เอเอฟพี - รัสเซียประกาศถอนตัวจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) เป็นชาติล่าสุดเมื่อวานนี้ (16 พ.ย.) หลังจากที่หลายประเทศในแอฟริกาได้ตัดสัมพันธ์กับไอซีซีไปแล้วก่อนหน้า ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ออกมาวิงวอนให้นานาชาติสนับสนุนการทำงานของศาลสถิตยุติธรรมแห่งนี้ต่อไป
แม้มอสโกจะไม่เคยให้สัตยาบันต่อไอซีซี แต่การประกาศถอนรายชื่ออย่างเป็นทางการออกจากธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศในวันเปิดประชุมสามัญประจำปีของไอซีซี ก็ถือเป็นการตัดสินใจที่มีผลในเชิงสัญลักษณ์อย่างรุนแรง
“ศาลแห่งนี้ไม่ได้ปฏิบัติตามความคาดหวังของนานาชาติ และไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง” กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแถลง พร้อมระบุว่า ไอซีซีทำงานแบบ “เลือกข้าง และไร้ประสิทธิภาพ”
เมื่อวันจันทร์ (14) รัฐบาลแกมเบียก็ได้แจ้งให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รับทราบอย่างเป็นทางการเรื่องขอถอนตัวจากไอซีซี เช่นเดียวกับสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และบุรุนดี
“ได้โปรดอย่าจากไปเลย” ซิดิกี กาบา รัฐมนตรีเซเนกัลซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสมัชชารัฐสมาชิกผู้ก่อตั้งไอซีซี กล่าววิงวอนระหว่างการประชุมซึ่งจะกินเวลาระหว่างวันที่ 16-24 พ.ย.
“โลกเรากำลังถูกคุกคามโดยลัทธิสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย”
ไอซีซีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2002 และเป็นศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศแห่งแรกที่มีอำนาจตัดสินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม
อย่างไรก็ตาม ศาลแห่งนี้กลับถูกครหาว่ามีความลำเอียงต่อชาติแอฟริกา และไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรจากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งลงนามในธรรมนูญก่อตั้งไอซีซี แต่กลับไม่เคยให้สัตยาบัน
รัสเซียและจีนเคยใช้อำนาจวีโตไม่ให้ยูเอ็นยื่นฟ้องต่อไอซีซีเพื่อเอาผิดรัฐบาลซีเรียฐานก่ออาชญากรรมสงคราม
กาบายอมรับว่ามีบางประเทศที่เชื่อว่าไอซีซีใช้ 2 มาตรฐาน แต่ก็พยายามปลอบโยนว่า “เรารับฟังทุกฝ่าย”
เคนยา นามิเบีย และยูกันดา ก็กำลังพิจารณาถอนตัวออกจากธรรมนูญก่อตั้งไอซีซีเช่นกัน
องค์การนิรโทษกรรมสากลได้ออกมาวิจารณ์รัฐบาลหมีขาวว่า “พยายามบั่นทอนความก้าวหน้าของกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ”
ฟาตู เบนซูดา หัวหน้าอัยการของไอซีซี ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีในภายหลังว่า การถอนตัวของรัสเซียจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนคดีอาชญากรรมสงคราม ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่รัสเซียและจอร์เจียได้สู้รบเพื่อแย่งชิงสาธารณรัฐเซาท์ออสซีเชียเมื่อปี 2008
เบนซูดาระบุในรายงานประจำปีว่า มี “เหตุอันควรเชื่อ” ว่ากองทัพสหรัฐฯ กลุ่มตอลิบาน และกองกำลังอัฟกัน อาจเคยกระทำการที่เข้าข่าย “อาชญากรรมสงคราม” ในอัฟกานิสถานด้วยเช่นกัน ซึ่งหากมีการสืบสาวเรื่องนี้ต่อไปกองทัพสหรัฐฯ อาจต้องถูกไอซีซีสอบสวนเป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ทหารอเมริกันจะต้องไปยืนในคอกจำเลยของศาลกรุงเฮกนั้นมีน้อยมาก