบุรุษผู้ซึ่งครอบงำชีวิตทางการเมืองของประเทศคอมมิวนิสต์แห่งนี้ และหาญทายท้ามหาจักรวรรดิสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน

สุราเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกระงับการจำหน่ายลงชั่วคราว ธงชาติถูกลดลงมาอยู่ในตำแหน่งครึ่งเสา และการแสดงตลอดจนคอนเสิร์ตต่างๆ ถูกระงับไปก่อน หลังจากน้องชายแท้ๆ และทายาทผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเขานั่นคือ ประธานาธิบดีราอูล คาสโตร ออกมาแถลงต่อประชาชนทั่วประเทศในตอนดึกคืนวันศุกร์ (25) ว่า ฟิเดลได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้วเมื่อเวลา 22.29 น. โดยมิได้บอกถึงสาเหตุแห่งการเสียชีวิต

ร่างของฟิเดล คาสโตร ได้รับการณาปนกิจไปแล้วในวันเสาร์ (26) ขณะที่อังคารและกระดูกของเขาจะถูกนำไปแห่ทั่วทั้งประเทศคิวบาเป็นเวลา 4 วัน จนกระทั่งถึงวันประกอบพิธีศพอย่างเป็นรัฐพิธีในวันอาทิตย์ที่ 4 ธ.ค. พวกเจ้าหน้าที่ทางการทูตฝ่ายตะวันตกระบุว่า บรรดาผู้มีเกียรติชาวต่างประเทศจะเดินทางมาที่เมืองหลวงฮาวานาในวันอังคาร (29) เพื่อเข้าร่วมพิธีไว้อาลัยซึ่งกำหนดจัดขึ้นในจัตุรัสการปฏิวัติ (Revolution Square) ค่ำวันนั้น

สหพันธ์แห่งชาติของกีฬาเบสบอล ซึ่งเป็นความชื่นชอบโปรดปรานของคาสโตรถัดลงมาจากการเมือง แถลงว่าในช่วงเวลาไว้อาลัย 9 วันจะไม่มีการแข่งขันเบสบอลในระดับสูงสุดใดๆ

สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของคิวบา สมาคมต่างๆ ของนักศึกษา และสหพันธ์สตรี ต่างพากันจัดการชุมนุมขนาดย่อมๆ เพื่อแสดงความไว้อาลัยฟิเดล คาสโตร และให้คำมั่นสัญญาว่าจะยึดมั่นสนับสนุนการปฏิวัติของคิวบา

ขณะที่การชุมนุมขนาดยักษ์ใหญ่มโหฬาร มีการวางแผนจัดขึ้นที่จัตุรัสการปฏิวัติ (Revolution Square) ในเมืองหลวงฮาวานา และในเมืองซานติอาโก เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศที่อยู่ทางภาคตะวันออกของคิวบา เพื่อยกย่องสดุดีคาสโตร ผู้ซึ่งมีอายุ 90 ปีขณะถึงแก่อสัญกรรม และ 6 ทศวรรษภายหลังจากเขากับน้องชายพร้อมนักปฏิวัติหยิบมือหนึ่ง แอบเดินทางออกมาจากเม็กซิโก เพื่อทำสงครามจรยุทธ์โค่นล้ม ฟุลเกนซิโอ บาติสตา จอมเผด็จการของคิวบาซึ่งสหรัฐฯหนุนหลัง
<i>ธงชาติคิวบาถูกลดลงมาครึ่งเสา ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของอดีตประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร ณ จัตุรัสการปฏิวัติ ในกรุงฮาวานา เมื่อวันเสาร์ (26 พ.ย.) </i>
<i>ผู้คนพากันร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน ภายหลังทราบข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของอดีตประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร ของคิวบา ณ ย่านชุมชนผู้ลี้ภัยชาวคิวบา ในเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันเสาร์ (26 พ.ย.) </i>
หนังสือพิมพ์ของประเทศเกาะแห่งนี้ที่มีประชากร 11 ล้านคน พากันตีพิมพ์ด้วยสีขาวดำเพื่อไว้อาลัยฟิเดล แทนที่สีแดงซึ่ง “แกรนมา” หนังสือพิมพ์รายวันอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาใช้อยู่เป็นประจำ หรือสีฟ้าของ “จูเวนตุด เรเบลเด” (เยาวชนกบฏ) หนังสือพิมพ์ขององค์การเยาวชนคอมมิวนิสต์

ตามท้องถนนในเมืองหลวงของคิวบา ไม่ได้มีทหารหรือตำรวจออกมาปรากฏตัวให้เห็นมากมายเป็นพิเศษใดๆ เพื่อเป็นหลักหมายแห่งการจากไปของผู้นำนักปฏิวัติคนสำคัญแห่งยุคสมัยผู้นี้ ขณะที่ ณ มหาวิทยาลัยฮาวานา สถาบันการศึกษาเก่าของคาสโตร นักศึกษาหลายร้อยคนชุมนุมกันและโบกธงชาติคิวบาขนาดยักษ์หลายผืน พร้อมกับตะโกนว่า “วิวา ฟิเดล , วิวา ราอูล” (ฟิเดล จงเจริญ, ราอูล จงเจริญ)

