เอเจนซีส์ - รัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ยื่นหนังสือขอถอนตัวจากการเป็นรัฐภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) อย่างเป็นทางการ โดยคณะทูตได้แจ้งให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รับทราบ พร้อมกล่าวหาศาลสถิตยุติธรรมแห่งนี้ว่ามีความลำเอียงต่อชาติแอฟริกา
ปีที่แล้ว สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ปฏิเสธที่จะจับกุมประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์ แห่งซูดาน ซึ่งเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพแอฟริกาที่นครโจฮันเนสเบิร์ก โดย บาชีร์ นั้นถูกไอซีซีออกหมายจับในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมสงคราม
บาชีร์ ยืนกรานปฏิเสธข้อหาใช้ความรุนแรงโหดร้ายต่อประชาชนในภูมิภาคดาร์ฟูร์ ทางตะวันตกของซูดาน
สื่อหลายสำนักอ้างว่าได้รับสำเนาจดหมายถอนตัว (Instrument of Withdrawal) ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศแอฟริกาใต้ได้ลงนามแล้ว
“สาธารณรัฐแอฟริกาใต้พบว่า พันธกรณีของเราในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันตินั้น บางครั้งก็ไม่สอดคล้องกับการตีความของศาลอาญาระหว่างประเทศ” เอกสารดังกล่าวระบุ
ทั้งรัฐบาลพริทอเรีย และยูเอ็นยังไม่ยืนยันรายงานที่ปรากฏในสื่อ
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ว่า สาธารณรัฐแอฟริกาใต้สามารถถอนตัวออกจากไอซีซี โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาได้หรือไม่
องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ ได้ออกมาประณามการตัดสินใจของกรุงพริทอเรีย
“การที่สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ขอถอนตัวออกจากศาลอาญาระหว่างประเทศ ชี้ให้เห็นถึงการไม่ใส่ใจความยุติธรรมของประเทศซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้นำในการเรียกร้องความรับผิดให้แก่เหยื่ออาชญากรรมต่างๆ” เดวา มัฟฮิงกา นักวิจัยอาวุโสด้านแอฟริกาของฮิวแมนไรต์วอตช์ ระบุ
“สาธารณรัฐแอฟริกาใต้และทั้งภูมิภาคไม่ควรถอยห่างออกไปเช่นนี้ และควรรักษามรดกของชาติซึ่งเคยยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่เป็นเหยื่อความรุนแรง”
รัฐบาลแอฟริกาใต้แถลงเตือนตั้งแต่ปีที่แล้วว่า พวกเขาอาจต้องตัดขาดกับไอซีซีในที่สุด
ข่าวการอำลาไอซีซีของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้มีขึ้นเพียง 1 สัปดาห์ หลังจากที่ประธานาธิบดีเจค็อบ ซูมา ได้เดินทางไปเยือนเคนยา ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่วิจารณ์การทำงานของไอซีซี นับตั้งแต่ประธานาธิบดีอูฮูรู เคนยัตตา ถูกศาลแห่งนี้ตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
เคนยัตตา ยืนกรานปฏิเสธข้อหา และสุดท้ายการไต่สวนก็ต้องล้มเลิกไป เนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอ
เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลบุรุนดีได้แสดงออกเป็นชาติแรกว่าต้องการถอนตัวจากไอซีซี ซึ่งศาลระบุว่าจะถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ในการต่อสู้เพื่อยุติการปกป้องผู้กระทำผิด (impunity)
ก่อนหน้านั้น สหภาพแอฟริกาได้เรียกร้องให้ชาติสมาชิกงดร่วมมือกับไอซีซี โดยอ้างว่าศาลระหว่างประเทศแห่งนี้มีความลำเอียงต่อทวีปแอฟริกา
ไอซีซีซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2002 ตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ มีรัฐภาคีรวมทั้งสิ้น 124 ชาติ และเป็นศาลสถิตยุติธรรมระหว่างประเทศแห่งแรกที่มีอำนาจตัดสินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม