xs
xsm
sm
md
lg

“สหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์” เห็นพ้องลดฝึกซ้อมทางทหารร่วม-ให้ทหารมะกันประจำการน้อยลงกว่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - กองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ เห็นพ้องให้มีการปรับลดภารกิจฝึกซ้อมทางทหารร่วม และจะลดจำนวนทหารอเมริกันที่ประจำการในแดนตากาล็อก แม้ว่าทั้งสองฝ่ายยังยืนยันใน “ความร่วมมือที่ใกล้ชิด” อยู่ก็ตาม

คำแถลงร่วมของมะนิลาและวอชิงตันไม่ได้เอ่ยถึงการลดระดับกิจกรรมทางทหาร แม้ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต จะแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีทหารต่างชาติอยู่บนแผ่นดินฟิลิปปินส์ และเคยขู่จะยกเลิกการซ้อมรบและข้อตกลงด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ ด้วย

พลจัตวา เรสติตูโต ปาดิลลา โฆษกกองทัพฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้อ่านคำแถลงร่วม ระบุว่า กองทัพทั้ง 2 ชาติจะยังคง “ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ” เช่น ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การบรรเทาภัยพิบัติ การต่อต้านลัทธิก่อการร้าย และความมั่นคงทางทะเล

อย่างไรก็ตาม ทหารยศนายพลผู้หนึ่งซึ่งมีส่วนร่วมในการเจรจากลับออกมาเผยว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะลดขนาดและความถี่ในการซ้อมรบ รวมถึงทหารอเมริกันที่จะเข้าร่วมในภารกิจเหล่านี้ด้วย

“เราทั้งสองชาติจะเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การตอบสนองภัยพิบัติ และการอบรมฝึกซ้อมที่ไม่ใช่แบบแผนดั้งเดิม” นายพลผู้ไม่ประสงค์ออกนามระบุ

นับจากนี้ไปกองกำลังสหรัฐฯ ที่เข้ามาปฏิบัติภารกิจในฟิลิปปินส์จะมีจำนวน “น้อย” ลงกว่าเดิม ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ส่งทหารมาร่วมซ้อมรบกับฟิลิปปินส์ครั้งละประมาณ 5,000 นาย

นายพลคนเดิมกล่าวเสริมว่า กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้กองทัพลดขนาดและความถี่ในการซ้อมรบร่วมกับอเมริกา โดยเน้น “บรรเทาภัยพิบัติ” เป็นหลัก ส่วนการฝึกยกพลขึ้นบกและการโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบกนั้นให้ยกเลิกเสีย ขณะที่การส่งทหารอเมริกันเข้ามาผลัดเปลี่ยนประจำการในฟิลิปปินส์ตามข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือด้านกลาโหม (Enhanced Defence Cooperation Agreement - EDCA) ที่ทำไว้เมื่อปี 2014 จะยังเดินหน้าต่อไปได้

“แต่นั่นหมายความว่า จำนวนเครื่องบินและทหารที่จะเข้ามาผลัดเปลี่ยนในฐานทัพต่างๆ ของเราก็ต้องลดลงด้วยเช่นกัน” เขากล่าว

แกรี รอสส์ โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยอมรับว่า กองทัพได้ตกลงกับฟิลิปปินส์ว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซ้อมรบให้เน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตอบสนองภัยพิบัติ และต่อต้านก่อการร้าย โดยอาจจะเชิญหุ้นส่วนชาติอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม “เพื่อส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคี”

รอสส์ระบุด้วยว่า ทั้งสองชาติเห็นพ้องให้ EDCA มีผลบังคับต่อไป เนื่องจากเป็นความร่วมมือที่ทั้งสองชาติได้ประโยชน์ และช่วยเสริมสร้างกองทัพฟิลิปปินส์ให้มีความทันสมัย

ผู้นำขาโหดของฟิลิปปินส์ได้กล่าวกับบรรดานักธุรกิจที่กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนที่แล้วว่า รัฐบาลของเขาต้องการ “แยกทาง” กับสหรัฐฯ แต่ก็ออกมาถอนคำพูดในอีกไม่กี่วันต่อมา

ดูเตอร์เต ซึ่งมีโอกาสพบกับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียเป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ (19) ขณะไปร่วมประชุมซัมมิตความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่เปรู ได้วิจารณ์สหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรว่าเป็นพวก “หน้าไหว้หลังหลอก” และชอบข่มขู่

กำลังโหลดความคิดเห็น