xs
xsm
sm
md
lg

ชาวฮังการีโหวต “ไม่รับ” โควตาผู้อพยพ EU แต่คนใช้สิทธิน้อยจนอาจเป็น “โมฆะ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี
รอยเตอร์ - ชาวฮังการีลงประชามติไม่ยอมรับโควตาผู้อพยพที่สหภาพยุโรปกำหนด (อียู) ขึ้น ด้วยคะแนนโหวตเกือบ 100% เมื่อวานนี้ (2 ต.ค.) ทว่าจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธินั้นน้อยจนประชามติอาจต้องเป็นโมฆะ

ชัยชนะแบบไม่เด็ดขาดเช่นนี้สร้างความลำบากใจแก่นายกรัฐมนตรี วิกเตอร์ ออร์บาน ซึ่งหวังจะท้าทายบรัสเซลส์ด้วยคะแนน “โหวตโน” อย่างท่วมท้น อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่าฝ่ายกำหนดนโยบายของอียูไม่ควรมองข้ามผลประชามติซึ่งสะท้อนความปรารถนาที่ “ชัดเจน” ของชาวฮังการี

แม้นโยบายต่อต้านผู้อพยพของ ออร์บาน จะเรียกเสียงประณามจากบรรดานักสิทธิมนุษยชน แต่เขากลับได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนในประเทศ

ออร์บาน ชี้ว่า ชาวฮังการีที่ไม่เห็นด้วยกับโควตาผู้อพยพนั้นมีมากกว่าจำนวนผู้ที่โหวตสนับสนุนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อปี 2004 เสียอีก

ประชามติว่าด้วยการเป็นสมาชิกอียูซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2003 มีชาวฮังการีโหวตสนับสนุนเพียง 3.056 ล้านเสียง ขณะที่ประชามติว่าด้วยโควตาผู้อพยพมีผู้คัดค้านมากถึง 3.249 ล้านเสียง

“เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ชาวฮังการีส่วนใหญ่ได้ลงประชามติว่าจะเข้าร่วมกับสหภาพยุโรป วันนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราได้ออกเสียงเกี่ยวกับปัญหาของยุโรป” ออร์บาน กล่าวในงานแถลงข่าวซึ่งไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม

“ผลที่ออกมาถือว่ามีความชัดเจน เพราะจำนวนผู้ออกเสียงมากกว่าเมื่อครั้งที่เราเข้าเป็นสมาชิกอียูเสียอีก”

สำนักงานการเลือกตั้งแห่งชาติฮังการีแถลงผ่านเว็บไซต์ว่า จากผลการนับคะแนนที่ผ่านไปแล้ว 99.97% พบว่า ผู้ที่มาใช้สิทธิได้โหวต “โน” กันอย่างท่วมท้นถึง 98.3% อย่างไรก็ตาม ประชามติครั้งนี้มีประชาชนออกมาลงคะแนนเพียง 40% จากผู้มีสิทธิทั่วประเทศ 8.26 ล้านคน ต่ำกว่าเกณฑ์ 50% ซึ่งจะทำให้ประชามติมีผลในทางกฎหมาย

ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการคาดว่าจะประกาศภายในสัปดาห์หน้า

ฮังการีและประเทศแถบยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นรัฐคอมมิวนิสต์มาก่อนไม่เห็นด้วยกับระบบโควตาของอียู ซึ่งบังคับให้ทุกประเทศต้องเปิดพรมแดนรับผู้อพยพนับแสนๆ ที่หลั่งไหลเข้ามายังยุโรปตั้งแต่ปีที่แล้ว

นายกฯ ออร์บาน ได้สั่งปิดพรมแดนทางใต้ โดยนำรั้วลวดหนามมากั้น และส่งทหารตำรวจหลายพันนายไปป้องกันชายแดนอย่างเข้มงวดเพื่อสกัดการไหลเข้าของผู้อพยพ

เขาชี้ว่า การตัดสินใจรับผู้อพยพหรือไม่นั้นอยู่ในขอบเขตอธิปไตยของชาติ อีกทั้งชาวฮังการีส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ จึงไม่ต้องการรับชาวมุสลิมจำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย เพราะอาจเป็นภัยต่อความมั่นคง

ออร์บาน รั้งเก้าอี้นายกฯ ฮังการีมาตั้งแต่ปี 2010 และผลสำรวจพบว่าพรรคฟิเดสซ์ (Fidesz Party) ของเขาก็ยังมีคะแนนนิยมที่แข็งแกร่ง

หลังจากไปลงคะแนนที่กรุงบูดาเปสต์เมื่อวานนี้ (2) ออร์บาน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิจะมากหรือน้อยไม่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือเสียงโหวต “โน” ที่มีมากกว่า “เยส”

ออร์บาน ได้กล่าวในภายหลังว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชามติครั้งนี้มีผลในทางกฎหมาย

นักวิเคราะห์บางคนมองว่า ผลประชามติที่เป็นโมฆะจะบั่นทอนความพยายามของออร์บาน ในการกดดันให้อียูเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพ


กำลังโหลดความคิดเห็น