“ฟิเดลยังไม่ตายเพราะประชาชนคือฟิเดล” ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งซึ่งนุ่งกางเกงยีนส์และสวมเสื้อยืดสีขาวร้องตะโกน “เราคือฟิเดล” เขาตะโกนต่อและได้รับการขานรับอย่างรวดเร็วจากผู้ชุมนุม

“ฟิเดลทำให้คิวบาปรากฏอยู่บนแผนที่ และทำให้คิวบากลายเป็นตัวอย่างหนึ่งสำหรับประชาชนของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนและคนไร้สิทธิไร้เสียง” ราอูล อเลจานโดร ปัลเมรอส นักศึกษาอีกผู้หนึ่งกล่าว

คาสโตรศึกษาวิชานิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ในช่วงปลายทศวรรษ 1940 ถึงต้นทศวรรษ 1950 เมื่อตอนที่สถาบันการศึกษาแห่งนี้คือแหล่งบ่มเพาะการเมืองแบบฝ่ายซ้าย เป็นการเตรียมตัวสำหรับเขาบนเส้นทางซึ่งนำไปสู่การทำสงครามปฏิวัติโค่นล้มบาติสตาลงในปี 1959

นอกเหนือจากพวกนักศึกษาที่ชุมนุมตะโกนคำปลุกใจแล้ว ชีวิตของฮาวานาส่วนใหญ่ก็ดำเนินไปตามปกติ เพียงแต่กว่าเงียบเชียบลงมาภายหลังข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของคาสโตร พ่อค้าแม่ขายตามถนนยังคงขายอาหารและสินค้าเครื่องหัตถกรรมจากแผงให้แก่ผู้เดินผ่านไปมา ขณะที่พวกรถเชฟโรเลตส์รุ่นทศวรรษ 1950 ที่เต็มไปด้วยรอยผุสึกกร่อนและได้รับการซ่อมแซมแบบขอไปทีเพื่อให้เครื่องเคราต่างๆ ยังคงยึดเอาไว้ด้วยกัน ก็แออัดไปด้วยผู้โดยสาร

“ปกติแล้วภัตตาคารของเรามีแขกเต็ม แต่วันนี้มีแค่นักท่องเที่ยวที่มากัน อาจจะมีคนคิวบาสักสองสามคน ปกติแล้วมันจะตรงกันข้ามจากนี้ ดูเหมือนว่าชาวคิวบาจะกลับมารู้สึกสนุกกับการทำให้ตัวเองมีความสุขกันใหม่อีกในเร็วๆ นี้หลังจากฟิเดลจากไป” ราอูล ตามาโย พนักงานเฝ้าประตูของ ลา โรกา ภัตตาคารยอดนิยมแห่งหนึ่งใยย่านใจกลางกรุงฮาวานา กล่าว
<i>สมาชิกของกลุ่มการเมือง “รีเบล ยูธ” ของฮอนดูรัส ไว้อาลัย ฟิเดล คาสโตร ผู้นำการปฏิวัติของคิวบา ระหว่างที่พวกเขาไปชุมนุมกัน ณ จัตรุสมาร์ตี ในกรุงเตกูซิกัลปา เมื่อวันเสาร์ (26 พ.ย.) </i>
<i>กลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีนิโกลาส์ มาดูโร ของเวเนซุเอลา โบกธงชาติคิวบาและถือรูปภาพของอดีตผู้นำคิวบา ฟิเดล คาสโตร ระหว่างพิธีไว้อาลัยผู้นำการปฏิวัติของคิวบาผู้นี้ ณ กรุงการากัส  ประเทศเวเนซุเอลา ในวันเสาร์ (26 พ.ย.) </i>
กระนั้นก็ตาม ในวันเสาร์ (26) ยังคงเป็นวันแห่งการหวนรำลึกตรึกตรอง

“สำหรับผมแล้ว แม่ผมคืออันดับแรก, ลูกๆ ของผม, พ่อผม, จากนั้นก็คือฟิเดล” ราฟาเอล อูร์เบย์ วัย 60 ปีผู้ซึ่งมีบุตร 5 คนกล่าว ขณะดูแลร้านภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลแห่งหนึ่งในย่านใจกลางกรุงฮาวานา ย้อนเล่าความหลังสมัยที่เขายังเยาว์วัยและใช้ชีวิตอยู่บนเกาะห่างไกลและไม่มีน้ำดื่มแห่งหนึ่ง ห่างออกไปจากตัวเกาะใหญ่ของคิวบา

“เรายากจนกันเหลือเกิน เราน่าสมเพชเหลือเกิน” เขากล่าว “แล้วฟิเดลกับการปฏิวัติก็เข้ามา เขาให้ความเป็นมนุษย์แก่ผม ผมเป็นหนี้เขาทุกสิ่งทุกอย่าง”

