รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ประกาศจะลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อรั้งเก้าอี้ผู้นำเมืองเบียร์เป็นสมัยที่ 4 ในปีหน้า ซึ่งถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงเสถียรภาพ หลังจากที่โลกตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายจากการที่อังกฤษลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) และ โดนัลด์ ทรัมป์ จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่
แมร์เคิล วัย 62 ปี ซึ่งถูกกระแสสังคมติเตียนอย่างรุนแรงที่ใช้นโยบายเปิดพรมแดนรับผู้อพยพเข้าประเทศ ยอมรับว่าเธอ “คิดหนักและนาน” ก่อนตัดสินใจลงเลือกตั้งอีกครั้งในเดือน ก.ย.ปีหน้า ซึ่งเป็นการยืนยันสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายได้คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าหลายเดือนแล้ว
“หลังจากทำงานมานานถึง 11 ปี การที่ดิฉันตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 ก็เพื่อประเทศชาติ เพื่อพรรค และเพื่อตัวดิฉันเองด้วย” เธอให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) ด้วยน้ำเสียงเคร่งขรึม หลังประชุมร่วมกับแกนนำระดับสูงของพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (ซีดียู)
“การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อหาเสียงเท่านั้น แต่เพื่ออนาคตในอีก 4 ปีข้างหน้า หากสุขภาพยังเอื้ออำนวย”
ผลสำรวจเอ็มนิดโพลเมื่อวันอาทิตย์ (20) พบว่า ชาวเยอรมันร้อยละ 55 ยังต้องการให้ แมร์เคิล ปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศต่อไปเป็นสมัยที่ 4 ขณะที่ร้อยละ 39 คัดค้าน ซึ่งก็หมายความว่าแม้จะสูญเสียคะแนนนิยมไปบ้าง แต่ แมร์เคิล ก็ยังมีโอกาสที่จะชนะ
ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของเยอรมนีในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แมร์เคิล เป็นผู้กุมบังเหียนนำประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่โตที่สุดในยุโรปผ่านพ้นวิกฤตการเงินและหนี้สินยูโซนจนได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ เธอยังมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขความขัดแย้งในยูเครน และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ก็ได้ยกย่อง แมร์เคิล ว่าเป็นพันธมิตรที่ “โดดเด่น” ของอเมริกา
การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยในศึกเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ บวกกับกระแสนิยมพรรคการเมืองขวาจัดที่กำลังมาแรงในยุโรป นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า แมร์เคิล เป็นปราการสำคัญที่จะช่วยปกป้องค่านิยมเสรีของตะวันตกเอาไว้
“อังเกลา แมร์เคิล คือคำตอบของประชานิยมในเวลานี้ เธอยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับทรัมป์ เช่นเดียวกับที่เคยเป็นมาตลอด” สตานิสลอว์ ทิลลิค นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐแซกโซนี บอกกับหนังสือพิมพ์อาร์เอ็นดี พร้อมระบุว่า แมร์เคิล เป็นผู้นำที่สามารถเชื่อถือและคาดเดาได้
อย่างไรก็ดี แมร์เคิลปฏิเสธที่จะแบกรับภาระที่ถูกผลักให้แก่เธอ หลังจากที่ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งในสหรัฐฯ
“คนเพียงคนเดียว ต่อให้มีประสบการณ์มากมายแค่ไหน ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในเยอรมนี ยุโรป หรือทั่วโลกให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้ และแน่นอนว่านายกรัฐมนตรีเยอรมนีก็ทำเช่นนั้นไม่ได้” แมร์เคิล กล่าว
คำสั่งเปิดพรมแดนของแมร์เคิล ทำให้ผู้อพยพราว 900,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยสงครามจากตะวันออกกลางหลั่งไหลเข้าสู่เยอรมนีเมื่อปีที่แล้ว สร้างความไม่พอใจต่อคนท้องถิ่น และส่งผลให้คะแนนนิยมของเธอดิ่งรูด ในขณะที่ประชาชนต่างหันไปเทคะแนนหนุนพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านผู้อพยพ
หลังจากที่พรรคซีดียูพ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์ในศึกเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเบอร์ลินเมื่อเดือน ก.ย. แมร์เคิล ได้ออกมาพูดว่า เธออยากจะ “ย้อนเวลา” กลับไปตัดสินใจเรื่องผู้อพยพอีกครั้ง แต่ไม่ได้ยอมรับตรงๆ ว่าทำ “ผิดพลาด”