ภายหลังคาสโตรทำการปฏิวัติได้สำเร็จ ความขัดแย้งทางการทูตอย่างขมขื่นกับสหรัฐฯก็ติดตามมา และคิวบากลายเป็นพันธมิตรผู้หนักแน่นมั่นคงรายหนึ่งของสหภาพโซเวียตไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาขึ้นในปี 1962

แต่ถึงแม้ต้องผ่านเวลานานปีแห่งความขัดแย้งตึงเครียดทางด้านอุดมการณ์ รวมทั้งเผชิญความยากลำบากมากขึ้นทุกทีภายใต้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คิวบาของคาสโตรก็ยังคงมีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องมาตรฐานการศึกษาที่อยู่ในระดับสูง และแพทย์ที่อยู่ในระดับโลก

“สิ่งที่ฟิเดลทำในเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขแบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั้น ผงาดล้ำขึ้นมาในเวทีโลก มันโดดเด่นจริงๆ” เรเนา เปเรซ วัย 78 ปี นักบัญชีเกษียณอายุและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์กล่าว “มันเป็นมรดกสำคัญที่สุดของเขา”

คาสโตรซึ่งไว้หนวดเครา และเป็นคนตัวสูงกว่า 6 ฟุต (1.8 เมตร) เป็นที่รู้จักคุ้นเคยมานานปีในภาพของป้อมปราการแห่งการต่อต้านสหรัฐอเมริกาในเชิงอุดมการณ์ ผู้ซึ่งชอบคาบซิการ์ และแต่งกายในชุดทหารลายพรางพร้อมหมวกแก๊ปสีเขียว

ทว่าบุรุษผู้ซึ่งเป็นที่เรียกขานกันในคิวบามานานว่า “ผู้นำสูงสุด” (Maximo Lider) ผู้นี้ ได้ห่างหายไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสาธารณชนภายหลังล้มป่วยลงด้วยโรคลำไส้ที่แทบคร่าเอาชีวิตของเขาไปในปี 2006

กระนั้น หลังจากส่งมอบอำนาจอย่างเป็นทางการให้ราอูลในปี 2008 แล้ว เขาก็ยังคงมีอิทธิพลบารมีอย่างสูงในประเทศเกาะแห่งนี้ และคอยเฝ้าเตือนอยู่เป็นประจำให้ประชาชนชาวคิวบาระมัดระวังความหายนะจากการยอมจำนนต่อจักรวรรดินิยมอเมริกัน
<i>ผู้คนถือดอกไม้ยืนอยู่หน้าภาพของ ฟิเดล คาสโตร ผู้นำการปฏิวัติคิวบา ที่สถานเอกอัครราชทูตคิวบาประจำกรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เมื่อวันเสาร์ (26 พ.ย.) </i>
ความตายของคาสโตรในสายตาผู้นำโลก

ฟิเดล คาสโตร มีทั้งคนที่ชื่นชมเทิดทูนและคนที่ประณามชิงชังตั้งแต่ขณะที่เขามีชีวิตอยู่ และอสัญกรรมของเขาก็ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่อยู่ในลักษณะแตกขั้วอย่างแรงจากทั่วโลก

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยกย่องเขาว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งยุคสมัย” ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก็บอกว่า “สหายคาสโตรจะมีชีวิตอยู่ไปตลอดกาล”

ทว่าที่เมืองไมอามี, สหรัฐฯ อันเป็นที่ตั้งของชุมชนใหญ่ที่สุดของผู้ที่หลบหนีลี้ภัยจากการปกครองของคาสโตร ฝูงชนที่อยู่ในอารมณ์ปีติยินดีพากันเฉลิมฉลองกันอย่างดังสนั่น

มีความผิดแผกแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างปฏิกิริยาของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้ที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง และว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

โอบามาผู้ดำเนินการรอมชอมครั้งประวัติศาสตร์ด้วยการฟื้นคืนความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบาในปี 2014 แถลงว่า สหรัฐฯยื่น “มือแห่งมิตรภาพ” ไปถึงประชาชนชาวคิวบา ถึงแม้เขากล่าวด้วยว่า “ประวัติศาสตร์จะบันทึกและตัดสินผลกระทบอันมากมายมหาศาลของบุคคลหนึ่งเดียวผู้นี้ที่มีต่อประชาชนและโลกรอบๆ ตัวเขา”

ทว่าทรัมป์เรียกคาสโตรว่าเป็น “จอมเผด็จการผู้โหดเหี้ยมซึ่งได้กดขี่ประชาชนของเขาเองเป็นเวลาเกือบ 6 ทศวรรษ” และ “มรดกของฟิเดล คาสโตร คือ ทีมประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า, โจรปล้นทรัพย์, ความทุกข์ทรมานอย่างไม่สามารถจินตนาการได้, ความยากจน และการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน”

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯกับคิวบาซึ่งรื้อฟื้นกันขึ้นมาในเดือนธันวาคม 2014 ดูไม่มีความแน่นอนภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ในระหว่างการหาเสียง เขาเคยข่มขู่ที่จะตัดความสัมพันธ์นี้ ถ้าหากคิวบาไม่ยินยอมให้ประชาชนมีสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นมากๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น